ปัญญาญาณแห่งการอภัย
ผู้แต่ง วิกเตอร์ ชาน และทะไล ลามะ
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๗
ประเภท บทสัมภาษณ์ สารคดี จิตวิญญาณ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ริเวอร์เฮด
แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล
ออกจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะสามารถรักษาความร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยความกรุณาแม้แต่ผู้ที่เป็นศัตรูของตน ตลอดเวลาที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองมารดรของตนมากว่า ๔๕ ปี แต่ทะไล ลามะ ผู้นำทางการเมืองและจิตวิญญาณของชาวทิเบต ก็เป็นพยานยืนยันอย่างดีต่อโลก ว่ามีแต่หนทางของสันติวิธีเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า แม้ความรู้ยิ่งใหญ่มหาศาลก็อาจนำมนุษยชาติไปสู่หายนะได้หากปราศจากหัวใจที่ดีงาม ดังที่เหตุการณ์ ๑๑ กันยา และสงครามทั้งหลายแหล่ ก็เป็นประจักษ์พยานของการใช้ความรู้ในการประหัตประหารสรรพชีวิตอย่างไร้หัวจิตหัวใจ
หนังสือ The Wisdom of Forgiveness : Intimate Conversations and Journeys เป็นความพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของปัญญาญาณในพุทธศาสนา ที่นำไปสู่การไม่ถือโกรธและให้อภัย จากตัวอย่างที่มีชีวิตในยุคสมัยของเรา – ทะไล ลามะ - ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. ๑๙๘๙
วิกเตอร์ ชาน นักเขียนเชื้อสายจีนมีความสนิทสนมชิดเชื้อกับทะไล ลามะ มากว่าสามสิบปี เขาเริ่มสัมภาษณ์พระองค์ท่านตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ได้เข้าพบใกล้ชิด และเดินทางร่วมกับพระองค์ไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นหนังสือเล่มนี้
เนื้อหาหนังสือแบ่งเป็น ๒๐ บท แต่ละบทไม่ยาวนัก เน้นการเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์และบทสนทนาต่างๆ ผ่านมุมมองอันหลากหลาย เพื่ออธิบายบุคลิกและลักษณะนิสัยใจคอของผู้นำทางจิตวิญญาณท่านนี้ ตลอดจนแง่มุมความคิดและการฝึกฝนปฏิบัติของพระองค์ ที่นำไปสู่ความไม่โกรธและการให้อภัย
ในบทเริ่มต้นของหนังสือ ชานบรรยายภาพของทะไล ลามะ เมื่อปรากฎต่อฝูงชน ทั้งกองทัพนักข่าวและผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาหลากชาติพันธุ์จำนวนมหาศาล ว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและความเมตตา ครั้นถามถึงเหตุที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นนิยมชมชื่นในตัวท่าน ทะไล ลามะก็ให้คำอธิบายว่า อาจจะเป็นเพราะท่านมองโลกในแง่ดี และมองเห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์ร่วมเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน ตัวท่านเองนั้นแม้จะหัวเราะเสียงดังบ่อยครั้ง แต่ก็มีอารมณ์เศร้าได้บ้างในบางที หากก็อยู่ไม่นานนัก เปรียบกับมหาสมุทร ที่มีคลื่นกระเพื่อมอยู่ด้านบน แต่ภายในข้างใต้กลับสงบนิ่ง และคุณสมบัติในข้อนี้เองก็ได้รับการยืนยันจากสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ซึ่งกล่าวว่า ทะไล ลามะทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกยินดีต่อการเป็นมนุษย์
ชานเองก็มีความประทับใจในตัวทะไล ลามะมาก นับตั้งแต่พบกันครั้งแรกเมื่อเขายังเป็นคนหนุ่ม เพิ่งทุลักทุเลจากการถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองคาบุล อัฟกานิสถาน หลังจากหนีออกมาได้พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสองคน หนึ่งในนั้นสมาทานพุทธทิเบต เขาจึงได้มีโอกาสเข้าพบท่าน และตั้งคำถามอันอาจหาญ “ท่านเกลียดคนจีนไหม?”
