วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

Emergence

Emergence : The Connected Lives of Ants, Brains, Cities and Software ผู้แต่ง สตีเวน จอห์นสัน
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๔
ประเภท วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา เทคโนโลยี
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์สคริบเนอร์

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล


ความเป็นองค์รวมที่เป็นมากกว่าผลรวมของทุกส่วน ดูเหมือนจะเห็นได้อย่างชัดเจน จากพฤติกรรมของราเมือก – สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่มีความคล้ายคลึงกับอมีบา

เมื่อนำราเมือกไปไว้ในพื้นที่เขาวงกต และนำอาหารไปวางไว้ที่ปลายทางออกทั้งสองด้าน ราเมือกสามารถยืดตัวไปหาแหล่งอาหารทั้งสองจุดได้ และ – โดยใช้เส้นทางที่สั้นที่สุด

สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่ปราศจากซึ่งอวัยวะ ไร้ซึ่งสมอง สามารถแก้โจทย์ปัญหานี้ได้อย่างไร ยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนนัก เดิมเชื่อว่า มีเซลล์หัวหน้า ที่คอยบัญชาเซลล์ลูกน้องให้ทำงาน แต่เมื่อไม่เคยมีใครพบเซลล์ผู้นำนั้นเลย คำอธิบายในแง่ของการจัดการตนเองจึงได้เริ่มเผยตัว และการรวมตัวของส่วนย่อย ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของลักษณะใหม่ ก็กลายเป็นที่มาของทฤษฎีผุดบังเกิด ซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าที่เปลี่ยนแปลงความเข้าใจด้านต่าง ๆ

Emergence: The Connected Lives of Ants, Brains, Cities and Software เป็นหนังสือเล่มที่สองของสตีเวน จอห์นสัน และติดอันดับหนังสือขายดีไม่แพ้เล่มแรก นักเขียนผู้นี้สามารถย่อยและผูกโยงเรื่องราวทั้งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ส่วนบุคคล เข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน และเพื่อนำผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจปรากฎการณ์รอบตัว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีผุดบังเกิด หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยคำอธิบายจากข้อมูลเอกสารจำนวนมาก บทสัมภาษณ์อันหลากหลาย ตลอดจนบันทึกเชิงอรรถท้ายเล่มที่น่าสนใจ นับว่าเขาทำหน้าที่นักเขียนได้อย่างดียิ่ง

เนื้อหาแบ่งเป็น ๓ ส่วนหลักๆ โดยเริ่มจากการนำเสนอภาพรวมของความคิด ที่มา และปรากฏการณ์แบบผุดบังเกิด และนำเสนอโลกแบบผุดบังเกิดโดยใช้ตัวอย่างต่าง จากนั้น จึงค่อยเริ่มเผยแสดงลักษณะเด่น ที่บ่งชี้ถึงปรากฎการณ์ผุดบังเกิด ๔ ประการ ได้แก่ การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเรือนเคียง การจดจำแบบแผน การเรียนรู้ผ่านเสียงสะท้อนกลับ และการควบคุมโดยทางอ้อม ก่อนจะจบลงด้วยภาพร่างอนาคตโลก ที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแบบผุดบังเกิด

สตีเวนใช้ตัวอย่างค่อนข้างมากประกอบคำอธิบาย พื้นที่ความสนใจของเขาครอบคลุมสี่เรื่องหลัก ทั้งทางด้านชีววิทยา ประสาทวิทยา การวางผังเมือง และการออกแบบโปรแกรม

ในบทเริ่มต้น สตีเวนนำพาผู้อ่านไปรู้จักกับภาพรวมของทฤษฎีผุดบังเกิด ผ่านยุคสมัยต่างๆ โดยเริ่มจากยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักระบบจัดการตนเอง แต่เริ่มมองเห็นร่องรอยของปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์อย่างอดัม สมิธ นักปรัชญาอย่างฟรีดดริค เองเงลส์ บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างชาร์ลส์ ดาร์วิน และผู้ให้กำเนิดทฤษฎีทางคอมพิวเตอร์อย่างอลัน ทัวริง เป็นต้น เมื่อปรากฏการณ์ผุดบังเกิดและระบบจัดการตนเองได้รับความสนใจมากขึ้น ก็เริ่มมีการศึกษาวิเคราะห์กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดังที่สถาบันวิจัยซานตา เฟ ก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อการนี้ และในยุคสมัยปัจจุบัน สตีเวนได้เชื้อเชิญให้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการสร้างระบบจัดการตนเอง โดยเรียนรู้จากทฤษฎีผุดบังเกิด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้

สตีเวนได้นำเสนอโลกของการผุดบังเกิดในเนื้อหาถัดมา ตัวอย่างแรกก็คือพฤติกรรมของฝูงมด ราชินีมดไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้มดงานทำหน้าที่ต่างๆ หากแต่มดทุกตัวต่างรู้หน้าที่ของตนเอง และทำงานอย่างผสานสอดคล้องเป็นระบบ ที่น่าสนใจก็คือ ฝูงมดสามารถคำนวณวางแผน ให้สุสานเก็บศพมดตั้งอยู่ห่างจากรังมากที่สุด และที่เก็บซากอาหารก็ตั้งอยู่ห่างจากรัง และสุสาน เป็นระยะทางที่เท่ากัน

