วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

Intelligence in Nature

Intelligence in Nature : An Inquiry into Knowledge

ผู้แต่ง เจเรมี นาร์บี
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๘
ประเภท มานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ใหม่
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เจเรมี พี ทาร์เชอร์
แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล




เจเรมี นาร์บี เป็นนักมานุษยวิทยา ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดคลุกคลีกับชนเผ่าพื้นเมืองอเมซอน งานของเขาว่าด้วยการสนับสนุนชนพื้นเมืองเหล่านั้น ในการปกป้องรักษาสิทธิ ในดินแดนของตน สิบกว่าปีที่ผ่านมา เขามีโอกาสรู้จักและเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพ่อมดหมอผีประจำเผ่า ซึ่งถือว่าเป็นผู้รู้และหรือผู้นำทางจิตวิญญาณของชนพื้นเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการคิดแบบตะวันตก เขาก็พบว่า วิถีทางแบบคุณไสยที่ดูเหมือนล้าหลัง และไร้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์เข้ามารองรับ กลับมีส่วนคล้ายคลึงกันมากกับกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ใช้วิถีทางที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง

นาร์บีถือว่าเป็นหน้าที่ของเขาในการสร้างความเข้าใจระหว่างสองวัฒนธรรม นั่นคือ ระหว่างวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาพื้นเมือง หนังสือเล่มแรกของเขา The Cosmic Serpent: DNA and the Origins of Knowledge ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง เพราะเขาได้เสนอสมมติฐานที่ว่า กระบวนการเข้าถึงความรู้ของพ่อมดหมอผีก็คือการดำดิ่งไปสู่จิตสำนึก และถือว่าอยู่ในระดับชีววิทยาโมเลกุลนั่นเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์โดยมากไม่ค่อยยอมรับข้อเสนอของเขา และท้าทายให้เขาทำการพิสูจน์ เพราะเป็นหนทางของการรับรองความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หนังสือ Intelligence in Nature : An Inquiry into Knowledge ซึ่งตีพิมพ์หลังเล่มแรกสิบปี เป็นผลผลิตจากการรับคำท้านั้น และ – ด้วยกระบวนการทางมานุษยวิทยา!


งานวิจัยของเขาไม่ได้ทำในห้องทดลองใดๆ หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนบันทึกการเดินทาง เพื่อร่วมค้นหาตาน้ำแห่งความรู้ เขาพาเราไปพบกับผู้คนมากมาย ในสถานที่อันแตกต่างหลากหลาย มีทั้งพ่อมดหมอผีในป่าอเมซอน ผู้เชี่ยวชาญพื้นเมืองจากเผ่าต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ในฝรั่งเศส อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ข้ามฟากไปจนถึงญี่ปุ่น เขาพาเราอ่านหนังสือหลายร้อยเล่ม ทำความรู้จักกับนักคิดในอดีตถึงปัจจุบัน ไล่เรียงจากปรัชญาไปจนถึงวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย ได้รู้จักบุคลิกและตัวตนของบุคคลเหล่านี้นอกเหนือจากงานของพวกเขา
นาร์บีใช้การเดินทางเป็นโครงหลักในการเล่าเรื่อง หนังสือแบ่งเป็น ๑๑ บท ไม่รวมบทนำและบทบันทึก เนื้อหาถูกจัดวางเป็นเส้นตรง โดยใช้คำถามท้ายบทเป็นตัวร้อยเรื่องราว


ช่วงแรก นาร์บีกล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ และเล่าถึงการไปเยี่ยมพบหมอสมุนไพรแก่ๆ ที่เอสโตเนีย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตยุโรปตะวันออก เธอมีพลังพิเศษในการติดต่อกับต้นไม้ เมื่อมีผู้ป่วยมาหา เธอจะสามารถสัมผัสรับรู้ความเจ็บปวดจากผู้ป่วยได้โดยตรง ต้นไม้จะเป็นผู้บอกเธอว่าควรใช้พืชสมุนไพรใดในการรักษา และควรเก็บเวลาใดจึงจะได้ผลสูงสุด หากรักษาถูกต้อง ความเจ็บปวดที่ร่างกายของเธอก็จะบรรเทาลง วิธีการของเธอคล้ายคลึงกับวิธีของพ่อมดหมอผีในป่าอเมซอนมาก นาร์บีจึงถามเธอถึงเรื่องของปัญญาในธรรมชาติ หากเธอปฏิเสธที่จะตอบ โดยกล่าวว่าบางเรื่องควรที่จะเก็บไว้เป็นความลับของธรรมชาติต่อไป นาร์บีใคร่ครวญกับคำตอบนี้อยู่นานหลายเพลา ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่า หากธรรมชาติมีความสามารถที่จะรู้ได้จริง และหากมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าธรรมชาติรู้ได้อย่างไร

