วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

Small is Beautiful

Small is Beautiful : Economics as if People Mattered

ผู้แต่ง อี.เอฟ. ชูมักเคอร์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ประเภท เศรษฐศาสตร์ จิตวิญญาณ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์บริษัทบลอนด์และบริกกส์

แนะนำโดย ทวี คุ้มเมือง

"เศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับค่านิยมทางศีลธรรม หาใช่เศรษฐศาสตร์ไม่" อมตวาจาของมหาตมา คานธี
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย รวบรวมและแปล


วิถีชีวิตภายใต้ระบบฟอร์ดที่นักอุตสาหกรรมนิยมชาวอเมริกัน เฮนรี ฟอร์ด นำมาใช้ในโรงงานของเขา เพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตรถยนต์ให้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม โดยลดทอนทักษะฝีมือของมนุษย์ให้เหลือเพียงคอยจับไขควงขันน็อตตัวเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ดูจะให้ภาพสะท้อนชัดเจนถึงวิกฤตของความเป็นมนุษย์ ไม่แตกต่างจากระบบโรงงานในสหภาพโซเวียตตามช่วงเวลาใกล้เคียงกันสักเท่าไหร่

ทำไมทั้งสองฟากฝั่งอุดมการณ์การเมืองยุคสงครามเย็น อันดูเสมือนขัดแย้งแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม จึงมีมโนทัศน์หลักต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันยิ่งนัก เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งเน้นการถือครองทรัพย์สินอย่างเสรี ส่วนอีกฝ่ายเชื่อในวิธีกระจายกรรมสิทธิ์โดยรัฐ หากทั้งหมดล้วนตกอยู่ภายใต้กระแสของการทำให้เป็นสมัยใหม่ เป็นกรอบคิดตามกระบวนทัศน์ที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน อี.เอฟ. ชูมักเคอร์ เรียกว่า “อภิปรัชญาวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม” เพราะต่างก็มุ่งตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างเต็มพิกัด มองเห็นสรรพสิ่งด้วยทัศนะแบบกลไกแยกส่วนนั่นเอง

บทความชิ้นสำคัญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ของชูมักเคอร์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Asia: A Handbook คือ Buddhist Economics ซึ่งต่อมาถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกของเขาที่ถูกถ่ายทอดสู่ภาษาไทยโดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นำเสนอให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แปลก่อนตีพิมพ์เป็นจุลสารช่วงปี พ.ศ. 2517 ในชื่อ เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ต่อมาทางพุทธสถานสันติอโศกได้แปลอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยใช้ชื่อเรื่อง ความล้มเหลวของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เพราะไม่สนใจ "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ" แสดงให้เห็นถึงร่องรอยกระแสความคิดของปัญญาชนคนสำคัญว่าได้เริ่มต้นขึ้นอย่างไรในสังคมไทย

เดิมทีนั้นชูมักเคอร์มีโครงการจะพิมพ์หนังสือสองเล่มคือ A Guide for Perplexed และ Small is Beautiful โดยเนื้อหาของเล่มแรกจะเป็นในเชิงปรัชญาและศาสนธรรม ส่วนเล่มหลังนั้นเป็นการรวบรวมข้อเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ ครั้งแรกเขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ผู้คืนสู่เหย้า อันหมายถึงการหวนกลับสู่รากเหง้าภายใต้วิถีชีวิตแบบชุมชนดั้งเดิม แต่เมื่อขัดเกลาต้นฉบับจนเรียบร้อย ทางบริษัทบลอนด์และบริกกส์พิจารณาขอเปลี่ยนชื่อเป็น Small is Beautiful: A Study of Economics as if People Mattered ตีพิมพ์สู่ท้องตลาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

สำหรับในภาคภาษาไทย Small is Beautiful ได้รับการแปลครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๔ โดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์ ในชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ ส่วนผลงานชิ้นอื่น ๆ ของชูมักเคอร์ทยอยเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

