วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

Pandora’s hope

Pandora’s hope : Essays on the reality of science studies

ผู้แต่ง บรูโน ลาตูร์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ประเภท วิทยาศาสตร์ศึกษา สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

แนะนำโดย ปกรณ์ เลิสเสถียรชัย

คำว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษา” ฟังดูเป็นคำใหม่ในวงวิชาการไทย รวมทั้งในสังคมไทยด้วย ในโลกวิชาการตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป คำนี้มีความเป็นมามากว่าสองทศวรรษ ในฐานะที่เป็นสาขาวิชาหนึ่ง ที่คร่อมหลายสาขาวิชา คำแปลเป็นไทยที่ผู้ปริทัศน์มอบให้ว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษา” นั้น อาจจะชวนให้ไขว้เขวไปได้ว่า นี่คือสาขาวิชา ที่ข้องเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นคือความเข้าใจผิดจากชื่อที่คลุมเครือ และในขณะเดียวกัน ขอบเขตของสาขานี้ก็ค่อนข้างคลุมเครือเสียเองด้วยซ้ำไป กระนั้นโดยความจริงแล้ว นี่คือสาขาวิชาที่ศึกษาการเกิดขึ้นของ “ความจริง” ทางวิทยาศาสตร์ และมอบ “ความจริง” ให้กับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ผู้ปริทัศน์ใคร่ขอย้อนความคร่าวๆถึงความเป็นมาเป็นไปของสาขาวิชานี้ “วิทยาศาสตร์ศึกษา” เป็นสาขาวิชาที่ต่อยอดแตกหน่อมาจากสังคมวิทยา ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมวิทยาของความรู้

เนื้อหาของสังคมวิทยาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น กล่าวถึงบริบททางสังคมที่ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ของโรเบิร์ต เค เมอร์ทัน ในกรณีที่ว่า ความคิดความเชื่อของโปรแตสแตนท์ ไปเสริมพลังการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หรือการสืบค้นของนอร์เบิร์ต เอลีอาส ว่าการรวมกลุ่ม และลำดับชั้น ในชุมชนนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร

ส่วนเนื้อหาของสังคมวิทยาของความรู้นั้นจะเน้นไปที่การไหลเวียนของความรู้ในสังคมว่าเป็นไปอย่างไร สร้างอำนาจและเอื้อประโยชน์ต่อใคร เช่น ข้อถกเถียงทั่วไปของวงการมานุษยวิทยา ว่าความรู้ทางมานุษยวิทยานั้น เอื้อให้โลกตะวันตกสามารถล่าอาณานิคมได้ง่ายดายขึ้นหรือไม่อย่างไร

โดยสรุป กล่าวได้ว่า ทั้งสองแนวทางของสังคมวิทยาที่กล่าวมานั้น เน้นไปที่การสร้างคำอธิบายความสัมพันธ์ ของบริบททางสังคม กับตัวบททางวิทยาศาสตร์ ข้อสังเกตสำคัญ ที่ผู้ปริทัศน์ต้องการเน้นย้ำให้ชัด คือ แนวทางสังคมวิทยาทั้งสองประเภท ยังมีหน่วยการวิเคราะห์ที่เป็นทวิภาค คือ แบ่งแยกโลกความเป็นจริงออกเป็นสองขั้วได้แก่ สังคม และ วิทยาศาสตร์ อย่างชัดเจน ข้อสังเกตนี้ตอกย้ำความคิดแบ่งขั้วสองวัฒนธรรมของซี พี สโนว์ อย่างชัดแจ้ง


กลับมาที่ตัวผู้เขียนคือ ลาตูร์ ด้วยความที่เขาเป็นนักคิดสายฝรั่งเศส และเพาะบ่มวิธีเขียนงานแบบฝรั่งเศสมานาน เช่นเดียวกับต้นตระกูลของเขาที่บ่มไวน์ขายมาหลายรุ่นนัก เขาจึงเขียน Pandora’ Hope ด้วยจริตจก้านแบบอ้อมค้อม ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆ และบัญญัติศัพท์ใหม่ๆเพื่อทะลวงสมองคนอ่านให้เกิดจินตนาการใหม่ๆ
เขาเป็นคนแรกๆที่ชี้ให้เห็นว่า การคิดแบบแยกขั้วระหว่างสังคมและวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างคำอธิบาย เรื่องการทำงานของวิทยาศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การแบ่งแยกขั้วนั้นเป็นประดิษฐกรรมของความคิดทันสมัย ที่ล่อลวงให้เราไปถกเถียงกันแต่ในระดับอุดมการณ์ ผลที่ตามมาคือขาดความเข้าใจในระดับปฎิบัติการ การถกเถียงเรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์กลายเป็นแค่การออกกำลังกายทางปัญญา แต่ขาดสมรรถภาพที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเนื้อวิทยาศาสตร์ในโลกความเป็นจริง