จุดเริ่มของการค้นคว้าเริ่มที่กลางป่าอเมซอนในเขตประเทศเปรู เขาเดินทางด้วยเรือแคนูไปยังศูนย์ศึกษาเขตร้อนแมตสิเจนคาพร้อมกับนักวิจัยอีกสามสี่คน ไกด์ชาวแมตสิเจนคาพาไปดูนกแก้วมาร์คอว์ที่มารวมกลุ่มกันกินดินโคลนทุกเช้าเป็นฝูงใหญ่ นกเหล่านี้กินโคลนเพื่อชำระพิษที่เกิดจากการกินเมล็ดพืชบางอย่างเป็นอาหาร และด้วยวิธีนี้ ทำให้นกแก้วมาร์คอว์ได้กินอาหารที่นกชนิดอื่นกินไม่ได้ การกินโคลนล้างพิษนี้จะเกิดขึ้นจากสัญชาติญาณหรือความฉลาดของนก ถูกทิ้งไว้เป็นโจทย์ให้ขบคิดกันต่อไป

หลังจากนั้น นาร์บีก็ล่องแม่น้ำอูรัมบาเข้าป่าพาชิที เพื่อไปพบกับหมอผีเพื่อนเก่า ฮวน ฟลอเรส ซาลาซาร์ ผู้ซึ่งยืนยันว่า การสื่อสารกับพืชและสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้จริง ด้วยการสื่อสารจากภายใน ด้วยหัวใจ วิญญาณต้นไม้ยังสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้เพื่อดูแลมนุษย์ เจ้าแห่งป่านั้นก็มีอยู่จริง และปรากฎให้เห็นในรูปของเสือจากัวร์อันงามสง่า ซาลาซาร์ปรุง “อาฮวสคา” ให้ดื่ม พร้อมกับทำพิธีกรรม และนำนาร์บีเข้าสู่ภวังค์นิมิต

นาร์บีเดินทางไปพบหมอผีอีกคนหนึ่งในเมือง ซึ่งเป็นชุมชนของเผ่าชิพิโบ แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง พิธีกรรมแบบดั้งเดิมก็ได้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง คนรุ่นใหม่ได้อนุรักษ์ความเชื่อดั้งเดิมของตนไว้เพียงแต่รูปแบบของประเพณี วิถีแห่งพ่อมดกำลังเปลี่ยนไป

เมื่อพบกับผู้เชี่ยวชาญชนเผ่าพื้นเมืองอีก ๓ คน ซึ่งเป็นตัวแทนของเผ่าชาวี คิชวา และคานโดชิ ถ้อยคำสัมภาษณ์ก็ค่อนข้างประสานสอดคล้องกันในข้อที่ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองล้วนเชื่อว่าสรรพสิ่งต่างก็มีจิตวิญญาณในตัวเอง ทั้งต้นไม้ สัตว์ และก้อนหิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา มนุษย์นั้นสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างแนบแน่น วิชาพ่อมดสามารถทำให้คนกลายเป็นเสือจากัวร์ได้ ไม่ใช่ด้วยการเปลี่ยนร่าง หากแต่เป็นเปลี่ยนที่หัวใจ มนุษย์เองก็ไม่ใช่อื่นใด นอกจากผลของการข้ามสายพันธุ์กันไปมา และผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน

ในช่วงกลางของเรื่อง นาร์บีผ่อนพักจากการเดินทางอยู่ในทับกระท่อมของตนริมภูเขายูรา เขาหยุดไปไหนต่อไหนก็จริง แต่ไม่ได้หยุดการเดินทางทางความคิด เขานำพาผู้อ่านไปค้นวารสารวิทยาศาสตร์กองโต เพื่อดูงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ ไม่ว่าจะเรื่องของลิงชิมแปนซีที่มีภาษาและวัฒนธรรมในฝูง เรื่องของปลาโลมาที่รับรู้ตัวเองในกระจกเงาได้ เรื่องของอีกาที่ทำเครื่องมือใช้เอง เรื่องของค้างคาวดูดเลือดที่แบ่งอาหารกันกิน เรื่องของนกแก้วที่ตอบคำถามได้จริงๆ และเรื่องของมดที่สามารถสร้างยาปฏิชีวนะขึ้นมาใช้เองในฝูง เพื่อที่จะนำไปสู่การไตร่ตรองถึงความหมายของคำว่า “ปัญญา” โดยเทียบโยงกับข้อถกเถียงในแนวคิดเชิงปรัชญาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นาร์บียืนยันว่า ในการมองสิ่งชีวิตเหล่านี้ จำต้องมองให้เห็นมิติแห่งความเป็นมนุษย์ในสัตว์เหล่านี้ด้วย

ระหว่างนี้ เขาเดินทางไปอีกครั้ง แต่ไม่ไกลนัก ไปที่มหาวิทยาลัยตูลูส ตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อพบกับมาร์ติน กิอูร์ฟา นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองกับผึ้ง แล้วพบว่า เจ้าแมลงที่มีสมองเล็กเท่าหัวเข็มหมุด สามารถแก้โจทย์ปัญหาเชิงนามธรรมได้

เมื่อทำเครื่องหมายไว้ที่ทางเข้า เป็นต้นว่าสีฟ้า ทางออกสองทางมีเครื่องหมายแตกต่างกัน ทางหนึ่งติดสีฟ้า ทางหนึ่งติดสีเหลือง ผึ้งที่ออกไปทางเครื่องหมายสีฟ้าจะพบกับอาหาร ทางอื่นจะไม่มีอะไร เมื่อทำการทดลองซ้ำ ผึ้งก็สามารถเรียนรู้ที่จะเลือกทางออกที่มีอาหารได้ เมื่อเปลี่ยนเครื่องหมายจากสีเป็นเครื่องหมายแบบเส้นก็ให้ผลเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี กลไกการคิดของแมลงยังเป็นเรื่องที่ต้องวิจัยกันอยู่ เมื่อนาร์บีถามความเห็นเกี่ยวกับพืช นักวิทยาศาสตร์หนุ่มผู้นี้ออกตัวว่าเขาไม่รู้เรื่องพืชสักเท่าไหร่ แต่เขามองว่าพืชไม่มีขาที่จะเคลื่อนไหวเหมือนสัตว์ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้

นาร์บีกลับไปทำงานต่อที่บ้าน ครุ่นคิดถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของพืช เขาพบว่า พืชเองก็เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ สัตว์มีระบบประสาทที่พัฒนามากกว่าพืช เพราะต้องหลีกหนีการตกเป็นเหยื่อจากผู้ล่า ในขณะที่พืชไม่จำเป็นต้องหนี และไม่จำเป็นต้องพัฒนาการระบบประสาทขึ้นมา ความสามารถในการเคลื่อนที่จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะตัดสินได้ว่าพืชไม่มีสติปัญญาเหมือนสัตว์