แม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานกว่าสามสิบปี แต่ดูเหมือนแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ยังคงสามารถอธิบายปรากฏการณ์ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ หายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อม การแสวงหาพลังงานทดแทน ปัญหาความยากจนขาดแคลนในประเทศซีกโลกใต้ ตลอดถึงกติกาสำหรับแบ่งปันรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ฯลฯ ซึ่งข้อเสนอหรือแนวทางจัดการทั้งหมดนี้ ยังคงขาดความใส่ใจนำไปประยุกต์ปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและเอกชน นับแต่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะโดยภาคภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ตามที

ยิ่งเมื่อ Small is Beautiful ถูกนำมาแปลใหม่อีกครั้ง ณ ห้วงขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอย่างรอบด้านในยุคทักษิโณมิกส์ โดยมีชื่อใหม่อีกครั้งว่า เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน กษิร ชีพเป็นสุข แปล วีระ สมบูรณ์ บรรณาธิการแปล โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ หนังสือเล่มนี้คงต้องมีอะไรน่าสนใจมิใช่น้อยทีเดียว จึงต้องถือกำเนิดถึงสองครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันประมาณเสี้ยวศตวรรษ

เนื่องจากหนังสือ เล็กนั้นงาม เป็นการเก็บเอาข้อเขียนในต่างกรรมต่างวาระ อันเนื่องด้วยเศรษฐศาสตร์มารวมไว้ แล้วจัดเรียงลำดับใหม่ตามเนื้อหาสาระของแต่ละเรื่องเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจะถือเป็นงานเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายแล้วก็ตาม แต่เรากำลังต้องสนทนากับมนุษย์ผู้ทรงภูมิปัญญา ฉะนั้น ความเข้าใจพื้นฐานต่อหนังสือจึงสำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน

หากตัดคำนำสำนักพิมพ์ คำนิยม คำปรารมภ์ คำนำ ฯลฯ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสิ่งพิมพ์แล้ว ตัวบทถูกจัดแบ่งเป็นสี่ส่วน

ส่วนแรก โลกสมัยใหม่ประกอบด้วยห้าบทย่อย เริ่มจาก ปัญหาของการผลิต ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญ ได้แก่ ความประมาณตนอย่างผิดพลาดของมนุษย์ “มนุษย์สมัยใหม่มิได้ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่กลับเห็นว่า ตนเป็นพลังภายนอก ที่จะครอบครอง และพิชิตมัน” นี่ต้องถือเป็นการสวนกลับต่อทัศนะแบบวิทยาศาสตร์อย่างตรงประเด็น เพราะความรุนแรงนับมิถ้วนครั้งในรอบกว่าห้าร้อยปีมานี้ ส่วนใหญ่บังเกิดขึ้น เพราะความคิดต้องการครอบครองสรรพสิ่ง เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะมวลมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยผู้เข้มแข็งกว่าย่อมได้เปรียบผู้อ่อนแอ ท่ามกลางสงครามแย่งชิงทรัพยากร “มนุษย์ที่ถูกผลักดันด้วยความโลภหรือความอิจฉานั้น จะสูญเสียอำนาจในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นจริง ๆ“ คือ คำอธิบายต่อเหตุแห่งความรุนแรงอย่างชัดแจ้งในบทที่สอง สันติภาพและความยั่งยืน

ส่วนบทที่สาม บทบาทของเศรษฐศาสตร์ แสดงให้เห็นทั้งคุณและโทษของสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวิธีแบบอภิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีแนวโน้มยึดอำนาจจากศาสตร์สาขาอื่น แต่กลับละเลยตรวจสอบปัญหาภายในตัวมันเอง เช่น ผลเสียจากอุตสาหกรรม อัตราประชากรกับเมือง การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า โดยประเด็นเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายลงได้ เมื่อถึงบทที่สี่อันโด่งดัง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ผู้เขียนชี้ชัดลงไป ถึงปัญหาสุดขั้วระหว่างการเติบโตอย่างทันสมัยกับการล้าหลังหยุดนิ่ง แต่แนวคิดทางพุทธศาสนาได้เสนอทางสายกลางเอาไว้แล้ว โดยมีการงานอันชอบเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ เพื่อใช้ยึดโยงคุณค่าทั้งวัตถุกับจิตใจอย่างประสานสมดุล รอเพียงปัจเจกตลอดถึงสังคมพร้อมออกแสวงหา “สัมมาอาชีวะ” กันหรือยังเท่านั้น

