วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

The Sixth Extinction

The Sixth Extinction : Biodiversity and Its Survival

ผู้แต่ง ริชาร์ด ลีคคีย์ และโรเจอร์ เลวิน
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ประเภท สิ่งแวดล้อม วิวัฒนาการ ภูมิศาสตร์มนุษย์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์วายเดนเฟลด์และนิโคลสัน

แนะนำโดย ดร.วนิสา สุรพิพิธ


หนังสือสำคัญเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผู้อ่านชาวไทยอาจไม่คุ้นเคย ด้วยการค้นพบที่ไม่ได้แลดูครึกโครมในวงการวิทยาศาสตร์ แต่กลับเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาและเป็นไปของเราอย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนหลักคือ ริชาร์ด ลีคคีย์ เล่าเรื่องจากจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่อุบัติครั้งแรกบนโลก มาจนถึงเหตุผลว่า ทำไมจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ปรากฏบนพื้นพิภพปัจจุบัน

ริชาร์ด ลีคคีย์ นำเราสู่เรื่องโดยผ่านมุมมองส่วนตัว อันประกอบจากประสบการณ์ฝังใจในวัยเยาว์ บนแผ่นดินอาฟริกา ผสานกับความรู้ทางวิชาชีพ ทั้งในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และผู้อำนวยการองค์การสัตว์ป่าของประเทศเคนยา เขารวบรวมสิ่งที่คลุกคลีทั้งชีวิตมาเล่าได้อย่างน่าทึ่ง

โรเจอร์ เลวิน ภัณฑกร และนักเขียนผู้ช่ำชองเรื่องวิวัฒนาการ เป็นผู้ทำหน้าที่ขัดเกลา และเสริมเนื้อหาประกอบในหนังสือ ซึ่งเป็นเล่มที่สี่ของนักเขียนคู่นี้


ผู้เขียนชี้ให้เราเห็นว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วินได้ผ่านการตรวจสอบ ขัดแย้ง และเอามาใช้ช่วยเรียงร้อยหลักฐานที่พบในธรรมชาติอย่างไร ทั้งนี้โดยผ่านความอุตสาหะวิริยะของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง นับตั้งแต่นักธรณีสัณฐานวิทยา นักชีววิทยา นักนิเวศวิทยา จนถึงนักชาติพันธุ์วิทยา องค์ความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มพูนจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในรอบเวลาร้อยปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้ส่งผลเร้าใจเท่าวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ที่ได้ปฏิวัติโลกอันอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ แต่ข้อสมมติฐานที่ปรากฏ บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่พัฒนามาจากบรรพชีวิต ที่รอดพ้นมหกรรมการสูญพันธ์ห้ายุคที่ผ่านมา กำลังสร้างภาวะเสี่ยง ต่อมหกรรมการสูญพันธ์ครั้งที่หก ของสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์โลก

หนังสือเล่มนี้จับใจนับตั้งแต่คำอุทิศ ที่ให้แด่เพื่อนร่วมโลกทุกสปีชีส์และอนาคตที่เรามีร่วมกัน ผู้เขียนยังได้แสดงความขอบคุณต่อคนหลายคนที่มีคุณูปการในชีวิต ผู้ให้กำลังใจและความบันดาลใจ ในการค้นหาสรรพรูปแบบของชีวิต ผู้เขียนกล่าวว่า นี่ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่โต้แย้งว่า มนุษย์ได้กลายเป็นสปีชีส์เด่น ที่กำลังก่อหายนภัยต่อความหลากหลายของสรรพชีวิต (ภายในหนึ่งวัน สิ่งมีชีวิตหนึ่งแสนสปีชีส์กำลังสูญพันธุ์ เนื่องจากการตัดไม้ในป่าเขตร้อน) แต่นี่คือเล่มแรก ที่จะเสนอมุมมองของปรากฏการณ์ ในฐานะมนุษย์ที่ถอยออกมามอง ว่าเราเป็นจุดหนึ่งในกระแสสรรพชีวิต ซึ่งมีอดีตอันไกลโพ้นและอนาคตอีกยาวไกล หนังสือมุ่งเสนอว่า นี่คือมุมมองหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถพลิกผันพลังมหาศาล ที่เรากำลังมีต่อโลกมาสู่ทางที่สร้างสรรค์