ดังนั้น เพื่อปิดจุดอ่อนของสังคมวิทยาสองแนวทางดังที่กล่าวมา “วิทยาศาสตร์ศึกษา” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ลาตูร์และเพื่อนผอง ดังเช่น ไมเคิล คัลลอน จอหน์ ลอว์ และนักคิดคนอื่นๆ อีกมากเห็นว่า พื้นที่ที่การศึกษาวิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึงก็คือ วิทยาศาสตร์ในขณะก่อรูปก่อร่าง วิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เป็นตัวเป็นตนชัดพอจะให้ยัดใส่กล่อง แล้วติดตราว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อไปดูปฏิสัมพันธ์กับอีกกล่องหนึ่งที่เรียกว่าสังคม และหากมันถูกยัดใส่กล่องไปแล้ว ก็ให้ศึกษามันโดยเปิดกล่องแล้วค่อยๆลอกเปลือกออกเสีย หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเรากำลังเปิดกล่องของแพนดอรา

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ตามหลักการเช่นนี้ จุดสนใจจึงเป็นห้องทดลอง เพื่อดูความสัมพันธ์ที่ก่อรูปขึ้นในห้องทดลอง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับสิ่งของ หรือแม้แต่สิ่งของกับสิ่งของ หากกล่าวด้วยถ้อยคำเชิงวิชาการนี่คือ การทำชาติพันธุ์วรรณาประเภทหนึ่ง เพียงแต่ว่า ต่างไปจากแต่ก่อน ที่โลกตะวันตกมักจะทำชาติพันธุ์วรรณาของสังคมดั้งเดิม โดยกลับกัน “วิทยาศาสตร์ศึกษา” คือการทำชาติพันธุ์วรรณาของนักวิทยาศาสตร์ กรณีนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างอะไรจากชนเผ่าชนเผ่าหนึ่งนั่นเอง

ดังชื่อรองของหนังสือคือ Essays on the reality of science studies เขาได้รวมบทความที่เขาได้เคยตีพิมพ์ในที่ต่างๆ แล้วนำมาร้อยเรียงกันใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษานั้นศึกษาอะไร?” และที่สำคัญกว่าคือ “วิทยาศาสตร์ในกรอบแว่นวิทยาศาสตร์ศึกษานั้นเป็นเช่นไร?” หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเสนอความเป็นจริงของ “วิทยาศาสตร์ศึกษา” เท่านั้น หากยังเสนอความเป็นจริงของวิทยาศาสตร์ด้วย หากว่ามันมีอยู่จริง


ในช่วงแรกเป็นการเสนอภาพรวมของหนังสือทั้งเล่ม ด้วยการพยายามตอบคำถาม คำถามคือ “คุณเชื่อในความจริงหรือไม่?” การตอบของเขาเป็นไปในแบบฉบับของนักคิดฝรั่งเศส คือ ไม่มีการตอบใช่หรือไม่ใช่ แต่เป็นไปในรูปแบบของการตอบโดยตั้งคำถามใหม่ย้อนใส่คำถามเดิม เช่น คำถามนี้เกิดขึ้นมากจากบริบทอะไร? บริบทที่นักวิทยาศาสตร์เกรงกลัวการรุกคืบของประชาชนด้วยการเกิดขึ้นของกฎหมู่หรือ? ความเป็นจริงตั้งอยู่บนรากฐานของการแบ่งระหว่างการมีผู้รู้กับโลกที่ถูกรู้ใช่หรือไม่? หรือว่าการแบ่งแบบนี้จะเป็นประดิษฐกรรมที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง? ฯลฯ