ทะไล ลามะ ในวัย ๓๗ ปี ขณะนั้น ยังหนุ่มคะนองนัก ทั้งยังหัวเราะไม่หยุด ตั้งแต่เห็นชานในเครื่องแต่งกายเป็นฮิปปี้มาเข้าพบ ครั้นได้ยินคำถามดังกล่าวก็จ้องมองหน้าชานเขม็งก่อนตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่” ก่อนขยายความว่า แม้ชาวทิเบตจะถูกกระทำย่ำยี ชาวจีนก็ยังเป็นเพื่อนอยู่เสมอ ทิเบตมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลจีนคอมนิวนิสต์เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำนั้น เป็นสิ่งที่ชาวทิเบตอภัยให้ได้
คำตอบที่ได้รับในครั้งนั้นประทับจิตประทับใจชานอยู่เสมอ เขาเริ่มสนใจทิเบตมากขึ้น จากเดิมที่เกิดและโตในฮ่องกง ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่รู้เรื่องทิเบตน้อยมาก รู้จักแต่เพียงลามะทิเบตที่เก่งกล้าสามารถจากนิยายของกิมย้งเท่านั้น ทั้งนิยายกำลังภายในก็เต็มไปด้วยเรื่องของการแก้แค้น ชานกลายเป็นนักวิจัยเรื่องทิเบต ใช้เวลาเดินทางไปทิเบตนับสิบครั้ง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับทิเบตเล่มหนาเตอะ
ในการเขียนหนังสือร่วมกับทะไล ลามะ เล่มนี้ เขาได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าพบทะไล ลามะ ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งการตื่นขึ้นมาภาวนาเพื่อนั่งสมาธิและทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ในตำหนักส่วนพระองค์ ชานได้บรรยายกิจวัตรประจำวันของทะไล ลามะไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีชั่วโมงทำงานค่อนข้างรัดตัวและต้องเดินทางบ่อยครั้ง ทะไล ลามะกลับมีใบหน้าอ่อนเยาว์ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการบำเพ็ญภาวนาไม่ยึดติดในอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการละเว้นจากความโกรธ อันมีพื้นฐานมาจากการตระหนักรู้ในโทษของอารมณ์ด้านลบ ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้
จากนั้น ชานได้นำพาเราไปพบกับเรื่องราวของผู้คนที่ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีที่พ้นไปจากความโกรธแค้น ไม่ว่าจะเป็น โลปอน-ลา พระทิเบตที่ถูกเจ้าหน้าที่จีนจับไปทรมานและอยู่ในคุกยี่สิบปี ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มที่ตาบอดตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เพราะถูกยิงด้วยกระสุนยางจากทหารควบคุมจราจลเข้าที่ตาขวา และสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ผู้เคยรับฟังเรื่องราวจากเหยื่อของการเหยียดผิวสองหมื่นกว่าคน เพื่อเยียวยาและสมานฉันท์บาดแผลในประเทศอาฟริกาใต้ และแม้กระทั่งทะไล ลามะเอง ก็ต้องฝึกปฏิบัติภาวนาอย่างหนักหน่วงเพื่อลดความโกรธเกลียด และเพิ่มพูนความกรุณา
เรื่องเล่าแห่งความกรุณาของทะไล ลามะ ที่โดดเด่นยิ่ง เห็นจะเป็นเรื่องแถลงการณ์ประนามรัฐบาลจีนต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เทียน อัน เหมิน ซึ่งนักศึกษาจีนถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ณ เวลานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กำลังจะมีการเจรจาระหว่างจีนและทิเบต ในโอกาสอันงามที่หาได้ยากเช่นนี้ ทะไล ลามะได้เลือกที่จะปกป้องรักษาสิทธิในอิสรภาพและประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนมากกว่าความหวังของชนชาติทิเบตเอง และแม้ในการเดินทางมายุโรปครั้งแรก ในการพูดปาฐกถาต่างๆ ก็มีถ้อยคำน้อยมากที่กล่าวถึงทิเบต หากพูดถึงแต่เรื่องของความกรุณา การมีหัวใจดีงาม และความรู้สึกรับผิดชอบโดยรวม ครั้นถูกที่ปรึกษาติติง ท่านก็ให้เหตุผลว่า ผู้คนเหล่านี้ล้วนมีปัญหาของตนเองหนักหนาพออยู่แล้ว และก็หวังว่าท่านจะช่วยได้ ท่านจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มภาระของท่านให้กับผู้อื่นได้อีก