เมื่อค้นคว้าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์ ก็พบว่าสัตว์ชั้นต่ำที่ไม่มีวิวัฒนาการของสมองอย่างฟองน้ำ ก็มีความคล้ายคลึงกับพืชอยู่ค่อนข้างมาก พัฒนาขึ้นมาหน่อยก็เป็นไฮดรา ซึ่งมีสมองและระบบประสาทอยู่ใกล้ปาก ขยับขึ้นมาอีกนิด หนอนนีมาโทดก็มีระบบประสาทรับรู้ที่ไวมากต่อสิ่งแวดล้อม หอยทากแม้จะเคลื่อนไหวได้ช้า แต่ก็เป็นผู้ล่าที่ประสบความสำเร็จมาก หอยทากรับรู้โลกอย่างช้าๆ แต่ความเชื่องช้าไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับความโง่ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างปลาหมึกยักษ์ก็ได้รับการยอมรับว่ามีความเฉลียวฉลาดยิ่ง ส่วนวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นก็ดูจากสมอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอายุของสิ่งมีชีวิตโดยรวม มนุษย์ยังคงเป็นเผ่าพันธุ์ที่อายุน้อยมาก และหากความฉลาดทางปัญญาถูกนิยามไว้ว่าคือความสามารถในการตัดสินใจที่ถูกต้อง มีท่าทีต่อโลกและธรรมชาติอย่างเหมาะสม นาร์บีย้ำว่า มนุษย์คงต้องเรียนรู้อีกมาก

ในช่วงท้ายของหนังสือ นาร์บีเริ่มเดินทางไกลอีกครั้ง เพื่อพบปะกับประดานักวิทยาศาสตร์ในที่ต่างๆ โดยเริ่มจากศ. อันโธนี เทรวาวัส ประจำมหาวิทยาลัยเอดินบวร์ก ผู้เป็นสมาชิกของรอยัล โซไซเอที อันเก่าแก่ เทรวาวัสเพิ่มตีพิมพ์งานวิจัยว่าด้วยความฉลาดในพืช เขากล่าวว่าพืชมีเจตจำนง ตัดสินใจได้ และคำนวณได้ การเคลื่อนที่เป็นเพียงการแสดงออกของความฉลาดแต่ไม่ใช่ความฉลาด และความฉลาดของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีที่เราเป็นมนุษย์โฮโม ซาเปียน ซาเปียน หากแต่วิวัฒน์ขึ้นจากองค์ประกอบแห่งความมีชีวิตอื่นๆ

ตัวอย่างพฤติกรรมของพืชที่บ่งชี้ให้เห็นเจตจำนงก็คือ การจัดวางกิ่งก้านของต้นปาล์ม ซึ่งต้องคำนึงถึงปริมาณแสงที่จะได้รับ ต้นไม้ที่ยืดตัวออกไปรับแสง และหยั่งรากลงไปในดิน ก็ต้องคิดคำนวณถึงแรงดึงดูดและจุดศูนย์ถ่วงที่สมดุล ต้นด๊อดเดอร์ที่เป็นพืชกาฝาก สามารถเคลื่อนที่และตัดสินใจเลือกตำแหน่งที่จะได้รับอาหารมากที่สุด ส่วนการทดลองกับต้นยาสูบพบว่า ทันทีที่ได้รับการสัมผัส ต้นยาสูบก็ส่งสัญญาณทางเคมีทันที และทำให้ลำต้นหนาขึ้นโดยอัตโนมัติ เทรวาวัสยืนยันอย่างหนักแน่น ว่าสิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พืชสามารถเรียนรู้ มีความทรงจำ และตัดสินใจได้ แม้จะไม่มีสมองก็ตาม

จากยุโรป นาร์บีเดินทางไปอีกฟากหนึ่งของโลก เขาไปญี่ปุ่น และมุ่งหน้าไปที่ฮอกไกโด เพื่อพบกับโตชิยูกิ นาคากาคิ ผู้ซึ่งทำการทดลองอันน่าทึ่ง ว่าด้วยความฉลาดในสัตว์ชั้นต่ำ – ราเมือก - ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสัตว์เซลล์เดียวอย่างอมีบา ราเมือกไม่มีอวัยวะ ไม่มีสมอง แต่เมื่อนำราเมือกไปไว้ในหุบเขาวงกตอันซับซ้อน และวางอาหารไว้ที่ปลายสองข้างของทางออก ราเมือกสามารถยืดตัวไปยังอาหารทั้งสองฝั่ง และ - ใช้เส้นทางที่สั้นที่สุด!