คำถามเหล่านี้จะถูกหล่อเลี้ยงด้วยคำถามต่อเนื่องจากคำถามเหล่านี้ และตอบด้วยการตอบแบบให้ย้อนคิดไปตลอดทั้งเล่ม การตอบของเขาเน้นให้เราสลัดหลุดความเชื่อแบบดั้งเดิมที่เรามีต่อวิทยาศาสตร์

จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอว่า การแยกขั้วทวิภาวะระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เป็นความเชื่อที่ผิด เขากล่าวว่า นอกเหนือจากดินในป่าอเมซอนที่เป็นจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังได้สร้างความเป็นจริงอีกแบบหนึ่งอันเช่น การจำแนกประเภทของดิน โดยนำดินไปจำแนกตามระบบอ้างอิงที่สร้างขึ้นมา ระบบอ้างอิงที่สร้างขึ้นมานี้ได้หมุนเวียนไปในหมู่ผู้ศึกษาดิน และกลายเป็นความจริงเรื่องดินขึ้นมา ดินจริงไม่ใช่ความเป็นจริงที่อยู่กับพื้นพิภพ แต่เป็นความเป็นจริงที่ฝังอยู่ในระบบอ้างอิงด้วย การแยกขาดชัดเจนระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง ที่ต่างจากการปฏิบัติจริง

ลาตูร์ให้ภาพวิทยาศาสตร์ขณะที่กำลังถูกสร้าง และย้ำว่า วิทยาศาสตร์ในระยะนี้มีการพัวพันกันอย่างชัดเจน ระหว่างสังคมกับวิทยาศาสตร์ ทั้งคู่ไม่ได้แบ่งขั้วแยกกันอยู่ วิทยาศาสตร์เกิดจาก และทำให้ตัวกระทำในสังคมเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ ให้พ้องกันได้ และนอกเหนือจากเรื่องของผลประโยชน์ การสร้างวิทยาศาสตร์ยังเป็นการแสวงหาพันธมิตร ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และข้อเท็จจริง เพื่อยึดกุมพื้นที่ของการนำเสนอต่อสาธารณชน กล่าวอย่างง่ายและรวบรัดตัดความคือ วิทยาศาสตร์กับสังคมพัวพันกันอย่างลึกซึ้ง อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน มากกว่าจะอธิบายว่ามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

เขาเล่าเรื่อง “เหตุการณ์” เรื่องจุลชีพที่หลุยส์ ปาสเตอร์ เข้าไปพัวพัน การใช้คำว่า “เหตุการณ์” ในที่นี้เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ค้นพบ” ที่ให้ภาพเดิมของการแบ่งผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ และเน้นความเป็นวีรบุรุษของผู้รู้อย่างล้นเกิน ลาตูร์อธิบายเรื่องของปาสเตอร์กับจุลชีพใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านก้าวพ้นการแบ่งขั้วสองอย่างคือ อย่างแรก ระหว่างนิรมิตนิยมและสัจจนิยม อย่างที่สองคือ มนุษย์ผู้กระทำและวัตถุสิ่งของ

ในการแบ่งขั้วอย่างแรก ฝ่ายนิรมิตนิยมนั้นเชื่อว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การสะท้อนความจริง ซึ่งตรงข้ามกับสัจจนิยมที่เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์สะท้อนความจริง

ส่วนการแบ่งขั้วอย่างที่สอง เรื่องเล่าหลักของผู้ศรัทธาวิทยาศาสตร์คือ สิ่งของทั้งหมดล้วนวางอยู่อย่างเชื่องๆ รอให้นักวิทยาศาสตร์หยิบใช้อย่างสะดวกดาย สิ่งที่ปาสเตอร์ทำคือการนิรมิตสิ่งที่มีอยู่จริงทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มันแสดงตัวเป็นอิสระจากตัวเขา ให้เขาได้สะท้อนความจริง ทั้งนี้ “เหตุการณ์” สร้างและสะท้อนความจริงนี้ไม่ใช่เป็นไปโดยอิสระจากมนุษย์ผู้กระทำ แต่เป็นการต่อรอง การถ่ายทอด และการพัวพันระหว่างมนุษย์ผู้กระทำและวัตถุสิ่งของ

