วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

Living Buddha, Living Christ

Living Buddha, Living Christ

ผู้แต่ง ติช นัท ฮันห์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๘
ประเภท ภาวนา ศาสนเสวนา
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เบิร์กเลย์ พับลิชชิง กรุ๊ป (ริเวอร์เฮด บุ๊กส์)

แนะนำโดย วัลลภา ไชยมโนวงศ์


ติช นัท ฮันห์ ได้แสดงถึงความเคารพ และชื่นชมอย่างลึกซึ้ง ต่อองค์ประกอบของศาสนาคริสต์ ไม่เฉพาะคำสอนของพระเยซู แต่รวมถึงหลักการของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามคือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ

ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม ได้มีความพยายามของนักสอนศาสนาในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จนเกิดวิกฤตการณ์ในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ เมื่อประธานาธิบดีผ่านกฎหมาย ห้ามประชาชนฉลองเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวเวียดนามหลายคนได้พยายามทำความเข้าใจศาสนาคริสต์ และความพยายามของคนแปลกหน้า ที่จะครอบงำทางการเมืองและวัฒนธรรม

ติช นัท ฮันห์ ได้ศึกษาถึงหัวใจแห่งสาระของศาสนาพุทธและคริสต์ จนเห็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้


โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ แบ่งเป็น ๑๐ ตอน เริ่มจากการให้เราเปิดใจให้กว้าง เพื่อศึกษาแก่นแท้ของทุกศาสนา โดยเฉพาะศาสนา คริสต์และพุทธ ไม่แบ่งแยกกัน การปฏิบัติที่คล้ายคลึงของทั้งสองศาสนา ถึงแม้จะเรียกชื่อต่างกัน แต่องค์ศาสดาและคำสอนของพระองค์ก็มีชีวิตอยู่ในตัวเราทุกคน โดยผ่านการปฏิบัติเอง หรือรวมกลุ่มกันเป็นสังฆะหรือชุมชนก็ได้ การมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็จะทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุถึงสันติภาพ ความรัก ความเข้าใจทุกสรรพสิ่งในโลก

ศาสตราจารย์ฮันส์ คุง กล่าวว่า “ถ้าไม่มีสันติภาพระหว่างศาสนาก็จะไม่มีสันติภาพในโลก” การเรียนรู้และฝึกฝนด้วยการไม่ยึดติดกับภาพ เพื่อเปิดใจให้กว้างพร้อมรับทัศนะของผู้อื่น ด้วยการฝึกฝนสมาธิ ซึ่งก็คือ การหยุด สงบ และเฝ้าสังเกตอย่างลึกซึ้ง เราสามารถเรียนรู้ผู้อื่นได้โดยการศึกษาจากตัวเอง

เราต้องตระหนักถึงทั้งด้านบวกและลบของลัทธิที่เราเชื่อถือ ยอมรับสิ่งที่ขัดแย้ง และสาเหตุความเป็นมา ศึกษาสิ่งที่ดีสวยงามและมีความหมายในลัทธิอื่น เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเรา มันต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็มักจะได้ผลเสมอ

เมื่อเราเห็นธรรมชาติของอิทัปปัจจยตา เรารู้ว่าผลเกิดแต่เหตุเป็นห่วงโซ่กันไป ปราการกั้นระหว่างเราและผู้อื่นก็จะหายไป สันติภาพ ความรักและความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อไรก็ตามที่มีความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจก็จะเกิด

ในศาสนาพุทธ ความศรัทธา หมายถึง ความเชื่อมั่นในความสามารถของเรา และผู้อื่นที่จะปลุก ความรัก และความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่สุดของพวกเรา ในศาสนาคริสต์ ความศรัทธา หมายถึง การไว้ใจในองค์พระเจ้า พระองค์แสดงออกถึงความรัก ความเข้าใจ เกียรติยศ ความซื่อสัตย์ เมื่อเราสงบ มองดูอย่างลึกซึ้ง เจริญสติในทุกๆอิริยาบถด้วยความเข้าใจและความเมตตา เราจะสัมผัสพระพุทธเจ้าและพระเยซูที่มีชีวิต ในตัวเราและในทุกผู้คนที่เราพบ

