วันจันทร์, ตุลาคม 12, 2552

ควอนตัมกับดอกบัว


ควอนตัมกับดอกบัว: การเดินทางสู่พรมแดนที่วิทยาศาสตร์และศาสนามาบรรจบ
  
ผู้แต่ง มาติเยอร์ ริการ์ และตริน ซวน ตวน
ตีพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๕๕
ประเภท บทสนทนา วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา
ภาษาไทยพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล


“ควอนตัมกับดอกบัว” เป็นหนังสือที่เขียนในลักษณะบันทึกบทสนทนาระหว่างมาติเยอ ริการ์ - นักบวชในพุทธศาสนา - ตัวแทนฝ่ายจิตวิญญาณ และตริน ซวน ตวน - นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ – ตัวแทนฝ่ายวิทยาศาสตร์ เนื้อหาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นคำถามหลักที่วงการวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยกำลังให้ความสนใจ ตั้งแต่กำเนิดของเอกภพ ปรากฎการณ์ในระดับอนุภาค เรื่องของเวลา ทฤษฎีโกลาหล ทฤษฎีผุดบังเกิด ปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงกระบวนทัศน์ในการมองโลก ความงาม ความจริง และการเข้าถึงความจริง - ถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนจากมุมมองของพุทธศาสนาสายทิเบตและวิทยาศาสตร์ที่มีสีสันและมีขอบเขตกว้างขวางทีเดียว

จะว่าไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. ๒๐๐๔ และช่วงนั้นก็มีหนังสือประเภท “วิทยาศาสตร์กับศาสนา” หรือ “วิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณ” ตีพิมพ์ออกมาแพร่หลายแล้วในตลาดหนังสืออเมริกาและยุโรป และที่โดดเด่นเห็นจะเป็นชุดหนังสือของสถาบันจิตและชีวิต Mind & Life Institute ซึ่งก่อตั้งโดยอดัม เองเกิล นักธุรกิจ และดร. ฟรานซิสโก วาเรลา นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง โดยเริ่มตั้งแต่การสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับทะไล ลามะ ในปีค.ศ. ๑๙๘๗

หนังสือทำนองนี้โดยมากจะเป็นการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับทะไล ลามะ หรือไม่ก็เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจและปฏิบัติภาวนาทางศาสนา แต่มีน้อยเล่มที่เป็นบทสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักบวช - เล่ม “ควอนตัมกับดอกบัว” เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

มาติเยอ ริการ์ เป็นนักชีววิทยาโมเลกุล เคยทำงานในสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกในกรุงปารีส ต่อมาหันเหชีวิตมาศึกษาพุทธธรรมและออกบวชเป็นพระภิกษุสายทิเบต ศึกษาธรรมะและเป็นล่ามแปลให้กับทะไล ลามะที่วัดเชเชน ใกล้เมืองกาฏมัณฑุ ในเนปาล หลวงพ่อมาติเยอเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านในเมืองไทยบ้างแล้ว จากหนังสือสองเล่ม คือ “ภิกษุกับนักปรัชญา” โดยสำนักพิมพ์ออร์คิด และ “ความสุข: คู่มือพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญที่สุด” โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

ตริน ซวน ฮวน เกิดในครอบครัวชาวพุทธเวียดนาม เติบโตและทำงานสายวิทยาศาสตร์ อาชีพนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และเป็นผู้ชำนาญการและค้นคว้าเกี่ยวกับกำเนิดเอกภพ เขายังเป็นนักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับคนทั่วไปที่ได้รับความนิยมและขายดิบขายดีอีกหลายเล่ม ต้นฉบับทั้งหมดเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่ายี่สิบภาษา

บทแรกของหนังสือเล่มนี้ได้ปูพื้นเกี่ยวกับพื้นภูมิของผู้เขียนทั้งสอง ก่อนจะวางเข็มทิศของการสนทนาให้ผู้อ่านรับรู้ว่าเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายที่แตกต่างกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา แต่ก็มีจุดร่วมกันในการแสวงหาความจริง และทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาจะช่วยเติมเต็มความรู้ความเข้าใจของมนุษย์อย่างไรได้บ้าง ในที่นี้ ผู้เขียนทั้งสองท่านเห็นร่วมกันว่า ข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ก็คือสนใจแต่ความรู้ แต่ไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของมนุษย์ เป็นต้นว่า ความสุข จริยธรรม อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความชั่วร้าย แต่ความชั่วร้ายอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ ส่วนศาสนานั้นสนใจเรื่องการบ่มเพาะความกรุณา และการยกระดับจิตวิญญาณ และการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และศาสนาน่าจะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้สมบูรณ์ขึ้น

