วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

Myth and Reality

Myth and Reality

ผู้แต่ง เมอชิเอ เอลิอาเด
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖
ประเภท ศาสนา ปรัชญา
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ แอนด์ โรว์

แนะนำโดย วิจักขณ์ พานิช


อิทธิพลของเมอชิเอ เอลิอาเด ที่มีต่อวงการวิชาการ ในทางปรัชญาและศาสนาของตะวันตกนั้น มีมากเกินกว่าที่จะกล่าวได้หมด เขาถือเป็นนักปราชญ์ร่วมสมัยของตะวันตกเพียงไม่กี่คน ที่อุทิศชีวิตทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เพื่อเปิดโลกทางความคิด ให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจความหมายของคุณค่าชีวิต ทางด้านจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง เป็นการเปิดมุมมองในเรื่องศาสนา ให้มากไปกว่าการเป็นเพียงความเชื่อ หรือหลักถกเถียงทางปรัชญา ที่สำคัญคือ เขาเป็นนักวิชาการที่แสวงหาคุณค่า และความหมายของการมีชีวิตอยู่ ท่ามกลางความรุนแรงทางความเชื่อและวัฒนธรรม ที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของคริสตจักรในซีกโลกตะวันตก

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลงานของเขาที่มีชื่อว่า Myth and Reality - ตำนานกับความเป็นจริง

เอลิอาเดตั้งคำถามให้กับงานชิ้นนี้ของเขาว่า อะไรเล่าคือความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตำนาน?
เขาพยายามถอดถอนตัวตน เพื่อการพยายามที่จะเข้าใจ ไขกุญแจสู่ความหมายอันลึกซึ้ง ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าของชนพื้นเมือง ราวกับเขาสามารถมองด้วยสายตาของเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะตำนานอันศักดิ์สิทธิ์หรือเทพปกรณัมว่า อิทธิพลของเรื่องเล่าสามารถสร้างสรรค์ให้เกิดวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนอันซับซ้อนได้อย่างไร

ความหมายของคำว่า “ตำนาน” นั้นได้ถูกบิดเบือนไปมาก การจะเอามุมมองแบบตะวันตกไปนิยามความหมายของตำนาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะมองตำนาน เป็นเรื่องเล่าลมๆแล้งๆ ประเภทนิทาน ปรัมปรา หรือ เรื่องหลอกเด็กให้กลัว ซึ่งทั้งหมดนี้หาใช่ความหมายที่แท้จริงในวัฒนธรรมพื้นเมือง ผู้คนในสังคมสมัยใหม่มักจะใช้มาตรทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม ไปตีค่าความงาม ในประสบการณ์และวิถีชีวิตผู้คนอย่างปราศจากความเคารพ จึงยากที่เราจะเข้าถึงความลึกซึ้ง ของความหมายที่มีชีวิต ในตำนานหรือเทพปกรณัมที่ว่านี้

คุณค่าของตำนานในสังคมดั้งเดิม เกิดขึ้นจากพื้นฐานของการใช้ชีวิตของผู้คน อย่างไม่แยกขาดออกจากผืนดินและธรรมชาติ ความซับซ้อนของวิถีชีวิต การดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ลมฟ้าอากาศ โรคภัยไข้เจ็บ และความสงบสุขของชุมชน ตำนานคือระบบการศึกษาในตัวของมันเอง คือการเรียนรู้ที่แทรกตัวอยู่กับทุกมุมของชีวิตประจำวัน เอลิอาเดกล้าหาญที่จะตั้งคำถามอย่างถึงราก ต่อการตีความคำว่า “ความจริง” ของผู้คนสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการตั้งคำถามเชิงคุณค่า ว่าวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ได้ให้ความหมายของความจริงต่างออกไปอย่างไร ความสนใจของเขาในงานชิ้นนี้ มุ่งเน้นไปที่ตำนานที่มีชีวิต ซึ่งหมายถึง ตำนานอันยังคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ของผู้คนในสังคม