ช่วงกลางของหนังสือ เขาตอบคำถามยอดนิยมตลอดกาลว่า “มนุษย์สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่?” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหวาดวิตกว่าคุณค่าของมนุษย์จะสูญเสียเพราะเครื่องจักร ลาตูร์ให้ความเห็นว่า ทัศนะนี้เกิดจากการแบ่งขั้วระหว่างสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์อย่างแยกขาดออกจากกัน ทั้งที่สิ่งเกิดขึ้นในวิถีประวัติศาสตร์คือ มนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์หลอมรวมกันอย่างซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งไม่ใช่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา สถาบันทางสังคม หรือเครื่องจักร เป็นตัวเสริมความสามารถใหม่ๆให้กับมนุษย์และเพิ่มความซับซ้อนของสังคม ในทางกลับกันมนุษย์ก็สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆทางวิวัฒนาการของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ที่จะกระทำต่างๆนานากับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้อย่างอิสระ การกระทำต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ถูกควบคุมแนวทางที่เป็นไปได้โดยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย สิ่งนี้คือการเสนอให้มองสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์อย่างเป็นสมุหภาพ ไม่ใช่จับแยกขั้วแล้วพิจารณาความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี

เขาพาเราอ่านงานเขียนของพลาโต ที่ว่าด้วยการปะทางคารม/ความจริงระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์เสียใหม่ โดยไม่ยอมอ่านตามโครงเรื่องเดิมที่ถูกวางไว้ เพื่อยกย่องโสคราติสในฐานะนักปรัชญา ผู้ยอมตายเพื่ออยู่ข้างความจริง แต่ในทางตรงกันข้าม การอ่านของเขาเป็นไปเพื่อชี้ให้เห็นว่า การถกเถียงอันทรงเกียรติระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดูถูกเหล่าประชา ความตายของโสคราติสโดยการกดดันจากเหล่าประชาจึงถือว่าสมควรอย่างยิ่ง ทั้งโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์เห็นพ้องกันว่า หากพวกเราไร้ผู้ชี้นำ ภาวะที่ตามมาคือความยุ่งเหยิงจากกฎหมู่มากมายของประชา ประชาต้องการการชี้นำ แต่ว่าจะจากใครเล่าระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์? ในขณะที่โซฟิสต์พยายามชี้นำคนด้วยโวหาร แผนการของโสคราติสแยบยลกว่าและฉลาดกว่า คือ ปิดปากประชา และบอกให้ประชารู้ว่า มีความจริงที่เป็นอุดมคติเที่ยงแท้กว่ากฎหมู่ ความจริงนี้เขาสามารถเข้าถึง แบบเดียวกับการเข้าถึงความจริงทางเรขาคณิต โสคราตีสทำให้การอ้างความถูกต้องมีอำนาจเหนือกว่าพลังทั้งปวง

ผู้ปริทัศน์คาดว่า ลาตูร์ต้องการกล่าวถึงสถานการณ์ของความรู้ในปัจจุบัน ที่ไม่ต่างจากสมัยกรีกโบราณ สถานการณ์ความรู้ในปัจจุบันคือ ความรู้ตกอยู่ในมื่อผู้ชำนาญการไม่กี่ท่าน เพื่อใช้อ้างความถูกต้องของการกระทำต่อหน้าสาธารณชน อภิโครงการทั้งหลายแหล่ ย่อมต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิโต้เถียงกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ มิใช่หรือ? และความเห็นของประชาชนต่ออภิโครงการ ก็ถูกลดค่าเป็นความวิตกกังวลไร้เหตผลอยู่เสมอมิใช่หรือ? แน่นอนว่าการสร้างอภิโครงการมีส่วนของการเมืองด้วยเสมอ นี่คงเป็นการเมืองที่ติดพ่วงมากับวิทยาศาสตร์

สาระนี้ได้ต่อเนื่องไปยังบทความช่วงท้าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความคิดทันสมัยทรงพลังด้วยสร้างเส้นแบ่งแยกชัดเจน ระหว่างความรู้กับความเชื่อ สร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างทันสมัยและก่อนทันสมัย พวกทันสมัยมองว่าการทันสมัยต้องไร้ความเชื่อ และพวกล้าหลังคือพวกยึดติดความเชื่อ หากยกตัวอย่างไทยๆ คือ พวกล้าหลังคือพวกที่เชื่อว่า “ปล่อยปลาหมอแล้วจะทำให้พ้นความเจ็บป่วย ไม่ต้องไปหาหมอ” แต่พวกทันสมัยคือพวกที่เชื่อผลวิจัยทางการแพทย์ว่า “หัวเราะทุกวันแล้วสุขภาพจะดีขึ้น” กระนั้นผลวิจัยทางการแพทย์เช่นนี้ปลอดจากความเชื่อเลยหรือ?