หนังสือแบ่งออกเป็นห้าตอน สิบสี่บท เริ่มจากมุมมองส่วนตัวของ ริชาร์ด ลีคคีย์ จากจุดเปลี่ยนในอาชีพเมื่อประธานาธิบดีของประเทศเคนยา แดเนียล อารัพ โมอี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ให้เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการกรมอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรพืชพรรณสัตว์ป่า ของประเทศ

ริชาร์ดเล่าว่า นั่นนับเป็นงานที่ท้าทายที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งที่ผ่านมา เคยสนุกกับการค้นหาซากฟอสซิล และโครงกระดูกในชั้นดินทางตอนเหนือของประเทศ รอบๆ ทะเลสาบเทอร์คานา งานดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาได้รับสืบทอดมาจากบิดามารดา ซึ่งเลี้ยงลูกๆ ให้เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศป่าเขา ของอาฟริกาตะวันออก ริชาร์ดแสดงออกซึ่งความรักบ้านเกิด อันมีภูมิประเทศหลากหลาย นับจากชายฝั่งทะเลในเขตร้อนชื้น ขึ้นมาจนถึงยอดเขาเคนยามีหิมะปกคลุม เขาเล่าประสบการณ์จากวัยเด็กสู่วัยรุ่นว่า ได้เริ่มคุ้นเคยกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายรอบตัวอย่างไร และความชำนาญที่เขาค่อยพัฒนาขึ้น มาจากการศึกษาซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งท้ายที่สุด นำเขาสู่การค้นคว้าวิจัย เพื่อหาไม่เพียงที่มาของเผ่าพันธุ์โฮโมซาเปียน แต่ยังสามารถพยายามมองย้อนอดีตไปไกลกว่านั้น ริชาร์ดกล่าวว่าเมื่อขึ้นเป็นผู้อำนวยการกรมอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น งานแรกก็คือจะทำอย่างไรที่จะยุติธุรกิจการล่าช้างป่า เขาต้องหาจุดลงตัว ระหว่างความจำเป็นในการใช้ที่ดิน อันเกิดจากการเพิ่มของประชากรมนุษย์ กับการปกป้องสัตว์ป่าซึ่งถูกคุกคามถิ่นอาศัย

ภาคที่สองนำผู้อ่านสู่เรื่องเวลาและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของหนังสือ ผู้เขียนเริ่มชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เป็นจุดหนึ่งในกระแสธารของสรรพชีวิตอันไหลต่อเนื่อง และอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุด สิ่งสำคัญคือรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเราสังเกตได้จากธารชีวิต รูปแบบจะเป็นสัญญาณบอกกระบวนการที่ผลักดันกระแสดังกล่าว รูปแบบที่ผู้เขียนหมายถึง คือภาพที่เราได้จากการสังเคราะห์ระบบนิเวศวิทยาทั้งหมด นับตั้งแต่ที่พบจากหลักฐานทางธรณีวิทยา ซึ่งบอกเราถึงแต่ละสปีชีส์ที่เคยประกอบกันเป็นระบบนิเวศในอดีต ตลอดจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในท้ายที่สุดเราจึงจะได้เห็นธรรมชาติที่แท้ของโลกที่เราอาศัยอยู่

กล่าวโดยรวม เนื้อหาหลักในส่วนนี้บอกข้อเท็จจริงว่า ทุกวันนี้ นอกจากเราจะสามารถเห็นรูปแบบมหกรรมการสูญพันธ์ในอดีต จากซากฟอสซิลแล้ว เรายังเห็นได้ด้วยว่า เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กระแสธารชีวิตไหลต่อไป ไม่ใช่แค่กระทบกระเทือนการไหล ถ้าเรามองดูกระบวนวิวัฒนาการได้ลึกซึ้งพอ จะเห็นว่าแต่ละสปีชีส์ที่เกิดขึ้นมีโชคดีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเราได้ผสมผสานชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการเข้ากับนิเวศวิทยา เราก็สามารถตัดทำลายสู่ความเข้าใจในปรากฏการณ ์ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่แท้ที่จริงสลับซับซ้อนอยู่รอบตัว ริชาร์ดบอกว่าแม้ในวงการวิทยาศาสตร์เอง หลายคนมองว่า ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากหรือแข็ง ส่วนชีววิทยาเป็นวิชาที่ง่ายหรืออ่อน แต่ความจริง โลกของสิ่งมีชีวิตและประวัติศาสตร์ของมันนั้น สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เพียงการพูดถึงคำว่า “สมดุลของธรรมชาติ” โดยสมมติว่าเป็นเรื่อง “ความบรรสานสอดคล้องของชีวิต” นั้นง่ายเกินไปและอาจทำให้หลงผิดเพราะว่า ธรรมชาตินั้นไม่ง่าย