บทที่สองและสามว่าด้วยปัญหากำเนิดเอกภพ และดูเหมือนจะมีความขัดแย้งมากในทัศนะเรื่องการมีจุดเริ่มต้นหรือปฐมเหตุ (ผู้สร้าง) ตามทัศนะของฝ่ายวิทยาศาสตร์ และการไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ตามทัศนะของฝ่ายพุทธศาสนา ซึ่งหลวงพ่อมาติเยอเชื้อเชิญให้พิจารณาว่า ทัศนะที่ต่างกันนี้อาจจะเกิดจากโลกทัศน์ทางปรัชญาที่กำกับอยู่ และปัญหาเรื่องกำเนิดเอกภพน่าจะเป็นคำถามทางปรัชญามากกว่าทางวิทยาศาสตร์ เพราะฐานปรัชญาที่แตกต่างก็นำมาสู่ทฤษฎีที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีบิ๊กแบง ทฤษฎีเอกภพคู่ขนาน ทฤษฎีเอกภพเกิด-ดับ และที่สำคัญที่สุดก็คือเจตจำนงของเอกภพ ดูเหมือนว่าหลักเหตุปัจจัย(ปฏิจจสมุปบาท) เป็นหลักของพุทธศาสนาที่มั่นคงมากในการพิจารณาสิ่งต่างๆ รวมทั้งทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ หากคำอธิบายทฤษฎีนั้นขัดแย้งกับหลักเหตุปัจจัยแล้วทางพุทธก็ปฏิเสธที่จะเห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมหน้า ๔๑)

บทที่สี่ ห้า และหกใช้ปรากฎการณ์ระดับอนุภาคเป็นประเด็นหลักในการพูดคุย และพบว่ามีความสอดคล้องอยู่มากระหว่างหลักปฏิจจสมุปบาทและฟิสิกส์ควอนตัม นั่นคือ ตามทฤษฎีควอนตัม วัตถุและปรากฏการณ์นั้นเป็นสิ่งที่แบ่งแยกออกจากกันไม่ได้ และสรรพสิ่งอิงอาศัยกันทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค ดังการทดลอง EPR (แยกอนุภาคออกเป็นสองโฟตอน คือ a และ b แล้วพบว่าการเครื่อนไหวของ a จะสมมาตรกับ b เสมอ และไม่อาจอธิบายได้ว่าโฟตอนทั้งสองสื่อสารกันอย่างไรด้วยความเร็วมากกว่าแสง) และลูกตุ้มของฟูโกต์ (แขวนลูกตุ้มจากเพดานโบสถ์สูง เมื่อเวลาผ่านไป ลูกตุ้มจะเปลี่ยนแปลงทิศทางการแกว่ง ซึ่งพิสูจน์ว่าโลกกำลังหมุนรอบแกนตัวเอง) ปรากฎการณ์เหล่านี้แม้ทางวิทยาศาสตร์จะยังไม่อาจหาคำอธิบายได้ทั้งหมด และเรียกสิ่งที่ยังไม่ทราบว่า “ความจริงที่ถูกปิดบัง” แต่ทางพุทธนั้นมองว่าเหตุปัจจัยที่ยังไม่ทราบและระบุได้นั้นก็เป็นเพียงปฏิสัมพันธ์ของเหตุการณ์เท่านั้น ทัศนะทั้งพุทธและฟิสิกส์มีมุมมองที่ไม่แตกต่างกันในส่วนของอนุภาคมูลฐาน หากแต่พุทธยืนยันว่าความรู้ความเข้าใจตามแบบพุทธนั้นจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีในการรับรู้ความจริงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังเช่น การมองเห็นอนิจจังของโปรตรอน และทฤษฎีสตริง ความรู้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ตามทัศนะของฟิสิกส์นั้น สำหรับพุทธแล้วคือการผนวกเอาความรู้นี้เข้ากับการมองโลกและชีวิต เพื่อลดการยึดมั่นถือมั่น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในอย่างแท้จริง

บทที่เจ็ดและแปดพูดคุยเกี่ยวกับการรับรู้โลกผ่านกระบวนทัศน์แบบควอนตัม ว่าด้วยเรื่องของ “ความจริง” และ “เวลา” ทั้งนี้ ความจริงในทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นไปในระดับ “สมมติสัจจะ” ซึ่งจะต้องถูกวัด สังเกต และสื่อสารได้ในหมู่มนุษย์ หากแต่ปรมัตถสัจจะนั้นอยู่พ้นความคิดและถ้อยคำ ส่วนทัศนะเรื่องเวลานั้น พุทธมองว่าเป็นเรื่องสมมติ พ้นไปจากการมาและการไป พ้นไปจากความมีและไม่มี ปราศจากจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด และสนใจเฉพาะปัจจุบันขณะที่สดใหม่ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาตะวันตกมีแนวคิดเรื่องเวลาที่แตกต่างออกไป