นาคากาคิตั้งข้อสังเกตว่า ความแตกต่างระหว่างตะวันออกและตะวันตกน่าจะเกิดจากความเชื่อพื้นฐานทางวัฒนธรรม คริสต์ศาสนาหยั่งรากลึกในตะวันตก ส่วนญี่ปุ่นมีศาสนาชินโต ซึ่งว่าด้วยการเคารพเทพเจ้าในธรรมชาติ ในขณะที่ชาวตะวันตกไม่อาจทำใจเชื่อได้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่นนอกจากมนุษย์ก็มีความฉลาดได้ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ธรรมชาตินั้นมีจิตวิญญาณเสมอ ในญี่ปุ่นเองมีงานวิจัยที่เรียกว่า ชีเซ ซึ่งว่าด้วยการรู้ของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ อยู่มากมายทีเดียว

สำหรับนาคากาคินั้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีกลไกการประมวลผลข้อมูลในระดับจิตใต้สำนึก เขาเชื่อว่าราเมือกคิดคำนวณผ่านระดับจิตใต้สำนึกนี้ ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวของจิตสำนึกที่รับรู้ได้ปรกติ

นาร์บีปิดท้ายบทราเมือกด้วยคำถามว่า หากราเมือกยังมีความสามารถในการรู้ได้ แล้วสิ่งมีชีวิตประเภทไหนกันล่ะที่จะไม่มีความสามารถในการรู้เอาเสียเลย?

การเดินทางครั้งสุดท้ายไปจบลงที่มหาวิทยาลัยโยโกฮามา เคนทาโร อาริคาวา ศึกษาเรื่องผีเสื้อมากว่ายี่สิบห้าปี แม้ว่าจะตาบอดสี แต่งานวิจัยของเขาก็พบว่าผีเสื้อมีดวงตาและประสาทรับรู้เกี่ยวกับสี และแม้จะมีความรักในแมลงตั้งแต่เด็ก เขากลับมองว่าผีเสื้อก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรกลอันงดงาม เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของเครื่องจักรกล อันได้แก่ ร่างกายและสมอง ซึ่งไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน นาร์บีไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับความเห็นนี้

หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทาง นาร์บีกลับไปค้นคว้าเรื่อง ชีเซ อย่างขมักเขม้น สมองไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใต้กะโหลก ร่างกายเราสามารถส่งสัญญาณสม่ำเสมอไปยังสมอง ร่างกายของเรารับรู้ได้ก่อนที่เราจะคิด ในขณะที่มีการเรียนรู้และบันทึกความจำจะมีการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์สมองเสมอ อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ มนุษย์ยังไม่อาจรู้ได้ว่า อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของเราเกิดจากสมองได้อย่างไร

บทสรุปสุดท้ายของนาร์บี กล่าวย้อนไปถึงความรู้ของพ่อมดหมอผี ซึ่งกล่าวไว้นานแล้วว่า ธรรมชาติมีความฉลาดรู้ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจหลักของการค้นคว้าครั้งนี้ สรรพสิ่งในโลกกำลังวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา นาร์บีเองก็ยอมรับว่าตนเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย เขาเริ่มมองวิทยาศาสตร์ด้วยความเข้าใจแบบใหม่ มองเห็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใจกว้างมากขึ้น สายตาที่มองสิ่งมีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป เขารู้แล้วว่าสัญญาณที่เซลล์พืชส่งต่อให้กันเป็นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเซลล์สมองของตน มองเห็นต้นไม้ใบหญ้าที่รู้คิดตัดสินใจ เขาตื่นเต้นกับราเมือก ประทับใจกับหนอนนีมาโทด และในขณะขับรถ หากมีแมลงบินมาปะทะกับหน้ากระจก – ยิ่งรู้สึกมากเป็นพิเศษ

ความรู้แบบ ชีเซ ทำให้มองเห็นความเป็นมนุษย์ในสิ่งมีชีวิตอื่นมากขึ้น พลังชีวิตของสิ่งเหล่านี้ต่างโอบอุ้มโลกไว้ แม้ว่ามนุษย์จะได้รับพรพิเศษที่จะสั่งสมและส่งต่อความรู้ได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมพลังในการทำลายของตนไว้ อย่างมนุษย์อาจเรียนรู้จากธรรมชาติได้ เผ่าพันธุ์เรายังมีอายุน้อย และเราเพิ่งเริ่มที่จะทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้