ในช่วงแรก เขานำเราสู่ลำดับเรื่องราวความน่าพิศวงของชีวิต โดยเล่าถึงการแบ่งยุคทางธรณีวิทยาเป็น ก่อนการพบสิ่งมีชีวิต และหลังสิ่งมีชีวิตแรก ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่า อุบัติในยุคแคมเบรียนเมื่อราวห้าร้อยล้านปีก่อน มีข้อถกเถียงมากมายว่า จุดนั้นเกิดได้อย่างไร โดยเฉพาะดาร์วิน ซึ่งไม่เชื่อว่าชีวิตจะอุบัติขึ้นมาทั้งหมดในคราวเดียว และที่ยังไม่พบซากสิ่งมีชีวิตที่เก่ากว่านั้นก็ไม่ได้เป็นเพราะไม่มี แต่การขุดค้นซากฟอสซิลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งย้อนยุคไปเท่าไร ซากนั้นก็ยิ่งอยู่ลึกลงไปเท่านั้น หรือซากส่วนมากอาจอยู่ก้นมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1947 ก็ได้มีการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตที่เก่าไปอีกร้อยล้านปีที่เรียกว่ายุคพรีแคมเบรียน ในบริเวณตอนใต้ของออสเตรเลีย ฟอสซิลที่พบใหม่นี้ยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มจากเซลล์เดียว ในยุคนั้นโลกมีออกซิเจนราวเพียง 1% สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เกิดขึ้นไม่ได้ จากนั้นออกซิเจนบนโลกจึงได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 21% ในปัจจุบัน

ในตอนท้ายจึงสรุปจุดสำคัญว่า ในระหว่างวิวัฒนาการ หลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่ามีห้าครั้งห้าคราวที่กว่า 65% ของสิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น มหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่เป็นจุดสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียน หรือสิ้นสุดยุคเก่านั้น สิ่งมีชีวิต 95% ได้สูญพันธุ์ไป มหกรรมการสูญพันธุ์ไม่ได้เป็นเพียงจุดยั้งกระแสธารชีวิต แต่ควรถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนการขยายนิเวศชุมชน ที่รู้จักกันดีที่สุดคือตอนสิ้นยุคไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทำนองเดียวกัน สัตว์เลื้อยคลานที่เคยครองยุคเพอร์เมียน ก็ได้เกิดมหกรรมการสูญพันธ์ ถูกไดโนเสาร์แย่งชิงพื้นที่ไป หนังสือพาผู้อ่านให้ขบคิดว่าอะไรคือสาเหตุของมหกรรมการสูญพันธุ์แต่ละครั้ง โลกเย็นจัดลงไป ระดับน้ำทะเลลด หรือเกิดการแข่งขันรุนแรงระหว่างสปีชีส์ การสิ้นยุคเพอร์เมียนน่าจะเกิดตอนที่อนุทวีปเข้ารวมกันพอดี ทำให้สัตว์อาศัยน้ำตื้นสูญพันธุ์ไป ทว่าเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้สิ้นยุคครีเตเชียสของไดโนเสาร ์ได้รับการพิสูจน์เมื่อปลายทศวรรษที่ 70 โดยนักฟิสิกส์แห่งเบิร์คลีย์ตรวจพบอีรีเดียมในดินตะกอนในยุโรป นำไปสู่สมมติฐานว่าเกิดอุกกาบาตที่เข้าชนโลก หมอกควันหนาทึบที่เกิดขึ้นปกคลุมไปทั่วโลก จากการระเบิดที่รุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาพันล้านเท่า ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก็ทำให้สรรพสัตว์และพืชล้มตายไปเป็นจำนวนมหาศาล ดังนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในบทที่ห้าว่า มหกรรมการสูญพันธ์เป็นเพราะหน่วยพันธุกรรมไม่ดี หรือโชคร้ายกันแน่

