วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

On Dialogue

On Dialogue

ผู้แต่ง เดวิด โบห์ม
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ประเภท สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์รูทเลดจ์

แนะนำโดย ปกรณ์ เลิสเสถียรชัย

ก่อนที่จะบอกกล่าวเล่าความถึงหนังสือ On Dialogue ขอเล่าความย้อนไปว่าได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร

เมื่อวันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาเย็นย่ำ ผู้ปริทัศน์ได้มีส่วนร่วมจัดการสัมมนาโต๊ะกลม “สังคม-วิทย์คิดสะท้อน: ย้อนความรู้หวนดูองค์ชีวิต” ขึ้น ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานสัมมนาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้ที่ข้องเกี่ยว ทั้งด้านสายสังคมและสายวิทยาศาสตร์ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ด้วยความหวังลึกๆว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญคือ แปรความแตกต่างทั้งภูมิหลัง และความคิดที่แตกต่างกัน ให้มาเสริมซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ผลเช่นนี้กระบวนการสนทนาอย่างเปิดใจเป็นกุญแจสำคัญ และการสนทนานี้ต้องประกอบจากการลดอัตตา น้อมตัวรับฟังความเห็นของผู้อื่น อย่างไม่ด่วนตัดสินด้วย

เป็นโชคดีอย่างยิ่งที่วิทยากรคนหนึ่งในงานสัมมนาวันนั้นคือ ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ นักวิทยาศาสตร์หนุ่มไฟแรง ผู้สนใจทั้งในระดับรากหญ้า คือ วิทยาศาสตร์ชุมชน ไปจนกระทั่งระดับภาพกว้าง คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ก่อนการสัมมนา ดร. สรยุทธ ได้รับทราบผลที่ต้องการจากการสัมมนาครั้งนี้ และเขาได้เสนอว่าน่าจะทดลองใช้กระบวนการ “สุนทรียสนทนา” เพื่อให้ได้ผลดังต้องการ ผู้ปริทัศน์เห็นด้วย และผลที่ได้รับปรากฏว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์

อะไรคือสุนทรียสนทนา? สรุปคร่าวได้ความว่า คำนี้มาจากคำว่า dialogue ซึ่งมีรากมาจาก dia + logos ตัวคำว่า logos นั้นมาจากคำภาษากรีกที่แปลว่า “ถ้อยคำ” หรือ “ความหมายของคำ” ส่วนคำว่า dia นั้นแปลว่า “สอง” ดังนั้นในความหมายปกติของ dialogue แล้วคือ “การสนทนาของคนสองคน” นั่นเอง ฟังดูไม่น่าจะสุนทรียะเท่าไร ทว่าหากลองคิดใหม่แบบเดวิด โบห์มว่า dia แทนที่จะแปลว่า “สอง” ก็เปลี่ยนเป็นแปลว่า “ทะลุ” ดังนี้แล้วความหมายอันสุนทรียะของวงสนทนาก็จะปรากฏขึ้น ความหมายใหม่คือ การสนทนาเพื่อทะลุความหมายของคำอันจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ ในประเด็นนี้ เดวิด โบห์มได้กล่าวอย่างละเอียดไว้ในหนังสือเล่มนี้

แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ให้คำอธิบาย ทั้งในเชิงทฤษฎ ีและเชิงปฏิบัต ิของสุนทรียสนทนา โบห์มเห็นว่า การใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงการสื่อสาร มิใช่การถ่ายทอดเพียงความรู้ความคิดเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของความสร้างภาพลวงและสร้างความเข้าใจใหม่

เขาเห็นว่าการสื่อสารคือการสร้างโลกแห่งความหมายร่วมกัน นั่นคือผู้สื่อสารมีความเข้าใจร่วมกัน แต่นั่นคือสภาวะทางอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว มนุษย์แต่ละคน ต่างก็สร้างเกราะปราการขึ้นปกป้องความคิดความเห็นของตนเอง และบอกปัดปฏิเสธความคิดความเห็นของผู้อื่น แทนที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน

โบห์มเห็นว่า สุนทรียสนทนาสามารถสลายปัญหานี้ได้ ด้วยกระบวนการกลุ่มร่วมกัน โดยให้แต่ละคนส่องสะท้อนความคิด และความรู้สึกของตนเอง ผ่านคนอื่นในกลุ่ม ให้การสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล โดยไร้การตั้งญัตติล่วงหน้าไว้แล้ว เน้นให้ผู้เข้าร่วมสุนทรียสนทนาทุกท่านได้พูด โดยพยายามไม่ให้ใครนำวงสนทนา และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านทิ้งสมมติฐานใดๆที่อยู่ในใจ ไปเสียก่อน คือ อย่าเพิ่งรีบตัดสินผู้เข้าร่วมคนอื่น หรือความเห็นของผู้เข้าร่วมคนอื่น โดยฉับพลัน แต่ให้ละเลียดรับฟัง ละเอียดพิเคราะห์ จนทั้งวงสุนทรียสนทนาเกิดความหมายใหม่ร่วมกันที่ไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้

ความคิดของโบห์มนับว่าเป็นความพยายามฝ่าข้ามขั้วตรงข้ามทางปรัชญาสังคม นั่นคือ ขั้วตรงข้ามระหว่างปัจเจกภาพและสมุหภาพ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน (หรือไม่ก็ปัญหานี้เป็นปัญหาลวงที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรเอาเสียเลย)

พวกปัจเจกนิยมนั้นเน้นว่าหน่วยย่อยในระดับปัจเจกนั้นเป็นผู้สร้างส่วนรวมอย่างอิสระ ตัวอย่างที่สำคัญคือ แนวความคิดเสรีนิมที่เน้นคุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก และเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกอย่างอิสระจะสร้างส่วนรวมที่ดีเอง

ในทางตรงกันข้าม สมุหภาพนิยมกลับเน้นความเป็นส่วนรวมอย่างชัดเจน และมองว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันนั้นเกิดจากการให้เสรีกับปัจเจกมากเกินไป นักคิดสายสมุหภาพมักจะพูดถึงการจัดระเบียบสังคมว่าเป็นการทำให้ปัจเจกรู้ที่ทางของตนเอง เป็นการสร้างสังคมอันสงบสุข

เนื่องจากโบห์มเป็นนักฟิสิกส์ควอนตัม การเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาปรัชญาสังคมของเขาจึงต่างออกไป เขามองสังคมผ่านความคิดทางฟิสิกส์ที่เขาเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาคือ การเชื่อมโยงระหว่างกันของอนุภาค

กล่าวคือ ในขณะที่การตีความโคเปนฮาเกนของควอนตัมฟิสิกส์จาก นีลส์ บอห์ร และ แวร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์กกล่าวว่า อนุภาคขนาดเล็กนั้นประพฤติตัวแบบไม่สามารถคาดเดาได้เพราะความน่าจะเป็น แต่โบห์มเห็นต่างออกไปโดยมองว่า เบื้องหลังการประพฤติเช่นนั้นของอนุภาคมีระเบียบในระดับลึกลงไปจากควอนตัวฟิสิกส์อีกเป็นรากฐานอยู่ ระเบียบนั้นเป็นตัวเชื่อมโยงอนุภาคทั้งหมดเข้าระหว่างกัน กล่าวได้ว่าอนุภาคทั้งหมดกลายเป็นทะเลขององค์รวม อนุภาคทั้งหมดส่งผลต่ออนุภาคหนึ่ง และอนุภาคหนึ่งส่งผลกระทบต่อองค์รวม

ความคิดทางฟิสิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางสังคมด้วย เขาเสนอว่าการพิจารณาว่าความคิดเป็นของ/เกิดจากกระบวนการของปัจเจกบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ผิด หน่วยปัจเจกบุคคลนั้นไม่เคยแยกส่วน แต่อยู่อย่างเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านทางวัฒนธรรม ผ่านทางอารยธรรม ผ่านทางความรู้ในคน ผ่านทางภาพแสดงแทน ที่ไหลเวียนในสังคม ความคิดจึงเป็นเรื่องที่ผ่านสิ่งที่อยู่ภายนอกตลอดเวลา และกล่าวในภาษาทางปรัชญาคือ โลกภายนอกไหลเข้ามาเป็นส่วนภายในตลอดเวลา นอกจากนี้ความคิดก็ไม่ใช่แค่ความคิด แต่เป็นภาพตัวแทนของประสบการณ์ด้วย การใช้คำว่า ภาพตัวแทน นับว่าเป็นคำที่เหมาะสมเพราะในรากของศัพท์มันคือ การแสดงซ้ำของความคิดที่ถูกแปรให้เป็นนามธรรม