เมื่อมีสงครามในตัวเรา อีกไม่นานเราก็จะทำสงครามกับผู้อื่นแม้แต่ผู้ที่เรารัก ดังนั้นเราต้องสร้างสันติด้วยการทำสมาธิ อันเป็นเครื่องมือสำรวจอาณาเขตของเราอันดับแรก เพื่อให้เราสามารถรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

เมื่อพลังงานของพระจิตวิญญาณอยู่ในตัวเรา เราก็จะมีชีวิตอย่างแท้จริง เป็นแสงสว่างนำทางให้เราสามารถเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น และจูงใจให้เราช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์
เราต้องการเพียงนำร่างกายและจิตใจของเรารวมเป็นหนึ่งกลับสู่ปัจจุบันขณะ กลับสู่บ้านที่แท้จริงของเราอย่างเบิกบาน จากนั้นเราจะสัมผัสสิ่งซึ่งสดชื่น ที่สามารถเยียวยาอย่างมหัศจรรย์
พระเจ้าดำเนินชีวิตในแบบที่เราสามารถปฏิบัติตามอย่างได้ ดังนั้นชีวิตของพระองค์ก็คือคำสอน
พระองค์เป็นประตูสำหรับเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า

ในศาสนาพุทธ มีประตูธรรมะอยู่ถึง ๘๔,๐๐๐ บาน อันเป็นประตูของคำสอน เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่ต้องเปิดประตูให้เพิ่มขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อๆไป โดยการปฏิบัติและให้ความรัก ความกรุณา เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคม


เมล็ดพันธุ์ของการเจริญสติอยู่ในพวกเราแต่ละคน เพียงอาศัยปัญญาหรือความเขข้าใจ อันเปรียบเหมือนบิดา และความรักความเมตตาอันเปรียบเหมือนมารดา ก็สามารถให้กำเนิดพวกเราที่มีจิตวิญญาณ โดยผ่านการใช้ชีวิตและปฏิบัติอย่างเจริญสติ พวกเราก็สามารถให้กำเนิดเด็กรุ่นต่อไปที่มีจิตวิญญาณเดียวกับเรา ทำนองเดียวกับที่บรรพบุรุษส่งต่อผ่านมาถึงเรา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูเข้าไปในธรรมชาติของความทุกข์อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เห็นสาเหตุของทุกข์และทางออก” ถ้าคุณเชื่อมั่นและปฏิบัติตนอยู่ในคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ก็จะอยู่กับเราเสมอ

ถ้าคุณเจริญสติเพียงพอ คุณจะสามารถได้ยินคำสอนของพระองค์ จากเสียงของก้อนหิน ใบไม้ หรือเมฆในท้องฟ้า คุณจะเห็นพระพุทธองค์หรือไม่ขึ้นกับคุณ และภาวะที่คุณเป็นอยู่ แต่เราจะรู้ว่าพระองค์อยู่ในใจเรา เปรียบเหมือนเวลาที่คุณนั่งใกล้ผู้รู้ คุณก็จะรู้สึกถึงความสงบและสว่าง

การปฏิบัติร่วมกันเป็นหมู่คณะ เราต้องนับถือแต่ละคนเป็นพี่น้อง และฝึกปฏิบัติร่วมกัน ๖ ประการคือ การแบ่งปันพื้นที่ การแบ่งปันสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน การศึกษาคำสอนเดียวกัน การใช้เพียงถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความปรองดอง การแบ่งปันความรู้และเข้าใจของเรา และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น คุณต้องจุดไฟของความเข้าใจ ความรัก ความหนักแน่น ความเงียบสงัด ของตัวเองก่อน แล้วคุณจะสามารถจุดประกายให้ผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เราต้องเป็นคบไฟของตัวเอง ส่วนพระเยซูก็ทรงตรัสว่า สาวกของเราต้องเป็นเกลือที่แท้จริงของโลก