ข้อเสนอของลาตูร์ก็คือ การสร้างเส้นแบ่งของพวกทันสมัยเป็นเรื่องที่ผิด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ถูกไม่ควรที่เราจะโผเข้าหากระแสตอกกลับทันสมัย และการตอกกลับว่าวิทยาศาสตร์เป็นแค่ความเชื่อ หรือภาพลวงของพวกหลังทันสมัย ก็เป็นวิธีที่สุดโต่งเกินไป วิธีนี้มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง เขาเสนอให้เราเป็นอทันสมัย ด้วยการสลัดหลุดจากการมองแยกขั้วหลายรูปแบบ หลุดจากการมองเน้นตัวกระทำมนุษย์แบบมนุษยนิยม มาสู่การพิจารณา “ความเป็นจริง” ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งของด้วย

บทสรุปสุดท้าย เป็นการรวบรวมเนื้อความจากบทก่อนหน้าทั้งหมด มาร้อยเรียงอย่างรวบรัด เน้นที่การหลุดพ้นจากการมองแบบแยกขั้ว และเชื้อชวนให้หันสู่การมองให้เห็นสมุหภาพ ทั้งให้ความเห็นว่า ข้อถกเถียงในความขัดแย้ง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมจำนวนมาก เป็นเรื่องของอภิปรัชญาที่ขาดการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ของ “เหตุการณ์” ของทั้งหมดโดยรวม

ดังนั้น จะมีประโยชน์อันใดเล่าที่จะตอบคำถามว่า “คุณเชื่อในความจริงหรือไม่?” โดยไม่สามารถเกิดความเข้าใจจนเปลี่ยนแปลงแบบทั้งแผงได้เลย




บรูโน ลาตูร์ นักคิดและนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแคว้นเบอร์กันดี แหล่งผลิตไวน์ชั้นดีของโลกในฝรั่งเศส เขาเติบโตในครอบครัวที่ผลิตไวน์ เส้นทางชีวิตช่วงแรกเป็นนักปรัชญา ก่อนที่จะหันเหมาเป็นนักมานุษยวิทยา

งานของเขาประกอบด้วยความหลากหลาย นอกจากปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยาของวิทยาศาสตร์ เขายังสนใจวิทยาศาสตร์ศึกษา ซึ่งว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์และการจัดการงานวิจัย ทั้งยังมุ่งเน้นวิเคราะห์กระบวนการวิทยาศาสตร์

ลาตูร์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ในฝรั่งเศสนานกว่า ๒๐ ปี และยังคงสอนอยู่ที่วิทยาลัยในปารีส นอกจากน ี้ยังรับตำแหน่งภัณฑารักษ์ ให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะและสื่อเทคโนโลยี เมืองคาร์ลสรูห์ เยอรมนี

เขาผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ และได้รับการยอมรับค่อนข้างกว้างขวาง เล่มที่โดดเด่นก็มี

- Laboratory Life: the Social Construction of Scientific Facts (1979)
- Science In Action: How to Follow Scientists and Engineers Through Society (1987)
- We Have Never Been Modern (1992)
- Politics of Nature: How to Bring the Sciences into Democracy (1999)
- Pandora's hope: essays on the reality of science studies (2004)


ปัจจุบัน เขาเป็นนักคิดคนสำคัญที่เสนอทฤษฎีเครือข่ายนักปฏิบัติการ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาก็ว่าด้วยเรื่องนี้ Reassembling the Social: An Introduction to Actor-Network-Theory (2005)

หนังสือของเขาส่วนใหญ่ ได้รับการตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับการแปลถ่ายทอดออกไปหลายภาษา น่าเสียดายที่ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทยเลย

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home