วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

From Murder to Forgiveness

From Murder to Forgiveness : A Father’s Journey

ผู้แต่ง อาซิม กามิซา
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ประเภท สารคดี กฎหมาย จิตวิญญาณ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เอเอ็นเค

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

ในปรัตยุบันสมัย ท่ามกลางกระแสข่าวความรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญ การยกพวกตีกันของวัยรุ่นกลางเมือง การบันทึกภาพความรุนแรงในโรงเรียนเผยแพร่ผ่านสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไปจนถึงสงครามก่อการร้าย ทั้งใกล้และไกลตัว วิธีแก้ไขปัญหาก็มักจะเป็นไปในระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาการตอบโต้ด้วยความรุนแรงไม่แพ้กันเหล่านี้ เกิดขึ้นเสียจนกลายเป็นความเคยชิน เคยชินกับการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรง

บางคนไม่ยอมรับความเคยชินอันเลวร้ายนี้ และมองว่าหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงนั้นมีทางออกที่ดีกว่านั้น ทางออกนั้นก็คือสันติวิธี หากหนทางที่จะนำไปสู่สันติวิธีนั้นไม่ง่าย และหลายคนก็ไม่เชื่อเสียจริงๆ บ่อยครั้งคำว่าสันติวิธีถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย และไม่มีทางที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้


หนังสือ From Murder to Forgiveness: A Father’s Journey เป็นหนึ่งในตาน้ำแห่งปัญญาญาณของมนุษย์ ที่ยืนยันว่า มนุษย์มีทางเลือกที่ทรงพลังกว่าความรุนแรง

อาซิม กามิซา ผู้สูญเสียบุตรชายไปจากเหตุฆาตกรรม ฆาตกรเป็นเด็กวัยรุ่นอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปีดี เขาได้ให้อภัยแก่ฆาตกร ทั้งยังร่วมมือกับปู่ฆาตกรก่อตั้งมูลนิธิ ทำงานด้านการศึกษา เพื่อหาทางออกจากความรุนแรงในวัยเด็กและเยาวชน

เขาได้แปรเปลี่ยนความโศกเศร้า ความสิ้นหวัง และความทรงจำอันเจ็บปวด ไปเป็นความเบิกบาน ความยินดี และความหวัง เรื่องราวของเขาเมื่อถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือ ยิ่งเปี่ยมด้วยพลังแห่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่

ชื่อเดิมของหนังสือเล่มนี้คือ Azim’s Bardo: From Murder to Forgiveness คำว่า บาร์โด เป็นภาษาทิเบต หมายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างชีวิตและความตาย ชาวทิเบตเชื่อว่า ภายหลังความตาย เราจะเข้าไปอยู่ในบาร์โด เพื่อรอการเกิดใหม่ คุณภาพของจิตในขณะตาย และขณะที่อยู่ในบาร์โด จะเป็นเครื่องกำหนดภพภูมิใหม่ ฉะนั้น คำว่า บาร์โดของอาซิม ก็คือเรื่องเล่าของการเปลี่ยนผ่านภายใน บนวิถีแห่งการเดินทางของจิตวิญญาณ

เนื้อหาแบ่งเป็น ๑๐ บท อาซิมเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากเหตุฆาตกรรม คำพิพากษาและการลงโทษ จากนั้นก็ค่อยเล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทาง บนพื้นฐานของความเชื่ออิสลาม ที่ตั้งใจให้มรณกรรมของบุตรชายกลายเป็นสิ่งที่เปี่ยมความหมาย ไปจนถึงจุดสิ้นสุดแห่งการเดินทางอันสมบูรณ์ ระหว่างนั้นเขาได้เล่าเรื่องราวของตนเองและผู้คนแวดล้อม เขาไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ไม่ใช่ผู้นำทางจิตวิญญาณ ภาษาที่ใช้จึงค่อนข้างง่าย เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่สำคัญ ด้วยความตระหนักว่า สิ่งที่เขาเขียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้ เราสามารถสัมผัสได้ถึงหัวใจผู้เขียน

จุดเริ่มแรกของเรื่องราวทั้งหมดเริ่มด้วยเหตุการณ์สำคัญ - ทาริก กามิซา อายุ ๒๐ ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยซานดิเอโก ถูกแก๊งวัยรุ่นยิงตาย ขณะส่งพิซซา