เพื่อจะรักษาสันติภาพ ใจของเราต้องมีสันติกับโลก กับพี่น้อง เราต้องไม่พยายามเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความชั่วร้าย การทำงานเพื่อสันติ ก็คือการขุดรากสงครามจากตัวเราและหัวใจของทุกคน การเตรียมทำสงคราม การให้โอกาสคนเป็นล้านๆคน ฝึกการฆ่าทุกวันทุกคืนในหัวใจของพวกเขา ก็คือการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง ความโกรธ ความผิดหวัง ความกลัว เป็นล้านๆเมล็ด ซึ่งจะผ่านไปยังรุ่นต่อไปที่จะมาถึงด้วย

พระเจ้าทรงสอนว่า ให้รักศัตรูของคุณ ให้พรคนที่สาปแช่งคุณ ทำดีกับคนที่เกลียดคุณ สวดให้คนที่ใช้คุณและกลั่นแกล้งคุณอย่างหนัก

ความคิดเรื่อง “ศัตรู” จะหายไป และถูกแทนที่ด้วยความคิดว่า บางคนกำลังมีความทุกข์ และต้องการความรัก ความเมตตาจากคุณ

การมองดูให้ลึกซึ้งว่าถ้าเราอยู่ในภาวะแบบเขา เราอาจจะเห็นว่าเราก็กระทำเหมือนเขา เมื่อเราเข้าใจ ความเมตตาก็จะเกิดในตัวเราอย่างเป็นธรรมชาติ และนำมาซึ่งการปลดปล่อย ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงความโกรธ อคติ และการแตกแยกของเราได้


เมื่อเราเข้าใจผู้อื่น เราจะเข้าใจตัวเองดีขึ้น และเมื่อเราเข้าใจตัวเองดีขึ้น เราจะเข้าใจผู้อื่นดีขึ้นและพร้อมจะให้อภัยด้วย

ศีลห้าในศาสนาพุทธ กล่าวถึง การเคารพต่อชีวิต ความใจกว้าง พฤติกรรมทางเพศที่มีความรับผิดชอบ การพูดและการฟังอย่างลึกซึ้ง การบริโภคแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เหล่านี้มีส่วนอย่างมากต่อความสุขของครอบครัวและสังคม

เราต้องหว่านเพาะความเมตตา ความรัก ความกรุณา ฝึกฝนความมีน้ำใจ โดยแบ่งปันเวลา พลังงาน และทรัพยากรวัตถุกับคนที่ต้องการมันจริงๆ จะเห็นว่าการลักทรัพย์ในรูปการหาประโยชน์ ความอยุติธรรมในสังคม และการกดขี่ ก็เป็นการฆ่าแบบหนึ่ง

ในจิตวิญญาณของเรามีพื้นที่แน่นอนสำหรับ ความจำ ความเจ็บปวด ความลับ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราจะแบ่งปันเฉพาะกับคนที่เรารัก และไว้ใจมากที่สุด เช่นเดียวกับร่างกาย ที่เราจะไม่ละเมิดของผู้อื่น และจะไม่อนุญาตให้ผู้อื่นมาละเมิดของเราด้วย

ความรักมีมากกว่าความรับผิดชอบ มีความเคารพ ความเอาใจใส่อยู่ในนั้นด้วย รวมถึงความตั้งใจ ที่จะพยายามทำให้ผู้อื่นมีความสุข

การพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ การพูดที่ไม่เจริญสติสามารถฆ่าผู้อื่นได้ คำพูดที่เต็มไปด้วยความรัก การใช้ถ้อยคำอย่างเจริญสติด้วยความรักและความกรุณา สามารถนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง

การรักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรู้จักบริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงออกถึงความกตัญญูต่อจักรวาลทั้งมวล ต่อบรรพบุรุษ และไม่ทรยศต่อคนรุ่นต่อไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราศึกษาให้ดี เราจะเห็นธรรมชาติของการเชื่อมต่อสัมพันธ์ของศีลทั้งห้าข้อได้

ศีลและบทบัญญัติทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความรักและเข้าใจ อันนำมาสู่สันติภาพ สันติภาพไม่ใช่แค่จุดจบ แต่ละก้าวที่เราเดินควรจะมีสันติ เบิกบาน และมีความสุข

การรักษาศีลและบทบัญญัติไม่ใช่สาระของข้อห้าม หรือจำกัดอิสรภาพของเรา
ในทุกลัทธิศาสนามีการปฏิบัติที่อุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงการเชื่อมั่นในตัวเองและทางที่เรากำลังก้าวเดิน