หนังสือประกอบด้วย ๘ บท ดังนี้
๑) โครงสร้างของตำนาน
๒) กลับสู่ต้นกำเนิด
๓) ตำนานและพิธีกรรมสู่การกำเนิดใหม่
๔) กำเนิดจักรวาล
๕) ก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา
๖) ศาสตร์แห่งตำนานและประวัติศาสตร์
๗) ความยิ่งใหญ่และการเสื่อมถอยของตำนาน
๘) การอยู่รอดและการปรับเปลี่ยนของตำนานในโลกสมัยใหม่


ในบริบทของโลกที่มีชีวิตและศักดิ์สิทธิ์ เทพปรณัม หรือตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นการเล่าเรื่องในแบบของพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นหนทางที่ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีผ่านเข้าสู่โลกเหนือกาลเวลา มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจุดเริ่มแห่งเวลา ตัวละครที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์เป็นผู้ก่อกำเนิดสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นจักรวาลอันมีชีวิต เกิดเป็นมนุษย์ สรรพสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ เทพปกรณัมจะกล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์อันเป็นจุดกำเนิด ให้เราเข้าใจถึงความหมายของการมีอยู่ของชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัว

ดังนั้น เทพปกรณัมคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของสรรพสิ่งในโลก เรื่องจริงจะต้องมีนัยของความศักดิ์สิทธิ์ สามารถพาผู้ฟังให้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์เหนือกาลเวลา นำมาซึ่งการตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

ส่วนเทพนิยาย นิทาน เรื่องเล่าทั่วไป จะบอกถึงเรื่องราวสามัญ การผจญภัยของเหล่าวีรบุรุษ วีรสตรีบนโลกที่เราอาศัยอยู่ โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกเหนือการเวลา ณ จุดเริ่มต้นของจักรวาลแต่อย่างใด

เทพปกรณัมหรือตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงจุดเริ่มของจักรวาล จะประกอบด้วยตำนานย่อยๆ อันแสดงถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์อันซับซ้อนของชีวิตและสรรพสิ่งในจักรวาล เช่นเดียวกันกับเทพปกรณัม ตำนานจะประกอบด้วยตัวละครเหนือมนุษย์ โดยมากมักจะเป็นเหล่าทวยเทพที่มีอิทธิฤทธิ์บันดาลสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้ในพริบตา การกระทำของตัวละครในตำนาน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อโลกที่เราอาศัยอยู่โดยตรง เพราะผลของการกระทำนั้นเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นแห่งการเวลาและการมีอยู่ ส่วนการกระทำของตัวละครในเทพนิยายหรือนิทานหาได้ส่งผลใดๆ เป็นเพียงเรื่องสอนใจ ในบริบทของความสามัญในขั้นโลกๆ ของมนุษย์เดินดินเท่านั้น

เช่น ในตำนานการกำเนิดของมนุษย์ เหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็หาได้เป็นอมตะ วันนึงเราทุกคนต้องตาย เหตุผลของการไม่เป็นอมตะ ก็เพราะ มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในจุดเริ่มต้นแห่งกาลเวลา ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่อุบัติขึ้น เราก็คงมีชีวิตอยู่เป็นอมตะอย่างภูเขาหรือท้องฟ้า ตำนานแห่งความตายบอกให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา ที่มีผลกระทบสืบเนื่องมาสู่ความดำรงอยู่ในปัจจบันขณะ


โครงสร้างของตำนาน ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆดังต่อไปนี้
๑) เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นผลจากการกระทำของเทพเจ้า หรือสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์

๒) ประวัติศาสตร์นั้นถือเป็นเรื่องจริง อันพิสูจน์ได้จากการดำรงอยู่ของผลพวงในปัจจุบัน

๓) ตำนานจะเกี่ยวข้องกับการกำเนิดเกิดขึ้นของบางสิ่งบางอย่างเสมอ

๔) เมื่อเราเข้าใจถึงต้นกำเนิด สัมผัสถึงความหมายของการดำรงอยู่ เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนาน มีชีวิตอยู่ในตำนาน และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยน ที่เหมาะสมตามเหตุปัจจัยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตำนานหาใช่เรื่องนอกตัว เรื่องนามธรรมอันจับต้องไม่ได้ แต่ตำนาน คือ ปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์ตรง จากการเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ในวิถีแห่งพิธีกรรม อันเป็นสะพานเชื่อมนำเราจากโลกสามัญร่วมสมัย ไปสู่โลกศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา อันเป็นจุดกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง เพราะความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะในประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลาเท่านั้น