อาซิม กามิซา ได้เล่าลำดับเหตุการณ์อย่างค่อนข้างละเอียดถึงปฏิกิริยาของผู้คนรอบข้างเมื่อได้รับทราบข่าวร้าย เราได้รู้จักบุคคลใกล้ชิดอาซิมได้อย่างค่อนข้างครบถ้วนในช่วงแรกของหนังสือ อาซิมมีญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมาก ความที่เป็นครอบครัวใหญ่ แม้จะอยู่ห่างกันต่างบ้านต่างเมือง ยังมีคู่หมั้นของลูกชาย ภรรยาที่หย่าจากกันแล้วกับลูกสาว บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า

ในพิธีทำบุญให้กับผู้ล่วงลับตามแบบอิสลามเมื่อครบรอบ ๔๐ วัน เขาก็ได้เรียนรู้จากคุรุทางจิตวิญญาณว่า ตามความเชื่อทางอิสลาม วิญญาณจะยังคงอยู่ร่วมกับครอบครัว หลังจากนี้แล้ววิญญาณจะเปลี่ยนสภาพสู่ระดับใหม่ แต่หากยังมีความโศกเศร้าอยู่มากก็จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตวิญญาณไว้ ควรที่จะระงับอารมณ์นั้นไว้ และทำกิจอันเป็นกุศลให้กับวิญญาณผู้ล่วงลับ โดยเหตุนี้ อาซิมจึงถือว่าภารกิจดังกล่าวในส่วนของเขาเองนั้นเพิ่งเริ่มต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กระบวนการค้นหาฆาตกรก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เด็กผู้หญิงคนหนึ่งโทรศัพท์ไปที่เครือข่ายปกป้องเด็ก และให้เบาะแสสำคัญแก่ตำรวจในการติดตามตัววัยรุ่น ๔ คน หนึ่งในนั้นคือ โทนี ฮิกส์ อายุ ๑๔ ปี

แม่ของโทนีตั้งครรภ์เมื่ออายุ ๑๕ ปี กับคู่รักที่อายุเท่ากัน พ่อของโทนีติดยาและเข้าแก๊งอันธพาลในนิวยอร์ก ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อโทนีอายุ ๖ ขวบ ก็ถูกล่วงเกินทางเพศ แม่เขาเลยส่งให้มาปู่ – เพล็ส เฟลิกซ์ - เลี้ยงดู

โทนีเพิ่งหนีออกจากบ้าน เขาเพิ่งขโมยปืนของปู่มา และไปเข้าแก๊งอันธพาลวัยรุ่นในคืนนั้น หัวหน้าแก๊งวางแผนหลอกคนส่งพิซซา เผอิญที่คนส่งพิซซาคืนนั้นคือทาริก มือใหม่อารมณ์ร้อนอย่างโทนีลั่นกระสุนปืนใส่ทาริก เพียงเพราะเขาไม่มีทีท่าว่าจะกลัวปืนเลย กระสุนทะลุปอดซ้าย ผ่านหัวใจ ออกไปทางปอดขวา ทาริกสิ้นใจเกือบจะในทันที

คดีของโทนีนั้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพราะโทนีอายุไม่ถึง ๑๕ ปี แต่เนื่องจากอัตราอาชญากรรมที่เกิดจากเด็กและวัยรุ่นในช่วงหลังสูงมาก อัยการและผู้พิพากษาจึงตัดสินใจที่จะพิจารณาคดีเขาในฐานะผู้ใหญ่ โทนีรับสารภาพ และถูกตัดสินจำคุก ๒๕ ปี

อาซิมกล่าวว่า เขาไม่พบอารมณ์แก้แค้นในใจ หลังจากเสียงปืนหนึ่งนัด สังคมต้องสูญเสียเยาวชนไปถึงสองคน คนหนึ่งจบชีวิตลงด้วยกระสุนปืน คนหนึ่งเสียวัยเยาว์และอนาคตอันสดใสไปในคุก

ผู้คนจำนวนมากต่างถามถึงสาเหตุที่เขาไม่โกรธแค้น อาซิมพยายามสืบค้นหาคำตอบ เขาคิดว่า ต้นทุนทางจิตวิญญาณที่สั่งสมไว้น่าจะเป็นเหตุให้เขาปฏิเสธวิถีแห่งความรุนแรง เขาเชื่อว่าศาสนิกชนที่แท้ย่อมปรารถนาสันติภาพ จึงจำต้องปฏิเสธความรุนแรง กรณีการตายของทาริกก็เช่นเดียวกัน


อาซิมจึงได้ก่อตั้งมูลนิธิทาริก กามิซาขึ้นมา เพื่อทำงานด้านการศึกษา ปลูกฝังความตระหนักรู้ถึงโทษร้ายของความรุนแรงให้กับเด็ก เขายังเชิญเพล็ส เฟลิกซ์ ปู่ของฆาตกรที่ฆ่าลูกชายเขามาร่วมงานด้วย มิตรภาพ และความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของผู้ชายสองคนถือว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง และน่าประทับใจมาก