ต่อจากเรื่องของมดก็เป็นเรื่องของคน การเกิดขึ้นของเมืองก็เป็นเรื่องของการจัดการตนเองเช่นเดียวกัน ภายในเมืองจะประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ แยกจากกันโดยธรรมชาติ แบ่งเป็นแถบชุมชนแออัด แถบที่อยู่อาศัย แถบค้าขาย และแถบชุมชนต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

แม้ในสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งซึ่งเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ ดังเช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็อาจแสดงลักษณะของการผุดบังเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมจำลองแบบพฤติกรรมของราเมือก ที่ใช้แนวคิดการเรียนรู้จากล่างสู่บน การประเมินผลผ่านวงจรสะท้อนกลับ หรือสาขาวิชาใหม่ อย่างพันธุกรรมอัลกอริธึม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ในทฤษฎีวิวัฒนาการ

ปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกอธิบายด้วยหลักการต่างๆ เป็นต้นว่า ทฤษฎีจัดการตนเอง ทฤษฎีไร้ระเบียบ ทฤษฎีความซับซ้อน ซึ่งก็เป็นพื้นฐานของทฤษฎีผุดบังเกิดนั่นเอง ทั้งนี้ สตีเวนเสนอว่า ทฤษฎีผุดบังเกิดน่าจะอธิบายการเปลี่ยนแปลงในสังคม ได้ดีกว่าทฤษฎีวีรบุรุษ และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ โดยเหตุที่ทฤษฎีแรกนั้นปฏิเสธพลังขององค์รวม และทฤษฎีหลังไม่อาจอธิบายการเกิดขึ้นของความคิดแบบใหม่ได้ ทั้งยังเสนอว่า วีธีคิดจากล่างสู่บนน่าจะมาแทนที่แนวคิดเรื่องการจัดการเชิงคุณภาพได้

ในช่วงกลางของหนังสือ สตีเวนได้เสนอลักษณะสำคัญของปรากฏการณ์ผุดบังเกิด ๔ ประการหลักๆ ใน ๔ บทใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน การจดจำแบบแผน การรับฟังเสียงสะท้อน และการควบคุมโดยอ้อม

เขาชี้ให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายใน ย่อมทำให้แต่ละหน่วยย่อยรับรู้ความเป็นไปโดยรวมได ้และทำหน้าที่ในส่วนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ฝูงมดรับทราบความเป็นไปในรังของตน ก็ด้วยการรับรู้ในระดับเดินถนนเท่านั้น และแม้มดตัวหนึ่งจะมีอายุไม่ยืนยาวนัก แต่ฝูงมดโดยรวมกลับมีอายุยืนนาน เช่นเดียวกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเกิดและตายอยู่ตลอดเวลานับล้านล้านเซลล์ แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์คนเดิมอยู่ได้ และเมื่อมองความเป็นองค์รวมในระดับของเมือง ก็จะพบว่า เมืองเองก็เป็นที่สั่งสมข้อมูลความรู้ของปัจเจกบุคคลหลายยุคสมัย เก็บไว้ในสังคม โดยผ่านช่องทางสื่อสารระดับคนต่อคน บนบาทวิถีของเมืองนั่นเอง แนวคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์กันนี้ก็ถูกจำลองแบบเข้าไปไว้ในซิม ซิตี้ เกมคอมพิวเตอร์อันโด่งดัง ตัวอย่างที่สตีเวนยกมาล้วนแสดงให้เห็นว่า แม้หน่วยย่อยจะทำงานกันอย่างเป็นเอกเทศ หากก็รู้หน้าที่ของตน ผ่านการสื่อสารระหว่างกันนั่นเอง

ลักษณะสำคัญถัดมาของปรากฏการณ์ผุดบังเกิดก็คือ การจดจำแบบแผน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ ดังที่เซลล์ในร่างกายของเราสามารถจดจำเชื้อโรคที่แปลกปลอมเข้ามาได้ เมืองก็มีแบบแผนในการจัดเก็บความรู้ไว้ในชุมชนต่างๆ ต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน โปรแกรมที่สามารถจดจำแบบแผนพฤติกรรมของผู้ใช้ ก็สามารถวิเคราะห์วางแผนและเสนอแนะความเห็น หรือข้อมูลที่เหมาะสมต่อผู้ใช้แต่ละคนได้ ทั้งนี้ การจดจำแบบแผนก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนั่นเอง