บทที่เก้า สิบ และสิบเอ็ด กล่าวถึงองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังอยู่ในความสนใจ โดยเริ่มจากทฤษฎีความซับซ้อนและความโกลาหล ทฤษฎีผุดบังเกิด และปัญญาประดิษฐ์ที่ครอบคลุมความรู้ทางด้านประสาทและสมอง ทฤษฎีความซับซ้อนและความโกลาหลนั้นสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสายโซ่แห่งเหตุและผล แต่ขัดแย้งกับแนวคิดเชิงเส้นตรง ทฤษฎีผุดบังเกิดที่ใช้ในการอธิบายกำเนิดของชีวิตและจิตสำนึกนั้นดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับทางพุทธโดยเฉพาะในส่วนของการผุดบังเกิดจากปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนมหาศาลของเหตุปัจจัยต่างๆ แต่ก็ยังไม่สอดคล้องลงตัวดีนักในทัศนะว่าด้วยความต่อเนื่องจากจิตตามแนวคิดแบบพุทธ ที่ขัดแย้งกับการผุดบังเกิดของชีวิตจากสิ่งไม่มีชีวิต และการผุดบังเกิดของจิตสำนึกจากปฏิสัมพันธ์เหล่านั้น ในส่วนของปัญญาประดิษฐ์นั้นผู้เขียนทั้งสองเห็นร่วมกันว่าการศึกษาเรื่องจิตสำนึกในระดับสมองนั้นดูเหมือนจะผิดทาง และหลวงพ่อมาติเยอยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามีเพียงศาสตร์แห่งสมาธิภาวนาเท่านั้นที่จะนำไปสู่การศึกษาจิตสำนึกและเปลี่ยนแปลงการทำงานของจิตใจได้

บทที่สิบสอง สิบสาม และสิบสี่ ออกจะเน้นมุมมองเชิงปรัชญาของฝั่งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาที่มีต่อกฎธรรมชาติ ตรรกะ และความงาม สำหรับพุทธแล้วจิตกับโลกไม่อาจแยกออกจากกันได้ โลกและปรากฎการณ์เกิดจากการรับรู้และเป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณิตศาสตร์จะอธิบายธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับกวีที่สัมผัสรับรู้ความผสานสอดคล้องภายในกับปรากฎการณ์ออกมาเป็นความงาม และเช่นเดียวกับนักปฏิบัติภาวนาที่ฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ส่วนตรรกะที่เป็นเครื่องมือเข้าถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นก็พบว่าตนเองก็มีข้อจำกัด ดังที่ทฤษฎีความไม่สมบูรณ์ของเกอเดล ฉะนั้น การฝึกฝนทางจิตที่เป็นการศึกษาแบบอัตวิสัยจะช่วยให้เข้าถึงความจริงที่พ้นไปจากการใช้ตรรกะได้ แต่ต้องอาศัยความเพียรและอดทน และท้ายสุดตวนชวนคุยเรื่องความงาม แต่หลวงพ่อมาติเยอก็ชี้ให้เห็นว่าการับรู้เรื่องความงามในเชิงสมมติสัจจะนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามภูมิหลังของแต่ละบุคคลและวัฒนธรรม และสำหรับนักบวชผู้รู้แจ้งย่อมไม่เห็นความแตกต่างระหว่างความงามและความน่าเกลียด หากแต่มองเห็นความงามในทุกที่และดำรงอยู่ในความปิติสุขตลอดเวลา

บทสุดท้ายนั้นหลวงพ่อมาติเยอชี้แจงว่า การภาวนาไม่ได้หมายถึงการหมกมุ่นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภายใน หากแต่หมายถึงการอุทิศตนเพื่อผู้อื่นด้วย การภาวนาไม่ได้หมายถึงการปลีกวิเวกไปอยู่ป่าเขาเช่นเดียวกับเหล่านกกา ขณะเดียวกันนักภาวนาย่อมไม่อาจช่วยเหลือผู้อื่นได้หากไม่เข้าใจกลไกของความสุขและความทุกข์ในตนเองอย่างแท้จริง และในตอนท้ายท่านยืนยันว่า การเป็นมนุษย์ที่ดีนั้นจำเป็นยิ่งกว่าการเป็นศาสนิกชน การพัฒนาทางจิตวิญญาณซึ่งให้คุณค่ากับจริยธรรมที่ช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในนั้นเป็นเรื่องจำเป็นนอกเหนือจากการศึกษาทางโลก เรื่องทางจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องที่ควรจะจำกัดอยู่เฉพาะคนที่ปฏิบัติภาวนา และความรู้เชิงทฤษฎีไม่อาจนำพาเราไปสู่แก่นแท้ของชีวิตได้เลย