ภาคที่สามของหนังสือเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วอันที่จริงอะไรคือจักรกลแห่งวิวัฒนาการ โดยเริ่มต้นจากบทที่หกซึ่งพยายามไขปริศนาว่า มนุษย์โฮโม ซาเปียน เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการหรือเปล่า ทำไมสมองจึงใหญ่ มีความสามารถคิดและจัดระเบียบโครงสร้างสังคม มีการสร้างภาษาพูดเขียน

จากประโยคเด็ดของดาร์วิน “Endless forms most beautiful” ลีคคีย์บอกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นปรากฏชัด เมื่อเขาเดินทางท่องไปในเคนยา มีหลักฐานว่ามนุษย์เพิ่งปรากฏมีขึ้นมาอยู่ร่วมโลกกับสัตว์อื่นครั้งแรกเมื่อห้าล้านปีก่อน ซากฟอสซิลชี้ให้เห็นความหลากหลายที่บูมขึ้นมาในรอบร้อยล้านปี นักนิเวศวิทยาจำแนกความหลากหลายทางชีวภาพออกเป็นอัลฟา เบต้า แกมมา ตามจำนวนสปีชีส์ที่พบในชุมชนนิเวศหนึ่งๆ แต่ลีคคีย์กล่าวถึงรูปแบบของความหลากหลายในสองลักษณะ กล่าวคือ ความที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายมากที่สุดในเขตศูนย์สูตร และความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน กับในมหาสมุทร

ถัดมา ลีคคีย์ยกประเด็นมูลค่าของความหลากหลาย ซึ่งเป็นโจทย์อันขมขื่นที่นักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์เผชิญ เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ถามว่า จะประเมินต้นทุน และกำไร ที่ควรจะได้จากการลงทุนอนุรักษ ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร แทนที่ไม้ในป่าจะถูกตัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรง เหตุใดจึงต้องค่อยๆ ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเทียบผลตอบแทนกับเวลาระยะยาวแล้ว อาจยังไม่น่าพึงพอใจ ได้เคยมีการยกเอาประโยชน์จากการค้นพบพืชสมุนไพร ที่สามารถรักษามะเร็งหรือโรคอื่น อันทำให้บริษัทยาเคยมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยพืชในป่าเขตร้อน หากทว่างานวิจัยทางเภสัชกลับค่อยๆ มุ่งเน้นไปยังการทดลองสังเคราะห์ตัวยา โดยอาศัยแบบจำลองทางเคมีในคอมพิวเตอร์ ซึ่งลดต้นทุน และลดความไม่แน่นอน ในการที่ต้องออกไปแสวงหาพืชแปลกใหม่ นักอนุรักษ์จึงเริ่มขาดข้อโต้แย้งจนกระทั่งเมื่อเจมส์ เลิฟล็อกนำเสนอทฤษฏีกายา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โลกคือระบบ ที่ปัจจัยทางชีวภาพส่งผลตรงต่อปัจจัยกายภาพ ให้สามารถเกื้อหนุนการดำรงอยู่ได้ ของระบบสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เลิฟล็อกยังได้ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เดซีเวิร์ลด์ มาสาธิตให้เห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไร ระบบยิ่งมีเสถียรภาพมากเท่านั้น ซึ่งค้านแบบจำลองรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ การอนุรักษ์จึงมีเหตุผลหนักแน่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทางนิเวศวิทยาซึ่งใช้เวลานานกว่าสิบปีเริ่มชี้ให้เห็นว่า การเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน ให้ผลต้านทานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดเดียวทั้งแปลง ข้อนี้สอดคล้องกับหลักการที่ว่า สิ่งมีชีวิตเดียวกันย่อมแย่งทรัพยากรอย่างเดียวกัน ในขณะที่สิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่อยู่ร่วมกันจะมีการให้และรับ จนเกิดสมดุลของการหมุนเวียนทรัพยากร

สมดุลแห่งธรรมชาติ ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นหลักของภาคที่สี่ เริ่มจากการนำเราให้พิจารณาลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า ระบบนิเวศนั้นแท้ที่จริงไม่ได้เป็นอยู่ในลักษณะสงบบรรสานสอดคล้อง อย่างที่อาจสรุปจากการมองผิวเผิน หากแต่ถูกกระทำด้วยแรงทั้งภายในและภายนอก ทั้งในลักษณะโกลาหล และลักษณะสุ่ม จนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเข้าใจถึงปัจจัยและกลไกเหล่านี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การคาดการณ์อย่างถูกต้อง ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์เข้าไปจัดการอะไรบางอย่าง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