ความกรุณาของอวตารแห่งองค์พระโพธิสัตว์อันปราศจากขอบเขตนี้ดูเหมือนจะเป็นภาพพจน์ที่ผิดไปจากความเข้าใจของชาวจีนโดยมากทีเดียว จะมีข้อยกเว้นก็แต่ปัญญาชนจีนที่ปราศจากอคติและได้มีโอกาสได้พบปะกับทะไล ลามะโดยตรง ซึ่งต่างก็ยกย่องให้ความเป็นผู้มีกรุณาของพระองค์
เรื่องที่ว่าด้วยความกรุณาอีกเรื่องก็คือ ชายหนุ่มตาบอดผู้หนึ่งได้ขายบ้านเรือนเดินทางมากับแม่ผู้ชรา ผ่านทิเบต เนปาล อินเดีย เพื่อมาเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ในพิธีกาลจักร ท่านมองเห็นชายหนุ่มผู้นี้กับแม่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ก็ได้เข้าไปทักทายไต่ถาม เมื่อทราบเรื่องก็ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์หลวง และในเวลาไม่นานก็ได้รับทราบว่ามีพระทิเบตอีกรูปได้แสดงความประสงค์ที่จะอุทิศดวงตาให้อีกข้าง โดยพร้อมที่จะผ่าตัดมอบดวงตาให้ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ชานค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจกับน้ำใจไมตรีดังกล่าวมากทีเดียว
การปฏิบัติภาวนาของทะไล ลามะ ที่นำไปสู่การให้อภัยนั้นตั้งอยู่บนฐานของความกรุณาและการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งผ่านการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
ท่านเล่าว่า เริ่มฝึกปฏิบัติความกรุณาบนวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ตั้งแต่อายุสามสิบสองปี และมองว่าความกรุณานั้นเป็นวิธีการ ซึ่งเปรียบได้กับการนวดดินเหนียวให้นุ่ม ส่วนการพิจารณาเรื่องความว่างนั้นนำไปสู่ปัญญา เปรียบได้กับการขึ้นรูปดิน การปฏิบัติภาวนาสองเรื่องควบคู่กันไปนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอย่างยิ่งยวด
ในวิถีพุทธนั้นเชื่อว่าสรรพสิ่งต่างถูกร้อยโยงเข้าไว้ด้วยกัน ประดุจดังตาข่ายของอินทรเทพ การกระทำหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก หากเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ย่อมเข้าใจเหตุแห่งความรุนแรงต่างๆ ในโลกได้ ว่าทุกคนก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การขจัดความรุนแรงบนโลกก็คือการหลีกเลี่ยงความรุนแรงภายในตัวเรานั่นเอง
เรื่องที่ออกจะดูยุ่งยากสำหรับชาวตะวันตกเห็นจะเป็นการทำความเข้าใจเรื่องความว่าง หรือ อนัตตา ชานก็ยอมรับว่าเขาไม่อาจเป็นลูกศิษย์ที่ดีนักของทะไล ลามะในเรื่องนี้
ปรกติแล้วผู้ปฏิบัติธรรมมักไม่ค่อยเล่าประสบการณ์การภาวนาให้ผู้อื่นฟังนัก ดังกรณีที่นักภาวนาสายขงจื๊อได้เอ่ยถามทะไล ลามะขึ้นมาครั้งหนึ่ง หากแต่ท่านก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบ อย่างไรก็ดีชานก็มีโอกาสรับฟังจากทะไล ลามะ ถึงภาวะในการภาวนาครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดค่อนข้างมาก และน่าสนใจทีเดียว
ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางร่วมกัน ชานได้ติดตามทะไล ลามะไปร่วมประกอบพิธีกาลจักรที่เมืองโพธิคยา ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญของชาวพุทธทิเบต แต่การณ์กลับเป็นว่า ท่านเกิดป่วยขึ้นมากระทันหัน และป่วยหนักเสียจนไม่อาจทำพิธิได้ ชานไม่ได้พบท่านอีกเลยถึงสองเดือนหลังจากนั้น เมื่อพบกันในภายหลัง ท่านก็เล่าว่าขณะที่ป่วยนั้น ระหว่างที่เดินทางไปโรงพยาบาล ท่านเห็นภาพผู้คนที่ทุกข์ยากอยู่ข้างทางไม่ได้รับการเหลียวแล ต่างจากท่านอย่างมาก ดังนั้น แม้จะมีความทรมานทางกาย แต่ท่านก็มีความเบิกบานทางธรรมมาก และมองว่าความเจ็บป่วยเป็นครูทางจิตวิญญาณที่ดี