ภาพตัวแทนนี้เองที่ทำให้ความคิดของเรา ความหมายของคำพูดของเรา เป็นสิ่งที่มีอันตรายในตัวมันเอง และนี่ไปสร้างอคติที่ทำให้เราตัดสินคนอื่นหรือความคิดคนอื่นอย่างไขว้เขว อย่างรุนแรงก็หลอกลวงตัวเองด้วยซ้ำไป ภาพตัวแทนได้ไปสร้างชาตินิยม การแบ่งเขาแบ่งเรา อคติทางชาติพันธุ์ โบห์มเห็นว่าภาพตัวแทนนี้เป็นต้นเหตุจำนวนมากของปัญหามากมาย ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งลวงที่ทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหา คำถามตัวอย่างในเมืองไทยคือ คำว่า “วัยรุ่น” เป็นภาพตัวแทนของอะไร? ที่หลายคนมองว่า “วัยรุ่น” เป็นปัญหาสังคมนั้นจริงหรือเป็นแค่ภาพลวง? หรือว่า “การมองวัยรุ่นเป็นปัญหาสังคม” คือปัญหาสังคม?

เขาเสนอว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นทางคือต้องแก้ภาพตัวแทนที่สังคมมีร่วมกัน ประเด็นนี้เป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ เขาเสนอความคิดโดยเน้นไปที่เรื่องการสื่อสาร แต่ก็ละเลยเหตุการณ์ทางสังคมจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการทางการเมืองและอำนาจของเงินตราในการบิดเบือนการสื่อสาร กระนั้นการสำรวจต้นทางของปัญหาว่าเป็นภาพตัวแทนก็นับว่าเป็นความท้าทายยิ่ง

โบห์มตั้งคำถามว่าด้วยการแยกขาดจากกันของผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งคือประเด็นสืบเนื่องจากควอนตัมฟิสิกส์ที่ผู้วัดไม่สามารถแยกขาดจากสิ่งที่ถูกวัดได้ เขาพิจารณาปัญหาทางจิตใจเป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะที่ต่างจากปัญหาทางเทคนิค ในขณะที่ปัญหาทางเทคนิคมุ่งพิจารณาสิ่งนอกตัว ปัญหาทางจิตใจมุ่งพิจารณาสิ่งในตัว นั่นคือ ให้ความคิดส่องสะท้อนตัวความคิดเอง นี่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างประธานของการกระทำ กับการกระทำ ซึ่งการแบ่งแยกนี้เขามองว่า เป็นปฏิทัศน์มากกว่าเป็นปัญหา เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ลักษณะของการคิดและภาษาทำให้เราเห็นว่ามันจริง

ในช่วงกลางของหนังสือ โบห์มสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนกับอคติ ได้แก่ ภาพตัวแทนที่ผิดๆ และภาพลวงตาของการแยกออกจากกันของผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งก็มีปัญหาสืบเนื่องต่อไปอีกว่าขอบเขตของตัวตนคืออะไร? โดยเฉพาะขอบเขตของความคิดว่าเป็นเช่นไร?

เขาเสนอว่า แทนที่เราจะปล่อยตัวไปตามความคิดหรืออารมณ์ที่เกิดจากอคติ และแทนที่จะเก็บกดอารมณ์เอาไว้ แต่ให้เราห้อยแขวนสมมติฐานต่างๆ ที่เรามีเอาไว้ก่อน และให้พิจารณาอารมณ์อันแสดงออกทางกายภาพด้วย เช่นจังหวะการหายใจ ความแรงของการสูบฉีดโลหิต เป็นต้น หากย้อนความไปยังตอนต้นของหนังสือ เขาได้ให้ความสำคัญของการแขวนนี้ไว้แล้วว่า ทำให้การสร้างความหมายใหม่ในสุนทรียสนทนาเป็นจริงได้

ในช่วงท้าย เขาได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดอย่างเสรีกับความคิดอย่างมีส่วนร่วม สิ่งแรกนั้นเกิดจากอารายธรรมที่ทำให้เกิดการแยกผู้รู้ออกจากสิ่งที่ถูกรู้ และคิดว่าสิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกรู้อย่างที่มันเป็นอยู่จริงๆ ซึ่งนี่คือความคิดที่เรียกว่าเป็นกลาง หรือเป็นวิทยาศาสตร์

แต่อีกด้านหนึ่ง ความคิดอย่างมีส่วนร่วมนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล มีลักษณะเป็นความคิดแบบสมุหภาพ นี่มีทั้งผลร้ายและผลดี ในด้านผลร้าย คือ ความคิดร่วมกันอย่างชาตินิยมของคนทั้งชาติ ที่จะนับว่าชาติอื่นต่างจากตนมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า ในด้านผลดีเขามองว่า นี่คือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และไม่พึงจะหยุดแค่มีส่วนร่วมกับมนุษย์ทั้งมวลเท่านั้น แต่ความท้าทายคือ เราจะมีส่วนร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร? เราจะมีส่วนร่วมกับเอกภพได้อย่างไร?