๕) ชีวิตที่มีความหมายที่แท้จริง คือ ชีวิตที่ดำเนินไป บนพลังความศักดิ์สิทธิ์ของตำนาน เป็นชีวิตที่ไม่แยกขาดจากจุดกำเนิดเดิมแท้ในทุกลมหายใจ ชีวิตในตำนานแสดงถึงประสบการณ์อันลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ ที่แตกต่างไปจากประสบการณ์ธรรมดาสามัญ ในชีวิตอย่างโลกๆ

หน้าที่ที่สำคัญของตำนาน ก็คือ การเป็นสะพานให้เราก้าวข้ามผ่านโลกแห่งกาลเวลา กลับไปสู่จุดกำเนิด ความว่างอันเป็นอนันตกาล ความสมบูรณ์ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ยามที่ผู้คนเจ็บไข้ เกิดภัยธรรมชาติ เหตุการณ์ร้ายแรงทำให้ผู้คนเสียขวัญ ภูตผีวิญญาณร้าย หรือแม้นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล ขึ้นปีใหม่ หรือ ภัยธรรมชาติเพิ่งผ่านพ้น พิธีกรรมรวมถึงวิธีการเล่าตำนาน หรือเทพปกรณัม จะเป็นหนทางที่จะนำให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสถึงการเริ่มต้น ที่สดใหม่อีกครั้ง และดูเหมือนโลกและจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิต จะเข้าใจความหมาย อันเป็นสากลแห่งพิธีกรรมเหล่านั้นเป็นอย่างดี จนกลายเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่น ที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้ ระหว่างจิตวิญญาณของความมนุษย์ กับความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในสากลจักรวาล

ในวัฒนธรรมพื้นเมืองนั้น วิถีชีวิตของผู้คนเป็นวิถีชีวิตที่เปิดรับข้อความที่ส่งมาจากโลกเหนือมนุษย์อยู่เสมอ คุณค่าเหล่านั้นเป็นคุณค่าที่อยู่เหนือจิตสำนึกด้านสว่างที่บ่งบอกถึงแบบแผนตายตัวที่คับแคบ แทนที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขารู้ กลับพยายามสร้างความสัมพันธ์กับมณฑลแห่งความไม่รู้ ความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอน โดยใช้ตำนานและพิธีกรรมเป็นสะพานเชื่อมต่อ เพื่อเข้าสู่ธรรมชาติอันมีชีวิตอันมีเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอย่างแท้จริง

แต่ปัจจุบันในโลกวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมสมัยใหม่ คุณค่าและความหมายของพิธีกรรม ตำนาน และความศักดิ์สิทธิ์ดูจะค่อยๆถูกลบเลือนลงไปเรื่อยๆ เกิดเป็นปรากฏการณ์ของการสูญค่าความศักดิ์สิทธิ์แห่งตำนาน กลายเป็นจักรวาลที่เปราะแตกแยกส่วน

โลกวิทยาศาสตร์ได้นำมามนุษย์สู่วิถีการมองโลกเป็นวัตถุ ที่ต้องอาศัยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยตัดขาดจากแง่มุมทางประสบกาณ์ตรงที่เกินกว่าคำอธิบาย อีกทั้งยังได้เปลี่ยนนิยามของ “เรื่องจริง” กับ “เรื่องเท็จ” จากหน้ามือเป็นหลังมือ เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องเท็จ ไร้ข้อพิสูจน์ อย่างที่ไม่ต้องให้ความสนใจใดๆ จึงทำให้ตำนานถูกลดทอนคุณค่า กลายเป็นเหมือนนิทานหลอกเด็กเรื่องหนึ่งก็เท่านั้น