การหายใจอย่างเจริญสติจะเป็นเกาะของคุณที่ซึ่งคุณจะปลอดภัย และมีความสุข รู้ว่าอะไรก็ตามจะเกิดขึ้น คุณก็กำลังทำสิ่งที่ดีที่สุด พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “จงเป็นเกาะให้กับตัวเอง พึ่งพิงตัวเอง มิใช่สิ่งอื่น” เกาะนี้เป็นการเจริญสติที่ถูกต้อง เป็นธรรมชาติที่ตื่นตัว การค้นพบความมั่นคงและความสงบในตัวเรา

การเจริญสติถ้าฝึกอย่างต่อเนื่อง จะเข้มแข็งพอที่จะโอบล้อมความกลัว และความโกรธของเรา และเปลี่ยนแปลงมัน โดยเราไม่ต้องขับไล่ความชั่วร้ายออกไป แต่เราสามารถโอบกอด และเปลี่ยนแปลงมัน ในวิถีทางที่ไม่ใช้ความรุนแรงได้

สุดท้ายคุณจะพบดินแดนอันบริสุทธิ์ว่าอยู่ในหัวใจคุณ คุณไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลๆเพื่อค้นหา คุณสามารถก่อตั้งดินแดนเล็กๆของคุณเอง ที่ซึ่งปราศจากความรุนแรง ความเกลียด ความกระหาย และการแตกแยก เป็นชุมชนเพื่อการฝึกฝนปฏิบัติ

ไม่มีอะไรถาวรภายในส่วนประกอบที่เราเรียกว่า “อัตตา” พระพุทธองค์ทรงสอนว่า สิ่งที่เรียกว่า “บุคคล” จริงๆเป็นเพียงขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีการเกิดหรือการตาย มีแต่การแสดงออกหรือไม่แสดงออกเท่านั้น

ถ้าคุณฝึกฝนอย่างลึกซึ้ง วันหนึ่งคุณจะตระหนักว่าคุณเป็นอิสระจากการตายและการเกิด อิสระจากอันตรายหลายอย่าง ที่ทำร้ายคุณ โดยที่คุณไม่ต้องละทิ้งโลกนี้ เช่นเดียวกับคลื่นที่ไม่ต้องตายเพื่อกลายเป็นน้ำ เราก็ไม่ต้องตายเพื่อสัมผัสอาณาจักรของพระเจ้า

ถ้าคุณมีเมล็ดพันธุ์ของอาณาจักรพระเจ้าอยู่ข้างใน และรู้วิธีสัมผัสมัน มันจะมีพลังที่จะพองฟู และ เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง อาณาจักรของพระเจ้าเป็นแหล่งกำเนิดของความเบิกบาน สันติภาพ และความสุขที่แท้จริง เมื่อเราสัมผัสมัน แม้เพียงครั้งเดียว เรารู้ว่าเรามีความสามารถในการปล่อยวางทุกอย่าง เหมือนกับการที่ครั้งหนึ่งคุณสัมผัสน้ำ คุณจะไม่สนใจการมาและการไปของคลื่น คุณจะไม่กังวลเกี่ยวกับการเกิดและตายของคลื่นอีกต่อไป เพราะคุณรู้ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน

ในวันที่เรา “ตาย” เป็นวันของการต่อเนื่องไปเป็นรูปแบบอื่นมากมาย สภาวะสูงสุดอันเป็นภาวะของความเย็น สันติ และเบิกบาน ไม่ใช่ภาวะที่จะได้รับหลังจากคุณ “ตาย” คุณสามารถสัมผัสสภาวะอันสูงสุดเดี๋ยวนี้ โดยมีสติ อยู่ในปัจจุบันขณะ และตระหนักถึงว่าปัจจุบันเกิดจากอดีต และกำลังสร้างอนาคต

ในศาสนาคริสต์ มักจะพูดถึงความลึกลับว่าเป็นความมืด ทำนองเดียวกับในศาสนาพุทธ “อวิชชา” ความไม่รู้ หมายถึง “การขาดแสงสว่าง” อย่างแท้จริง ส่วน “วิชชา” ความเข้าใจเกิดจากแสงสว่าง