โดยรวมของหนังสือเล่มนี้ ประการแรก คงทำให้ยากที่จะจัดประเภทว่า หนังสือเล่มนี้ควรไปอยู่ในประเภทใดระหว่าง สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา อย่างไรก็ดี การไม่สามารถระบุประเภทได้ แทนที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ด้อยค่า กลับทำให้หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนในวงกว้างมากกว่า กระนั้นพื้นฐานเดิมของโบห์ม ที่เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีก็สร้างความยุ่งยากลำบากแก่ผู้อ่านไม่น้อย เนื่องจากการบรรยายในเล่มโดยมากเป็นการบรรยายเชิงนามธรรม และมีการอ้างอิงกับหนังสือเล่มหลักในสาขาวิชาอื่นๆน้อยมาก

ประการถัดมา แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถดึงดูดผู้อ่านได้ข้ามสาขาวิชา แต่การที่เขามุ่งประเด็นการสื่อสารโดยละเลยการเมือง และเศรษฐกิจไป ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ลดความดึงดูดใจต่อนักปฏิบัติลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพกว้าง

กระนั้น คงไม่ยากเกินไปนักหรอก ที่ผู้ปฏิบัติงานสานความเข้าใจในสังคมในระดับย่อย จะมีใจให้กับหนังสือเล่มนี้ และหากว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ยากเกินไปสำหรับบางท่าน วิธีที่ดีที่สุดเพื่อทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้คือ หาการสัมมนาที่ดำเนินโดยวิธีสุนทรียสนทนา ทำใจให้สงบปลอดโปร่ง แล้วโดดเข้าไปร่วมวงในทันที




เดวิด โจเซฟ โบห์ม (ค.ศ. ๑๙๑๗ – ๑๙๙๒) นักฟิสิกส์สายควอนตัมผู้มีชื่อเสียงจากฝั่งอเมริกา ผลงานอันโดดเด่นของเขาอยู่ในพื้นที่ของฟิสิกส์ทฤษฎี ปรัชญา จิตวิทยาสมอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยว่าด้วยการผลิตระเบิดปรมาณู โดยการคัดสรรรับรองจากโรเบิร์ต อ็อปเพนไฮม์เมอร์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ หากแต่เจ้าหน้าที่ซีไอเอไม่ยอมรับเพราะไม่ไว้วางใจเขา และแม้จะนำผลงานของเขาไปใช้ก็กีดกันเขาทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการห้ามตีพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ของตัวเขาเองด้วยซ้ำ

และเมื่อยุคใส่ร้ายป้ายสีคอมมิวนิสต์ระบาดในอเมริกา ตัวเขาก็จำต้องระเห็จออกจากประเทศ ไปเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างแดนอยู่หลายนาน

ทัศนะทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาของโบห์มออกจะแนบแน่นพอควร เมื่อภรรยาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งของเจ กฤษณมูรติในห้องสมุด โบห์มก็บังเกิดความประทับใจยิ่ง ในความบรรสานสอดคล้อง ระหว่างกลไกควอนตัม กับความคิดเชิงปรัชญาของกฤษณมูรติ และแสดงออกมาอย่างชัดเจนในเล่ม Wholness and the Implicate Order ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. ๑๙๘๐ และในเล่ม Science, Order and Creativity

ในช่วงหลังเกษียณโบห์มยังทำงานต่อเนื่องทางด้านควอนตัมฟิสิกส์ งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาคือเล่ม The Undivided Universe: An ontological interpretation of quantum theory เป็นผลงานที่ทำร่วมกับบาซิล ไฮเลย์ มานานปี ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เขาก็ร่วมสนทนากับกฤษณมูรติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือออกมา โดยเขาเชื่อว่า สุนทรียสนทนาเป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาเชิงสังคม

ในปีค.ศ. ๑๙๙๐ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของเดอะรอยัลโซไซตี ถัดจากนั้นสองปีก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่ลอนดอน

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home