บทที่ห้า คำถามเรื่องขนาด อธิบายถึงเหตุปัจจัย ที่ทำให้มนุษย์ต้องการโครงสร้างสำหรับชีวิตแตกต่างกัน ตามความเหมาะสม แต่ความเชื่อ “ใหญ่ยิ่งเยี่ยม” โดยเฉพาะรูปธรรมแบบอภิมหานคร กลับยิ่งลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ให้จมดิ่ง สู่ห้วงแห่งความหวาดกลัวเกลียดชังต่อชีวิตอย่างรวดเร็วเพียงใด “ยังมี ‘สัญญาณแห่งยุคสมัย’ ไม่เพียงพออีกหรือ ที่จะชี้ให้เห็นว่าการเริ่มต้นใหม่เป็นสิ่งจำเป็น ?”

ส่วนที่สอง ทรัพยากร เริ่มจากบทที่หก ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด – การศึกษา ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ จี.เอ็น.เอ็ม. ไทเรลล์ เรียกว่าปัญหา ทางสองแพร่งและทางบรรจบ ซึ่งมนุษย์มิอาจแก้ไขด้วยความคิดชี้นำหกประการ ได้แก่ ๑. ทฤษฎีวิวัฒนาการ ๒. แนวคิดว่าด้วยการแข่งขันและผู้เหมาะสมจึงอยู่รอด ๓. ประวัติศาสตร์ทั้งหมดคือการต่อสู้ทางชนชั้น ๔. จิตวิเคราะห์ปมทางเพศของ ซิกมัน ฟรอยด์ ๕. แนวทางปฏิบัตินิยม ที่ปฏิเสธความจริงอื่นอันมิอาจจับต้องได้ ๖. ปฏิฐานนิยม ซึ่งอาศัยเฉพาะวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์สำหรับอธิบายสรรพสิ่งเท่านั้น ความคิดหกประการนี้กลายเป็นการศึกษาหลักของผู้คนมาตลอดหลายศตวรรษ ฉะนั้น มันจึงปลูกฝังทัศนะแปลกแยกขัดแย้งทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ อย่างเงียบเชียบแต่น่าหวาดหวั่น

บทที่เจ็ด การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมฺ เนื่องเพราะแผ่นดินเป็นสิ่งรองรับมนุษย์มาช้านาน แต่กลับถูกละเลยกระทั่งทำลายอย่างยิ่ง การดูแลเยียวยาผืนธรณีให้ตื่นฟื้นขึ้นใหม่คือ การประกอบกิจอันพึงเคารพรักษาแผ่นดิน ไม่ว่าจะทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ฯลฯ เพราะถ้ายิ่งเพิ่มกำไรทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ ปัญหามลภาวะก็ทบทวีคูณตามไปเท่านั้น

สามบทท้ายคือ ทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรม, พลังงานนิวเคลียร์ – ทางรอดหรือทางวอด, เทคโนโลยีที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์ อิงอาศัยข้อมูลจากรายงาน ขีดจำกัดต่อการเจริญเติบโต ของโครงการคลับแห่งโรม ซึ่งเปิดเผยถึงการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยกับตัวเลขลดลงทางทรัพยากร แต่วิกฤตครั้งนี้ กลับยิ่งทำให้มนุษย์มอบความไว้วางใจต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะพลังงานปรมาณ ูมากขึ้นไปอีก หาได้ตระหนักถึงหายนะภัยอันไม่อาจควบคุม ภายใต้หน้ากากแห่งความสะดวกสบายประจำวัน แทนที่จะ “ไปสู่ขนาดที่แท้จริงของมนุษย์ มนุษย์นั้นเล็ก และดังนั้น เล็กจึงงาม” ก่อนจะสายเกินแก้ในอนาคตอันใกล้