บทบันทึกข้างท้ายมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ค่อนข้างครบถ้วน เหมาะแก่การเก็บรายละเอียด


หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจ ๒ ประเด็นหลัก

ประเด็นแรกก็คือ กระบวนการสืบค้นแบบมานุษยวิทยา ที่นำเสนอความรู้จากตัวบุคคลโดยไม่แยกตัวบุคคลออกจากความรู้ ในขณะที่สัมผัสกับงาน เราก็ได้ทำความรู้จักกับตัวบุคคล และสภาพแวดล้อมรอบตัวเขา การวางตัวเป็นกลางต่อความรู้ในทางมานุษยวิทยานั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และถือได้ว่า การรับคำท้าจากนักวิทยาศาสตร์ของนาร์บีแฝงไว้ด้วยการท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบอกว่า การเข้าถึงความรู้ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสมอไป

ประเด็นต่อมาก็คือ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่นาร์บีนำมาร้อยเรียงนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ยิ่ง ความฉลาดในพืชและสัตว์ ซึ่งแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกันนั้น เป็นเครื่องแสดงถึงความมีชีวิตจิตใจ และตอกย้ำความเป็นพี่น้องร่วมโลกเช่นเดียวกับมนุษย์ ราเมือกเป็นตัวอย่างอันน่าตื่นใจยิ่งของสัตว์เซลล์เดียวที่ไร้ซึ่งสมอง และเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่ว่าความฉลาดเกิดจากสมองอย่างเดียวมาเป็นการพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดโดยรวม จนเลยไปถึงเรื่องจิตใต้สำนึกในระดับเซลล์ ขยายเป็นอาณาจักรความรู้ใหม่ที่รอการค้นพบ

งานเขียนชิ้นนี้ทำให้ต้องมองธรรมชาติด้วยนัยน์ตาแบบใหม่ เป็นความทึ่ง และความเคารพ



เจเรมี นาร์บี นักมานุษยวิทยา และนักเขียน เติบโตในแคนาดาและสวิสเซอร์แลนด์ ร่ำเรียนทางประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนเตอร์เบอร์รี ก่อนไปคว้าด็อกเตอร์สาขามานุษยวิทยามาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ช่วงที่ทำงานวิจัยอยู่แถบป่าอเมซอน ได้ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างใกล้ชิดอยู่หลายปี เพื่อศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมจากชนพื้นเมือง ในจัดการทรัพยากรป่าฝนเขตร้อนอย่างชาญฉลาด เพื่อปกป้องระบบนิเวศน์ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นอกจากนี้ เขายังได้เรียนรู้จากพ่อมดหมอผีประจำเผ่า ว่าด้วยกระบวนการค้นคว้าหาความรู้แบบดั้งเดิมผ่านการสื่อสารกับธรรมชาติ ด้วยการใช้ยา“อาฮวสคา” เพื่อเข้าถึงนิมิตในระดับจิตใต้สำนึก และได้สังเคราะห์ออกมาเป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งเปิดมุมมองใหม่ทางชีววิทยา ภูมิปัญญาท้องถิ่น มานุษยวิทยา และข้อจำกัดของตรรกนิยม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เขาได้ทำงานร่วมกับองค์กรนูเวลล์ พลาเนต และทำงานวิจัยว่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งพยายามเรียงร้อยองค์ความรู้จากพ่อมดหมอผี นิเวศน์วิทยา มานุษยวิทยา ฯลฯ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังให้ทุนนักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยาในการเข้าไปพิสูจน์ความรู้ของพ่อมดหมอผีโดยให้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการดื่มยา “อาฮวสคา” ด้วยตนเอง

เขียนหนังสือสี่ห้าเล่ม เล่มแรก The Cosmic Serpent: DNA and the Origins of Knowledge ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกวงวิชาการ เล่ม Shamans Through Time: 500 Years on the Path to Knowledge เขียนร่วมกับฟรานซิส ฮักซ์เลย์ ในปีค.ศ. ๒๐๐๑

หนังสือ Intelligence in Nature ซึ่งตีพิมพ์ปี ค.ศ. ๒๐๐๕ ถือเป็นเล่มล่าสุดของเขา



0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home