มูลนิธิทาริก กามิซาตระเวณจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ โดยใช้ละครในการสื่อสาร อาซิมและเพล็สกลายเป็นนักพูดปาฐกถาที่โด่งดัง พวกเขาย้ำว่า เด็กและเยาวชนล้วนมีศักยภาพ และอิสรภาพ ที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง

งานของมูลนิธิได้รับการยอมรับค่อนข้างมาก มีผู้คนให้ความสนับสนุนมากหลาย งานอาสาสมัครนี้ได้ทำให้แต่ละคนค้นพบบาร์โดของตนเองเช่นเดียวกับอาซิม และเมื่อมีโอกาสพบกับผู้ทำงานด้านเดียวกันมากขึ้นก็พบว่า แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับความรุนแรงคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็เลือกที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาตามหนทางของสันติวิธี

กระบวนทัศน์ใหม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ ซึ่งเน้นความสำคัญของการคืนดีระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำผิด บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับเนื้อหาส่วนนี้โดยเฉพาะ

สามปีหลังจากมรณกรรมของทาริก การเดินทางของอาซิมกำลังใกล้ถึงจุดสุดท้าย เขาพร้อมแล้วที่จะพบกับโทนี ฆาตกรฆ่าลูกชายคนเดียวของเขา เขามุ่งหวังที่จะกล่าวคำให้อภัยต่อโทนี และเชื้อเชิญให้โทนีมาทำงานร่วมกับมูลนิธิ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ การเดินทางของเขาก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์


หนังสือเล่มนี้ให้ภาพของชาวมุสลิม ที่แปลกไปจากการรับรู้ทั่วไปของสังคม ซึ่งเชื่อว่าแขกมุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรง แต่เรื่องราวของอาซิมเป็นเครื่องยืนยันว่า หากเป็นศาสนิกชนที่แท้ เข้าถึงหัวใจของศาสนาตน เราจำต้องปฏิเสธความรุนแรงอย่างถึงที่สุด

อาซิมอาจจะไม่เหมือนมุสลิมที่เคร่งครัด หากด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เขาจึงสามารถเรียนรู้ได้มาก ทั้งจากคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต คำเทศน์จากหมออินเดียอย่างดีปัค โชปรา บทกวีของรูมี เป็นต้น

การมีสังฆะ หรือชุมชน ที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติ ก็เป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ในวิถีชีวิตของนักธุรกิจที่บ้างานอย่างเขา ก็ยังมีพื้นที่ให้กับมิตรทางจิตวิญญาณ ดังที่อุทิศหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ที่บ้าน แปรเปลี่ยนเป็นมัสยิดใ ห้ชุมชนอิสมาอิลมาพบปะรวมตัวกัน และทุกช่วงจังหวะของชีวิตของอาซิมจะมีกัลยาณมิตรร่วมอยู่ด้วยเสมอ

เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างศรัทธา และแรงบันดาลใจ ต่ออภัยวิถี ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและโครงสร้างทางสังคม

แก่นแกนของหนังสือเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ การนำผู้อ่านร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางกับอาซิม – การให้อภัย - ทั้งนี้ การเดินทางและเป้าหมายถึงที่สุดแล้วก็เป็นสิ่งเดียวกัน




อาซิม เอ็น กามิซา นักธุรกิจ ผู้บริหาร เชื้อสายดั้งเดิมของเขามาจากเปอร์เซีย อินเดีย และอัฟริกา ก่อนที่จะย้ายครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งในแคนาดาและอเมริกาตามลำดับ

กามิซาถูกส่งตัวไปเรียนหนังสือที่อังกฤษตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี แต่ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาก็ต้องกลับมารับช่วงธุรกิจของครอบครัว เพราะบิดาล้มป่วย ถึงกระนั้นเขาก็ดำเนินธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ

เขาก่อตั้งมูลนิธิทาริก กามิซา เพื่อระลึกถึงบุตรชายคนเดียวผู้เสียชีวิตด้วยเหตุฆาตกรรม และสนับสนุนกิจกรรมสันติวิธี ตัวเขาเองก็ได้รับเชิญไปพูดบ่อยครั้ง และแม้จะไม่ใช่นักเขียน เขาก็เขียนบอกเล่าประสบการณ์ของตนออกมาได้อย่างดีเยี่ยมในเล่ม From Murder to Forgiveness: A Father’s Journey หนังสือเล่มแรกและยังคงเป็นเล่มเดียวของเขา

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home