การรับฟังเสียงสะท้อนก็นำไปสู่การเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบไปสู่สภาวะที่เหมาะสม ดังการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสื่อสารมวลชนในอเมริกา ที่เป็นไปในลักษณะของการกระจายอำนาจ เมื่อปรากฏการณ์ผุดบังเกิดในระดับล่างเผยตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงในระดับบนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับใช้แนวคิดเรื่องการฟังเสียงสะท้อนนี้ก็มีขึ้นในชุมชนอินเทอร์เนต ดังที่เว็บบอร์ดและเว็บไซต์บางแห่ง ได้ริเริ่มหลักการให้สมาชิกผู้ใช้ได้ตรวจสอบ และประเมินพฤติกรรมของสมาชิกอื่น เพื่อคัดกรอง และยกระดับคุณภาพสมาชิกในชุมชนของตน หลักการหรือกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับที่แตกต่างกันไป การออกแบบระบบที่พึงประสงค์ จึงขึ้นกับการออกแบบกฏเกณฑ์ที่เหมาะสมนั่นเอง

และเนื่องจากปรากฏการณ์ผุดบังเกิด เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม การเกิดขึ้นของลักษณะใหม่ๆ ก็มีความแตกต่างหลากหลายอย่างที่ไม่อาจคิดคำนวณได้ล่วงหน้า เจตจำนงอิสระของโปรแกรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตสติปัญญามนุษย์ การจำลองแบบปรากฏการณ์ผุดบังเกิด เข้าไปไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร ์จึงมีข้อจำกัดอยู่พอควร ปรากฏการณ์ผุดบังเกิดที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้าง จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการควบคุมโดยอ้อมได้

ช่วงท้ายของหนังสือเป็นบทสรุป ของการปรับประยุกต์แนวคิดผุดบังเกิดมาใช้ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก ทั้งนี้ สตีเวนชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการอ่านใจผู้อื่นได้ คุณสมบัตินี้มีอยู่ในทั้งในระดับสมอง เมือง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อใช้หลักการในทฤษฎีผุดบังเกิดมาปรับใช้กับประดิษฐกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ วีดีโอเกม สถานีโทรทัศน์ดิจิตัล การโฆษณา ระบบเศรษฐกิจและการเมือง ก็คือ การทำให้สิ่งเหล่านี้สามารถอ่านใจผู้อื่น และปรับตัวเองให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

นอกจากนี้ สตีเวนยังร่างภาพอนาคตให้เห็นว่า ในทุกลำดับขั้นย่อมมีปรากฏการณ์ผุดบังเกิดอยู่ และหากเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง มนุษย์ย่อมลดการควบคุมจำกัดดูแลระบบให้น้อยลง ปล่อยให้มีกระบวนการเรียนรู้และจัดการตนเองให้มาก และการเปลี่ยนแปลงจากล่างสู่บน ย่อมส่งผลในระยะยาวอย่างมิต้องสงสัย

หนังสือเล่มนี้ สามารถโยงเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยมาอธิบายความคิดหลักร่วมกันได้ นั่นคือ ปรากฏการณ์ผุดบังเกิด ไม่ว่าจะในฝูงมด ในสมอง ในชุมชนเมือง และในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นแบบแผนร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติและที่เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์
เรื่องราวที่สตีเวนยกมานำเสนอเป็นตัวอย่างก็ล้วนแล้วน่าสนใจ และชวนให้อ่านต่อไปด้วยความเพลิดเพลิน หมุดหมายที่เขาทิ้งไว้ตามรายทาง ไม่ว่าจะเป็นชื่อหนังสือ เว็บไซต์ เว็บบอร์ด เกมคอมพิวเตอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่าสืบค้นติดตามเพิ่มเติมได้ไม่ยากนัก และกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นให้ทำงานต่อ แม้จะอ่านจนจบเล่มแล้ว

แม้สตีเวนจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เขาก็สามารถอธิบายทฤษฎีผุดบังเกิดได้อย่างแจ่มแจ้ง และมีความชำนาญในการโยงกับเรื่องราวใกล้ตัวของผู้อ่านได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของงานวิจัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ถือได้ว่าเนื้อหาของหนังสือมีความหลากหลาย ใหม่สด และดึงดูดความสนใจของคนร่วมสมัยได้ค่อนข้างดีทีเดียว


สตีเวน เบอร์ลิน จอห์นสัน นักเขียนผู้นี้เพิ่งตีพิมพ์หนังสือออกมาได้เพียง ๔ เล่ม แต่ขายดิบขายดีอย่างที่เรียกว่าเทน้ำเทท่าทั้งหมด ทั้งสี่เล่ม ได้แก่
  • Interface Culture: How New Technology Transforms The Way We Create And Communicate (1997)
  • Emergence: The Connected Lives of Ants, Brains, Cities, and Software (2001)
  • Mind Wide Open: Your Brain And The Neuroscience Of Everyday Life (2004)
  • Everything Bad Is Good For You: How Today's Popular Culture Is Actually Making Us Smarter (2005)
หนังสือที่เขาเขียนว่าด้วยเนื้อหาที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และประสบการณ์ส่วนบุคคล ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่เรื่องอินเทอร์เนต การวางผังเมือง ไปจนถึงสงครามก่อการร้ายในปัจจุบัน

นักเขียนหนุ่มผู้นี้เป็นคอลัมนิสต์ประจำวารสารดิสคัฟเวอร์ และเป็นนักเขียนประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร ฟีด วารสารเว็บอันโด่งดัง ที่หลอมรวมเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เข้าไว้ด้วยกัน

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home