บทสรุปของพระและนักวิทยาศาสตร์นั้นแสดงมุมมองของทั้งสองฝ่ายว่ามองเห็นความเหมือนและแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ทั้งสองเห็นร่วมกันว่ามนุษย์จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางจิตวิญญาณในการเข้าถึงความหมายของมนุษย์ที่สมบูรณ์

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหนาทีเดียวในฉบับภาษาไทย บางบทอ่านเข้าใจได้ยาก หากไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง ก็คงต้องเลือกอ่านแบบข้าม-ข้าม และจะว่าไปแล้วบทที่สิบสองถึงสิบสี่นั้นหากไม่มีก็ไม่น่าจะเป็นไร เพราะการสนทนาตลอดทั้งเล่มดูเหมือนจะได้ความเห็นตรงกันในภาพรวมว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันในเรื่องควอนตัม ต่างกันในเรื่องของกำเนิดเอกภพ และแนวทางการศึกษาเรื่องจิต

ประเด็นขัดแย้งเรื่องกำเนิดเอกภพนั้นน่าสนใจ เนื่องจากเมืองไทยรู้จักแต่ทฤษฎีบิ๊กแบง ทั้งที่ทฤษฎีว่าด้วยกำเนิดเอกภพของฝรั่งนั้นมีหลายแบบ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนถึงปรัชญาเบื้องหลังความเชื่อนั้น นั่นคือ ทัศนะทางวิทยาศาสตร์ก็อยู่ในบริบทแบบปรัชญาตะวันตกว่าด้วยพระเจ้าผู้สร้างและแนวคิดเชิงเส้นตรง ส่วนทัศนะแบบพุทธก็อยู่ในบริบทแบบปรัชญาตะวันออกที่ว่าด้วยวัฏจักรแห่งการเกิดดับและแนวคิดอันปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบ

ประเด็นเรื่องจิตผู้รู้หรือจิตสำนึกนั้น ทางวิทยาศาสตร์ยังขาดคำอธิบายมาก อาจจะเป็นเพราะตวนเป็นนักฟิสิกส์ ไม่ถนัดเรื่องนี้มากนัก แต่น่าจะชวนคุยในเชิงปรัชญาได้ และดูเหมือนทางพุทธจะมีองค์ความรู้ในการอธิบายเรื่องนี้มากกว่า หากแต่ยังขาดการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบยืนยัน และเป็นไปได้ว่ายังขัดแย้งในหลักการศึกษา เพราะวิทยาศาสตร์เน้นความเป็น “ภววิสัย” ในขณะที่การปฏิบัติทางจิตภาวนาเป็น “อัตวิสัย”

สิ่งที่พึงตระหนักก็คือ ทัศนะทางศาสนาในที่นี้คือ พุทธศาสนาแบบทิเบต สายมัธยมิก ไม่ได้หมายถึงพุทธศาสนาทั้งหมด ส่วนทัศนะทางวิทยาศาสตร์ในที่นี้คือ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ไม่ได้หมายถึงวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ฉะนั้น บทสนทนานี้จึงสะท้อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “บางส่วน” ระหว่างวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา – ไม่ได้หมายถึงว่าบทสรุปของพระและนักวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นบทสรุปของวิทยาศาสตร์และศาสนาโดยรวม

อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ในบริบทของสังคมตะวันตกนั้น หนังสือเล่มนี้มีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็นหนังสือที่เผยแผ่ประชาสัมพันธ์พุทธศาสนา แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะพอตรวจสอบได้ ไม่วางตนว่าพุทธ “เหนือ” กว่าวิทยาศาสตร์

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้เห็นจะเป็นที่ มีการยืนยันว่า “ความต่าง” ที่ชัดเจนนั้นเป็นอย่างไร ต่างกับไดอะล็อกหรือบทสนทนาอื่นที่เน้นการประนีประนอมจนเกินเหตุ เหมาให้ทุกอย่างเหมือนกันไปหมด และกลายเป็นสามัคคีศาสตร์ไปจนหมด

3 ความคิดเห็นที่:

At 3:12 หลังเที่ยง, Blogger Unknown กล่าวไว้ ...

ผมอยากทราบว่าทางสำนักพิมพ์เลิกจัดพิมพ์แล้วหรือครับ ผมไปหาซื้อที่ไหน ๆ ก็ไม่มีเลยครับ

 
At 12:17 ก่อนเที่ยง, Blogger Unknown กล่าวไว้ ...

ที่ มหาลัยเชียงใหม่มีเล่มหนึ่ง วันนี้หายืมมันมีคนยืมไปแล้ว มีแค่เล่มเดียวอะ ต้องรอให้เขามาคืนก่อน

 
At 9:55 หลังเที่ยง, Blogger Rom Sakura กล่าวไว้ ...

อยากอ่านมากๆเลยครับ!!! หาอ่านยากมาก

 

แสดงความคิดเห็น

<< Home