เมื่อจักรวาลแห่งประสบการณ์อันกว้างใหญ่ได้ถูกปิดลง เหลือเพียงสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว กีดกันเอาจักรวาลอันกว้างใหญ่ของความไม่รู้ หรือเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เป็นเรื่องงมงายหรือเรื่องเท็จเสียแล้ว ความหลากหลายทางศักยภาพของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงอย่างน่าใจหาย เราได้แยกตัวเองออกมา จากองคาพยพอันศักดิ์สิทธิ์ ของการเลื่อนไหลแห่งจักรวาล นำมาซึ่งความหยิ่งทะนง ความโลภ ความเกลียดชัง ฯลฯ เรากำลังตัดขาดตัวเอง ออกจากประสบการณ์การเรียนรู้ จากความสัมพันธ์อันแนบแน่น ของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรือบรรพบุรุษในตำนาน หมกมุ่นอยู่แต่กับความรู้อันคับแคบแบบแยกส่วน ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น ความศักดิ์สิทธ์ของประสบการณ์ที่เลือนหาย หมายความถึง จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ที่ค่อยๆเลือนค่าตามไปด้วย เพราะมันถูกมองเป็นเพียงแค่ ฝันลมๆ แล้งๆ หรือ อุดมคติที่กินไม่ได้

ในโลกปัจจุบัน ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ก่อให้เกิดเมฆหมอกแห่งโลกาภิวัตน ครอบคลุมไปทั่วทุกวัฒนธรรม ไสยศาสตร์ตะวันตกในรูปของเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางวัตถุ ได้ครอบงำโลกศักดิ์สิทธิ์แห่งประสบการณ์ ความหมาย และคุณค่า แทบหมดสิ้น จะหาระบบวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ที่ยังหลงเหลือไม่เจือปนไปกับวัฒนธรรมตะวันตกนั้น แทบจะไม่มี คำถามของสังคมสมัยใหม่รวมถึงสังคมไทยในตอนนี้ จึงเป็นคำถามเดียวกับที่อีไลอะเดได้ตั้งไว้เมื่อ ๕๐ ปีก่อน นั่นคือ จะทำเช่นไรให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณแห่งมนุษยชาติ เพื่อที่จะสามารถสร้างเป็นรากฐานทางสังคมสมัยใหม่ที่ยั่งยืนได้

การศึกษาผลงานของเอลิอาเด จึงน่าจะที่จะทำให้วิธีการมองโลกอย่างตะวันตก ที่เราไปรับเอามา ขยายกว้างขึ้น อย่างน้อย ก็สามารถโยงกลับมาสู่คุณค่าดั้งเดิมอย่างไทยเราได้บ้าง แม้เราจะตามก้นฝรั่งอยู่ต้อยๆ แต่ในความเป็นจริง เราเองก็ยังคงหลงเหลือภูมิปัญญา และรากฐานทางวัฒนธรรม ที่ยังสามารถที่จะหันกลับไปเรียนรู้ และเห็นคุณค่าในรากเหง้าของเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตระหนักรู้คุณค่า และเต็มใจ ที่จะกลับไปค้นหาความหมายแท้จริง ของรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านั้นหรือไม่ก็เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ตำนาน เรื่องเล่าท้องถิ่น เพลงหรือการละเล่นพื้นบ้าน วัฒนธรรมชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึง การตามหารากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของชนชาติไทยเอง ที่นับวันจะถูกลบเลือนไปมากเข้าทุกที




เมอชิเอ เอลิอาเด (Mircea Eliade, 1907-1986) เรียนจบมาทางด้านปรัชญา ใช้เวลาในวัยหนุ่มเรียนรู้ปรัชญาตะวันตกจนแตกฉาน ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในยุโรป จากนั้น เขาได้เดินทางไปศึกษาภาษาสันสกฤต และปรัชญาศาสนาตะวันออก ที่ประเทศอินเดีย สี่ปีที่เขาใช้ชีวิตเรียนรู้อยู่ที่อินเดีย ทำให้แนวคิดทางปรัชญาของเขามีความลึกซึ้ง มากกว่าการเป็นแค่หลักการ ที่ใช้ในการถกเถียงทั่วไป งานของเอลิอาเด แม้จะมีกลิ่นอายของการวิเคราะห์ด้วยหลักการแบบตะวันตก แต่ก็มีแนวทางที่แปลกออกไป นั่นคือ เป็นการวิเคราะห์เพื่อการเข้าถึงซึ่งความหมาย และคุณค่า ของประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของปัจเจก

งานชิ้นแรกที่เขาเขียนหลังจากกลับจากอินเดีย มีชื่อว่า “โยคะ ศาสตร์แห่งความเป็นอมตะ และการหลุดพ้น” (Yoga: Immortality and Freedom) ความโดดเด่นทางความคิดของเอลิอาเด ทำให้เขาถูกเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งที่นั่น เขาได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชา ประวัติศาสตร์ศาสนา ซึ่งในยุคนั้น โรงเรียนเทวศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกถือเป็นศูนย์รวมของนักคิด นักวิชาการชาวตะวันตก ผู้แสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิต อย่างมากมาย โดยเฉพาะคุณค่าที่อยู่นอกกรอบอิทธิพล ของอำนาจแห่งโบสถ์คริสตจักร

เรจินัลด์ เรย์ อาจารย์คนสำคัญของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ผู้เป็นลูกศิษย์ของเอลิอาเด สมัยที่เขาทำวิทยาพนธ์ปริญญาเอก อยู่ที่โรงเรียนเทวศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้กล่าวถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาไว้ว่า

“เอลิอาเดถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ของวงการวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เขาเปรียบเหมือนผู้เปิดโลกแห่งคุณค่าและความหมาย ให้ชาวตะวันตกได้เห็นว่า ศาสนาหาใช่เป็นเพียงแค่ปรัชญาทางความคิด หรือความเชื่อศรัทธา แต่ศาสนาคือ คุณค่าทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ ที่สามารถสัมผัสได้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน เอลิอาเดจะเน้นย้ำกับนักเรียนของเขาเสมอว่า หากการเรียนรู้เรื่องปรัชญาและศาสนาที่เรากำลังทำอยู่นี้ ไม่สามารถส่งผลต่อการสร้างรากฐานทางจิตวิญญาณ ให้กับสังคมตะวันตกได้แล้ว แสดงว่างานที่เราตรากตรำทำมาทั้งหมดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

ด้วยแนวคิดก้าวหน้าเช่นนี้นั่นเอง ทำให้งานของเขาถูกใช้เป็นตำราพื้นฐาน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาศาสนาของตะวันออก และด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชนชาติอื่น ซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ตะวันตกเพิ่งมาให้ความสำคัญจริงๆจังๆ ได้ไม่นานนัก

งานชิ้นสำคัญที่สุดของเอลิอาเด คือ การนำเสนอความคิดในเรื่องของ “ความศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred)” เขาได้ทำลายกำแพงที่จำกัดความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หรือก็แค่เป็นภาพของวัตถุบูชาในความเชื่อทางศาสนาที่ล้าหลัง ซึ่งถือเป็นวิธีที่ชาวตะวันตกมักจะใช้ตัดสินวัฒนธรรมอื่นมาโดยตลอด เขาได้นำเสนอความหมายที่กว้างออกไป ครอบคลุมความหมายในเชิงคุณค่า ประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงด้านใน เพิ่มนัยทางความหมายให้กับโลก ดวงดาว จักรวาล ฤดูกาล และธรรมชาติสรรพสิ่งรอบตัว โยงใยเป็นวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันซับซ้อน ของวัฒนธรรมพื้นเมืองชาติต่างๆ เขาได้พยายามอธิบายให้เห็นถึง ความเชื่อมโยงของประสบการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ในรูปของสัญลักษณ์ พิธีกรรม และตำนานเทพปกรณัม ซึ่งถักทอรวมกันเป็นองคาพยพทางวัฒนธรรม ที่มีผลต่อวิถีการมองโลก และการใช้ชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆได้อย่างเป็นองค์รวม งานของเขาจึงเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงในหลากหลายสาขาวิชา ไม่เพียงแต่ทางด้านศาสนา แต่รวมไปถึงศาสตร์ทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา และนิเวศวิทยาแนวลึกอีกด้วย

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home