การวิจัยชี้ให้เห็นว่า จำนวนสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่มากขึ้นในระบบนิเวศ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเสถียรภาพของระบบ แต่ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันนั้นต่างหากที่จะกำหนดว่า หากมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เข้ามา จะมีการยอมรับได้หรือไม่เพียงใด ลีคคีย์โยงข้อสรุปนี้เข้ากับตัวอย่างอุทาหรณ์ จากอุทยานแห่งชาติทางเหนือของบอตสวานา เจ้าหน้าที่อุทยานต้องการให้มีช้างป่าจำนวนมาก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เมื่อมีประชากรช้างมากขึ้น ต้นอคาเซียก็ยิ่งถูกทำลาย ส่งผลให้สูญเสียความอุดมของพื้นที่ชุ่มน้ำ แล้วก่อให้เกิดตัวริ้นซึ่งไล่ช้างออกจากพื้นที่ ในที่สุดเมื่อจำนวนช้างน้อยลงต้นอคาเซียก็สามารถกลับคืนมาใหม่ ดังนี้ จึงดึงดูดช้างกลับมาอีกเป็นวงวัฏจักรไป แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลาเป็นสิบป ีซึ่งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานก็มักทนไม่ได้ ที่ไม่เห็นช้างในพื้นที่เป็นเวลานานเท่านั้น

หนังสือได้วิเคราะห์ต่อเนื่องให้เห็นว่า แม้สิ่งมีชีวิตที่ต้องการขยายถิ่นฐานส่วนมาก ไม่สามารถรุกรานเข้าสู่พื้นที่ ที่มีสังคมนิเวศซับซ้อนสมบูรณ์ได้ แต่มนุษย์กลับเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ มนุษย์สามารถจะตั้งถิ่นฐานได้ในทุกที่ที่ต้องการ ผู้เขียนเสนอให้เรามองอดีต เพื่อประเมินกลับมาถึงผลกระทบที่มนุษย์ปัจจุบันมีต่อโลก ดังตัวอย่างน่าสนใจ จากการค้นคว้าหาสาเหตุการสูญพันธ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 57 ชนิดเมื่อราวหมื่นสองพันปีที่แล้ว ในยุคที่นักธรณีวิทยาเรียกว่าไพลสโตซีน เดิมเชื่อกันว่า เป็นเพราะโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสัตว์และพืชไม่อาจรอดชีวิตได้ แต่ต่อมานักวิจัยเริ่มสงสัยว่า มนุษย์ต่างหากที่อาจเป็นผู้ล่าที่ทรงอิทธิพล หลักฐานที่สอดคล้องบ่งชี้ว่า มนุษย์โคลวิสในทวีปอเมริกา น่าจะเป็นผู้ล้มช้างแมมมอธจนถึงตัวสุดท้าย ราว 85% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในออสเตรเลียก็สูญพันธ์ไปในช่วงเดียวกับที่พบว่า สังคมมนุษย์เข้าขยายถิ่นฐานบนทวีปอันโดดเด่นนี้ ใต้ลงไปบนเกาะนิวซีแลนด ก็ปรากฏหลังการขุดค้นว่า นกรูปทรงแปลกสวยงามจำนวนมากรวมทั้งนกยักษ์โมอา ก็เหลือแต่ซากกระดูก หลังจากชาวโพลีนีเซียนมาถึงเกาะนี้เมื่อพันปีก่อน ทวีปยุโรปก็เคยเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้แล้ว

บทสรุปของภาคนี้มุ่งเล่าประสบการณ์จริงของลีคคีย์ในเรื่องของช้าง เขาเกริ่นอย่างรอบรู้ว่า สังคมฮินดูยกย่องช้างในรูปของพระพิฆเนศวรเจ้าแห่งสติปัญญา ปราชญ์โรมันก็มองว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีลักษณะสุขุมใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม มนุษย์ได้มีส่วนคุกคามความเป็นอยู่ของช้าง จากที่ได้วิวัฒนาการมา จนเหลืออยู่สองพันธุ์หลักคือ ช้างอาฟริกา และช้างเอเชีย จุดสำคัญที่น่ากลัวคือมนุษย์หลงใหลในความงาม และอาจรวมถึงเรื่องพลังเร้นลับ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ในงาช้าง