ส่วนที่สาม โลกที่สาม ผู้เขียนขยายขอบเขตของปัญหา และทางออก ไปสู่ดินแดนซีกโลกใต้ เพราะเขาเห็นว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญยิ่ง ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโลกให้คืนสู่สมดุลอีกครั้ง ดังนั้นบททั้งสี่คือ การพัฒนา, ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ที่เรียกร้องให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับกลาง, หมู่บ้านสองล้านแห่ง, ปัญหาการว่างงานในอินเดีย ล้วนเน้นหัวใจหลักของพลังเชิงสร้างสรรค์จากสามัญชน ผ่านเทคโนโลยีระดับกลาง หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้วยมนุษย์ควรสร้างความภาคภูมิอย่างมีอิสระ จากมือทั้งสองข้างของตนนั่นเอง
การจัดองค์กรและการถือครอง เป็นส่วนสุดท้ายที่เข้าใจไม่ง่ายนัก แต่กลับเป็นประเด็นร่วมสมัยอย่างยิ่ง เพราะแม้ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะเถลิงอำนาจสูงสุดพร้อมกระแสโลกาภิวัตน์ ภายหลังการล่มสลายของบรรดาประเทศสังคมนิยมแล้วก็ตาม แต่ปัญหาความยากจน อันเกิดแต่การกระจุกตัวของทุนและกำไรในมือคนแค่เพียงบางกลุ่ม กลับยิ่งขยายเส้นแบ่งแตกต่างระหว่างผู้คนให้ถ่างกว้างมากขึ้น สามบทแรก เครื่องจักรสำหรับทำนายอนาคต?, สู่ทฤษฎีการจัดองค์กรขนาดใหญ่, สังคมนิยม อาจจะดูไม่มีอะไรใหม่นักสำหรับผู้อ่านยุคปัจจุบัน แต่ต้องถือเป็นคำคาดการณ์ ที่มิคลาดเคลื่อนไปจากภาวะซึ่งเราต้องประสบกันอยู่ในปัจจุบันมิใช่หรือ

สองบทสุดท้าย การถือกรรมสิทธิ์, แบบแผนใหม่ของการถือครองกรรมสิทธิ์ น่าจะเข้ากันได้กับปัญหาเรื่องสิทธิบัตร หรือแหล่งกำเนิดสินค้า อันเป็นผลจากข้อเสนอระดับโลกของเขตการค้าเสรี ที่ปัดกวาดเอาคนธรรมดา ให้ตกอยู่ภายใต้คลื่นเศรษฐกิจการลงทุนอย่างยากหลีกพ้น “แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบันคือ การทบทวนเป้าหมาย ซึ่งวิถีทางเหล่านี้มีไว้เพื่อบรรลุ” อย่างรู้เท่าทันต่อตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ที่ขาดความพอดีเหล่านี้

คงต้องถือเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ที่หนังสือว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ ที่มักถูกเข้าใจว่าอ่านยากจะกลายเป็นหนังสือขายดีขึ้นเสียได้ ทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ไม่นับถึงชื่อเสียงเกียรติภูมิประดามีซึ่งติดตามมาสู่ตัวผู้เขียนอย่างล้นหลาม

หลังจากมีการจัดพิมพ์จุลสาร เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ทัศนะของชูมักเคอร์ ก่อให้เกิดกระแสตอบรับจากปัญญาชนฝ่ายพุทธอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมไทยขณะนั้น เริ่มตระหนักถึงผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่หลงลืมพื้นฐานชุมชนดั้งเดิม ท้องถิ่นถูกทอดทิ้งละเลย ความเจริญโดนผูกขาดไว้เฉพาะเมืองหลวง จนเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”