หลายสิ่งหลายอย่างไม่สามารถอธิบายโดยหลักการและถ้อยคำ พวกเขาสามารถเข้าถึงได้เพียงทางประสบการณ์โดยตรง จากการฝึกสมถะ (หยุด สงบ) วิปัสสนา (การดูอย่างลึกซึ้ง) การรำลึกถึงพระรัตนตรัย ศีลห้า และอื่นๆ


เราต้องละทิ้งความคิดของเราเกี่ยวกับพระเจ้า พระพุทธเจ้า นิพพาน อัตตา อนัตตา การเกิด การตาย การมีอยู่ และการไม่มีอยู่ ถ้าเราสามารถเห็นว่า ความว่างเปล่าและความไม่ว่างเปล่า คือความจริงแท้เดียวกัน เราจะไม่ยึดติด และสัมผัสโลกซึ่งอิสระจากความคิดและหลักการต่างๆได้ ละทิ้งความคิดและภาพทั้งหมด เพื่อให้เห็นความจริงแท้อย่างลึกซึ้งที่ถูกต้อง ประสบการณ์ที่แท้จริงหรือการหยั่งรู้อย่างลึกซึ้ง เป็นแก่นสารของความศรัทธาจริงๆ ชนิดที่ไม่มีใครสามารถเอาออกจากตัวคุณได้ เพราะมันไม่ได้สร้างจากภาพ ความคิด หรือหลักเกณฑ์ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ


ชาวพุทธรู้ว่า สิ่งจำเป็นที่สุดคือการคงสมาธิที่แท้จริง ขณะรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เช่นที่ชาวคริสต์รู้ว่าเขาต้องฝึกปฏิบัติด้วยหัวใจ และไม่เอ่ยพระนามของพระองค์อย่างไร้สาระ

หลังจากมีความมั่นคงและสันติภาพแล้ว ก็ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การเจริญสติต้องฝึกตลอดวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและเมื่อไรหรือกำลังทำอะไร เราต้องเตือนตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงจุดประสงค์ คำสอน และความตั้งใจดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า พระเยซู บัณฑิต และนักบุญที่ยิ่งใหญ่ทุกท่าน

ทางที่ดีที่สุดที่จะดูแลอนาคตคือดูแลปัจจุบัน การฝึกหายใจอย่างมีสติรับรู้ทุกความคิดและการกระทำ เพื่อให้เราเกิดใหม่ มีชีวิตอย่างเต็มที่ในปัจจุบัน

อนัตตาเป็นความว่างเปล่า ความว่างเปล่าของตัวตนที่ถาวร อนัตตายังหมายถึงอิทัปปัจจยตาด้วย ทุกอย่างเกิดจากสิ่งอื่นและเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ด้วยตัวเอง
เมื่อคุณสัมผัสความจริงแท้ของอนัตตา คุณจะเป็นอิสระจากความกลัว ความผูกพัน ภาพลวงตาและความอยาก

ศีลทำให้เกิดสมาธิ และสมาธิทำให้เกิดปัญญา อันจะนำไปสู่ธรรมชาติแท้จริงของสัจธรรม
การหมดสิ้นของภาพลวงตาทำให้สามารถหยุดความอยาก ความโกรธ และความกลัว เป็นการแสดงออกของสันติ ความหนักแน่น และอิสรภาพ

เราจะไม่คิดอีกต่อไปว่าชีวิตเริ่มเมื่อเกิด หรือหยุดเมื่อตาย เพราะเราจะไม่ยึดติดความคิดเกี่ยวกับการเกิดและตาย ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาละหรือเทศะอีกต่อไป

ดังนั้น ศาสนาที่ได้รับการจัดการ ต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการปฏิบัติที่แท้จริง ถ้าเราเชื่อมั่นถึงคุณค่าในแต่ละลัทธิ เราสามารถเรียนจากอีกลัทธิได้ และย้อนกลับมาพบคุณค่ามากมายขึ้นไปอีกของลัทธิตนเองอีกครั้ง การแบ่งปันไม่ได้หมายถึง ต้องการให้อีกฝ่ายละทิ้งรากทางจิตวิญญาณของพวกเขา ผู้คนจะมีความสุข เพียงเมื่อเขามีรากในลัทธิ และวัฒนธรรมของตนเองอย่างมั่นคง ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแปลกแยกผู้คนจากบรรพบุรุษ และคุณค่าของตนเอง


หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม การดำเนินชีวิต ที่ปฏิบัติตามคำสอนองค์ศาสดาของแต่ละศาสนา อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จะทำให้ทุกคนมีชีวิตอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกัน ไม่แบ่งแยก เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน เป็นห่วงโซ่ร้อยโยงกันและกัน



ติช นัท ฮันห์ เป็นหนึ่งในนักบวชเซ็น ที่เป็นที่รู้จักกันดี และเป็นที่นับถือมากที่สุดคนหนึ่งในโลกปัจจุบัน เป็นกวี เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เกิดที่เวียดนามตอนกลางในปี ๑๙๒๖ ท่านออกบวชเมื่ออายุ ๑๖ ปี

สงครามเวียดนามได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับวัด ด้วยคำถามเกี่ยวกับการเข้าฌาน หรือทำสมาธิในวัด กับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์จากสงคราม ท่านนัท ฮันห์เป็นคนหนึ่งที่เลือกทำทั้งสองอย่าง ชีวิตของท่านได้อุทิศให้กับการเปลี่ยนแปลงภายใน เพื่อประโยชน์ส่วนตนและสังคม

ในไซง่อนต้นทศวรรษที่ ๖๐ ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนเพื่อบริการสังคมของเยาวชน เป็นองค์กรเพื่อบรรเทาทุกข์ระดับรากหญ้า ได้ฟื้นฟูหมู่บ้านที่ถูกระเบิดขึ้นใหม่ ก่อสร้างโรงเรียนและศูนย์การแพทย์ ช่วยเหลือครอบครัวที่ไร้บ้าน และจัดตั้งความร่วมมือทางเกษตรกรรม การรวมตัวของอาสาสมัครนักเรียนถึง ๑๐,๐๐๐ คนที่มาทำกิจกรรมตามหลักการทางพุทธศาสนา ที่มีความเมตตาไม่เน้นความรุนแรง ทั้งๆที่มีการปรักปรำจากรัฐบาล ท่านนัท ฮันห์ก็ยังคงก่อตั้งมหาวิทยาลัยพุทธ บ้านสาธารณะ และนิตยสารของนักกิจกรรมทางสันติขึ้นในเวียดนาม

หลังจากการเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในภารกิจเพื่อสันติ ปีค.ศ. ๑๙๖๖ ท่านถูกห้ามไม่ให้กลับเวียดนามอีก ท่านเคยชักชวนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ร่วมต่อต้านสงครามเวียดนามและเคลื่อนไหวเพื่อสันติ ปีต่อมาคิงได้เสนอชื่อท่านเพื่อรับรางวัลโนเบลอีกด้วย

ในปี ๑๙๘๒ ท่านได้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ชุมชนชาวพุทธพลัดถิ่นในฝรั่งเศส ท่านได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาทุกข์ของผู้อพยพ นักโทษการเมือง และครอบครัวที่หิวโหยในเวียดนามและในโลกที่สาม ท่านมีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับการทำสมาธิ การเจริญสติ และสันติภาพ เป็นบทกวี ร้อยแก้ว และบทสวดประมาณ ๘๕ หัวข้อ โดยมากกว่า ๔๐ หัวข้อเป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งเรื่องที่ขายดี เช่น Call Me by My True Names, Peace Is Every Step, Being Peace, Touching Peace, Living Buddha Living Christ, Teachings on Love, The Path of Emancipation และ Anger

ในเดือนกันยายน ปีค.ศ. ๒๐๐๑ ไม่กี่วันหลังผู้ก่อการร้ายโจมตีตึก World Trade Center ท่านได้กล่าวปาฐกถาที่น่าจดจำเกี่ยวกับความไม่รุนแรง และการให้อภัยที่ Riverside Church ในเมือง New York

คำสอนหลักของท่านคือ เราสามารถเรียนรู้เพื่อมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันแทนที่อดีตและอนาคต การอยู่กับปัจจุบันตามที่ท่านสอน คือ ทางเดียวที่จะพัฒนาสันติภาพอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนตัวและในโลก

0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home