ลีคคีย์เล่าถึงเหตุการณ์อันจุดประกายนำสู่วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1989 เมื่อเขาได้ตระเตรียมงาช้างมูลค่าสามล้านดอลลาร์ให้เข้าสู่กองไฟลุกโชน ด้วยคบไฟจากมือท่านประธานาธิบดีแห่งเคนยา พร้อมถ่ายทอดสดในรายการกู๊ดมอร์นิ่งอเมริกา ของสถานีโทรทัศน์เอบีซี อย่างไรก็ตาม เรื่องการอนุรักษ์ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงอีกหลายประการ ชาวบ้านอาฟริกาส่วนหนึ่งก็มองว่า ช้างป่ารุกรานพื้นที่เกษตรกรรมของตน จึงสนับสนุนให้มีการล่าช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องาช้างยังมีราคาดี มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติอาฟริกา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการ ในความเป็นจริงจำนวนช้างป่าอาฟริกาก็ได้ลดลงกว่า 70% ในรอบทศวรรษเดียวก่อนหน้านี้ ลีคคีย์ยอมรับว่า เขามีอารมณ์กับเรื่องการฆ่าช้างเอางาในแง่จริยธรรมค่อนข้างมาก แต่เขาก็ได้บรรยายและยกตัวอย่างโดยละเอียดว่า การอนุรักษ์ช้างป่ามีความจำเป็นในเชิงนิเวศด้วย เราอาจมองผิวเผินว่า ช้างกำลังทำลายต้นไม้ใหญ่ด้วยการถอนโคนรากขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำนั้น กลับเป็นการเปิดโอกาสให้พุ่มไม้ใบหญ้าชั้นล่างได้เติบโต รับแสงอาทิตย์ เป็นการจัดระบบการใช้ที่ดินโดยธรรมชาติ ฉะนั้นอันที่จริง ช้างคือตัวการสำคัญ ที่สร้างความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว ์ตามอาณาบริเวณที่กระจายตัวอยู่บนทวีปอาฟริกา

ส่วนสุดท้ายของหนังสือถูกจัดให้เป็นภาคอนาคต เริ่มจากการตอกย้ำจุดสำคัญว่า มนุษย์ต้องก้าวข้ามความคุ้นชิน ที่จะเข้าข้างเผ่าพันธุ์ของตน ด้วยการอธิบายว่าทุกสิ่งเป็นไปเพื่อเรา เราควรเข้าใจว่า แท้ที่จริง การอยู่ร่วมกับสรรพสัตว์อื่น ทำให้เราต่างเป็นพวกโชคดีที่รอดมหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งผ่านๆ มาได้ เรียกว่าเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุในประวัติศาสตร์ จากนั้น จึงบรรยายถึงมหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งที่หก ซึ่งมนุษย์มีทีท่าว่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญ ปิดท้ายด้วยคำถามสั้นๆ ว่า แล้วทั้งหมดนี้มันสำคัญละหรือ?


หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ ที่นิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1995 ฉบับที่อ่านตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยสำนักพิมพ์ฟีนิกซ์ เมื่อปี ค.ศ. 1996 ยังไม่พบว่ามีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้ หากมีการแปลไทยออกตีพิมพ์ก็น่าจะทำให้หวนรำลึกถึง ห้วงมหรรณพ ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ผนวกกับ ปัญญาวิวัฒน์ ของ สมัคร บุราวาส ผู้สนใจจะได้รับทราบเรื่องการค้นพบในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งการค้นคว้าถกเถียงส่วนใหญ่เป็นไปในโลกตะวันตก เมื่อคำนึงถึงว่า ทุกวันนี้เอเชียเป็นทวีปที่มีการเติบโตของประชากร และความเจริญต่างๆ กำลังเป็นไปในอัตราสูงสุด จึงควรที่เราจะได้รับรู้เรื่องราวนี้ เพื่อจะได้รู้ทันและเห็นภาพรวม ในยุคที่โลกได้อภิวัตน์จนเราอาจไม่ทันคิดว่า สิ่งต่างๆ รอบตัวมีที่มาอย่างไร หากทันได้อ่านและได้เห็นเราอาจนึกขึ้นได้ว่า เราควรจะอยู่กันอย่างไร คำตอบไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่น่าสนใจว่าเราจะรอดไหม ด้วยสติปัญญาร่วมกันที่จะเกิดขึ้นจากการรู้เท่าทันอันนี้