ส่วนงานเขียนที่เชื่อมโยงเศรษฐศาสตร์กับพุทธศาสนาโดยคนไทยเล่มแรก ได้แก่ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจัดพิมพ์ ตามด้วยงานวิจัยขนาดใหญ่ของ อภิชัย พันธเสน พุทธเศรษฐศาสตร์ : วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ ด้วยทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) สำนักพิมพ์อมรินทร์จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งต่อมาก็มีบทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ ตามออกมาอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ความคิดเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก่อให้เกิดกระแสการนำเอาพุทธศาสนาไปประยุกต์ เปรียบเทียบกับศาสตร์สมัยใหม่ต่าง ๆ โดยใช้คำว่า “เชิง/แนว” เชื่อมความหมายเข้าหากัน เช่น รัฐศาสตร์แนวพุทธ นิติศาสตร์แนวพุทธ แพทยศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางความคิดในแวดวงปัญญาชนไทย หลังเริ่มเห็นโทษจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความเสื่อมทรุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นลำดับมา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธจึงเปรียบดั่งทางเลือก สู่การพัฒนาแบบยั่งยืนสำหรับสังคมไทย





แอร์นสต์ ฟรีตดริค ชูมักเคอร์ เขาเกิดในกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับทุนเพื่อศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ณ นิวคอลเลจ ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเขาตัดสินใจกลับไปเยอรมนี ซึ่งกำลังถูกปกครองโดยพรรคนาซี แต่เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลฮิตเลอร์จึงอพยพครอบครัวไปอยู่อังกฤษ ก่อนตกเป็นเชลยศึกในระหว่างสงครามที่นั่น ระหว่างปี พ.ศ. 2489–93 เขาได้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับคณะกรรมาธิการในเขตควบคุมของอังกฤษที่เยอรมนี แล้วย้ายมาปักหลักที่อังกฤษเป็นการถาวร ในฐานะนักกิจกรรม เขาเข้าไปมีส่วนสำคัญในหลายองค์กร เช่น สมาคมดิน บริษัทสินร่วม สก็อต เบเดอร์ กองทุนเพื่อการพัฒนาแอฟริกา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีระดับกลาง

วีระ สมบูรณ์ เคยเขียนเอาไว้ในคำปรารภเมื่อเรียบเรียง Alias Papa: A Life of Fritz Schumacher โดย บาร์บารา วู้ด เป็นภาษาไทยในชื่อ ชีวิตและความคิด อี.เอฟ.ชูมักเคอร์ สำนักพิมพ์เทียนวรรณจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า “หากยกเว้นงานนิพนธ์ของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ลงทุนและผู้จัดการแปลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ชูมักเคอร์ คงจะเป็นนักคิดต่างชาติ ต่างภาษาคนเดียวในรอบศตวรรษนี้ที่มีผู้แปลงานหลัก ๆ ไว้เป็นภาคไทยเกือบครบครัน”

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถือเป็นเวลาที่หนังสือของชูมักเคอร์ถูกแปลออกมาเกือบครบชุด นอกจาก เล็กนั้นงาม ในชื่อเดิม จิ๋วแต่แจ๋ว แล้วยังมี แผนที่คนทุกข์ (A Guide for Perplexed) วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล ตามด้วย งาน กับคุณค่าของชีวิต : ข้อคิดท้าทายเพื่อการสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ขึ้นใหม่ (Good Work: When Excellence and Ethics Meet ) ภาวนา ยมกนิษฐ์ แปล รวมถึงงานสรุปแนวคิดชูมักเคอร์อย่างย่นย่อของ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล มนุษย์คือชีวิตเล็ก ๆ ที่งดงาม : ความคิดทางจริยศาสตร์ของชูเมกเกอร์ สำนักพิมพ์เทียนวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖

ชูมักเคอร์เสียชีวิตช่วงสายของวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ บนรถไฟ ขณะกำลังจะเดินทางไปปาฐกถาที่สวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สาทิส กุมาร บรรณาธิการหนังสือ Resurgence ได้ร่วมมือกับศิลปิน จอห์น เลน ก่อตั้งวิทยาลัยชูมักเคอร์ขึ้นที่เมืองทอตเนส มณฑลเดวอน อันเป็นชุมชนการศึกษาทางเลือก เปิดอบรมหลักสูตรในเชิงนิเวศน์และจิตวิญญาณ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักคิดผู้ “ยิ่งน้อย” แห่งศตวรรษที่ ๒๐

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home