ชีวิตของริชาร์ด ลีคคีย์เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน เขาเป็นทั้งผู้ชำนาญการด้านฟอสซิล นักอนุรักษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ส.ส. ฝ่ายค้าน นักรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชัน นักเขียน

ตระกูลลีคคีย์รุ่นพ่อแม่โด่งดังในฐานะนักโบราณคดีและบรรพชีวินวิทยา แม้เขาจะพยายามหลบเลี่ยงการเดินตามรอยเท้าพ่อและแม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณชิ้นสำคัญหลายชิ้น และกลายเป็นเด็กหนุ่มผู้มีชื่อเสียงอันโด่งดัง

ทั้งที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเคนยา อยู่ในตำแหน่งนี้นานกว่ายี่สิบปี ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าเคนยา เริ่มชีวิตการทำงานด้านอนุรักษ์อย่างแข็งขัน เขาเผางาช้างกองเท่าภูเขา ที่ยึดได้จากพวกลักลอบ ออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์อเมริกา เพื่อรณรงค์ยกเลิกการล่าสัตว์ป่า เขาได้รับการยอมรับและความสนับสนุนจำนวนมาก แต่บทบาทหน้าที่เขาก็ก่อศัตรูไว้มากพอดู

ริชาร์ดมีชีวิตเฉียดตายหลายครั้ง หนหนึ่งเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ก็เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองออกมาเล่มหนึ่ง คือ One Life: An Autobiography และในปีค.ศ. ๑๙๙๓ เกิดอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็กที่เขาขับตก แม้จะรอดชีวิตแต่ก็ต้องตัดขาใต้เข่าทั้งสองข้างออกไป

ไม่นานนักก็ลาออกจากราชการ เพราะรับไม่ได้กับกระบวนการคอรัปชัน เขาเป็นพลังสำคัญในการก่อตั้งพรรคซาฟีนา – เรือโนอาห์ ในภาษาท้องถิ่นสวาฮิลี – พรรคฝ่ายค้านที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

แม้จะผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง เขาก็ยังทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เขียนหนังสือหลายเล่ม เป็นต้นว่า Origins, Origins Reconsidered, Human Origins, The Origin of Humankind, Making of Mankind, The Evolution of Mankind, Man-ape, ape-man, People of the Lake หลายเล่มเขียนร่วมกับโรเจอร์ เลวิน เล่มล่าสุดคือ The Sixth Extinction





นักมานุษยวิทยาและนักเขียนผู้นี้ เริ่มชีวิตการงานในฐานะนักเขียนสารคดีที่ New Scientist ที่ลอนดอน อยู่เก้าปี ก่อนที่จะย้ายไปเขียนต่อให้ Science ที่วอชิงตัน ดี ซี อีกเก้าปี เพื่อลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ

โรเจอร์ เลวิน เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่หลายเล่ม และมีอยู่อย่างน้อยสี่เล่มที่เขียนร่วมกับริชาร์ด ลีคคีย์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก

เมื่อลาออกจากงาน เขาก็สามารถเขียนหนังสือของตัวเองออกมาได้อีกหลายเล่ม ส่วนใหญ่ว่าด้วยกำเนิดที่มาของมนุษย์และวิวัฒนาการ ท่วงทำนองในการเขียนของเขาเป็นไปในลักษณะของการให้การศึกษา แต่ไม่ได้เป็นไปในทำนองยัดเยียด หากแต่วางจังหวะคำถาม เพื่อกระตุ้นความคิดผู้อ่านอย่างเหมาะสม

งานเขียนของเขานั้นมี

  • Making Waves: Irving Dardik and His Superwave Principle
  • Kanzi : The Ape at the Brink of the Human Mind
  • Bones of Contention: Controversies in the Search for Human Origins
  • Patterns in Evolution: The New Molecular View, Complexity
  • Life at the Edge of Chaos
  • Complexity: Life at the Edge of Chaos
  • Java Man: How Two Geologists' Dramatic Discoveries Changed Our Understanding of the Evolutionary Path to Modern Humans
  • Principles of Human Evolution
  • The Origin of Modern Humans
  • Human Evolution

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home