ก่อนสิ้นสุดการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ทะไล ลามะได้เปลี่ยนบทจากผู้ถูกถามมาเป็นผู้ถามบ้าง โดยถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของชาน ซึ่งเขาก็ตอบอย่างซื่อๆ ว่า อย่างน้อยเขารู้สึกว่าตัวเองน่าจะเป็นตัวแบบที่ดีให้กับลูกได้บ้าง
ในตอนท้ายของหนังสือ ชานได้ชี้ให้เห็นภาวะทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับทางกายอย่างเด่นชัด ซึ่งก็คือสุขภาพหัวใจของทะไล ลามะ ที่แข็งแรงเหมือนกับเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปี ซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตเรียบง่ายและการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งจนเข้าถึงความสงบทางใจ และแม้แต่ความโกรธก็ไม่อาจเข้ามากร้ำกรายทำลายความสงบภายในได้เลย
หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอวิถีการปฏิบัติแบบพุทธที่นำไปสู่การให้อภัย แม้จะไม่ใช่ลักษณะของคู่มือการให้อภัยแบบสำเร็จรูป แต่ก็ประสบผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องนามธรรมผ่านรูปธรรมของเหตุการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ
เรื่องเล่าว่าด้วยความกรุณาทั้งหลาย ทั้งของทะไล ลามะเอง หรือของผู้อื่น นั้นดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยปัจจุบัน ลำดับขั้นของความกรุณาก็ดูจะแตกต่างกันไป ทำให้เห็นว่าความกรุณาอันล้นพ้นประมาณปราศจากขอบเขตนั้นย่อมอยู่เหนือตัวตนออกไป
ประเด็นหลักของหนังสือนั้นอยู่ที่มรรควิธีที่นำไปสู่การให้อภัย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกรุณาและการพิจารณามองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง วิธีปฏิบัติที่นำไปสู่จุดหมายทั้งสองประการนั้นปรากฎอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตอย่างค่อนข้างเด่นชัด หนังสือไม่ได้เสนอภาพของวีรบุรุษผู้อาจหาญ หรือความเคร่งครัดสำรวมของนักบวช หากแต่เสนอความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เป็นความติดดินอันแสนธรรมดา และนี่เอง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ปุถุชนอย่างเราท่านรู้สึกและเชื่อมั่นในตนเองได้มากขึ้น ว่าหนทางที่ปราศจากความโกรธเกลียด พ้นไปจากอารมณ์ด้านลบ เข้าถึงความสุขที่แท้ มีความสงบทางใจ ด้วยการอุทิศตนเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน
วิกเตอร์ ชาน เกิดและเติบโตในฮ่องกง ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อที่แคนาดาสาขาฟิสิกส์ แต่ชีวิตก็หักเหไปเมื่อถูกลักพาตัวที่คาบุล พร้อมกับเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน เมื่อหนีออกมาได้ ก็มีโอกาสพบกับทะไล ลามะ ความประทับใจที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเป็นเครื่องเร้าให้เขาสนใจทิเบต และเขียนหนังสือ Tibetan Handbook: A Pilgrimage Guide ซึ่งหนากว่าพันหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างชานและทะไล ลามะนั้นถือว่าอยู่ในระดับใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเริ่มเขียน The Wisdom of Forgiveness: Intimate Conversations and Journeys ซึ่งนอกจากจะบรรยายภาพทะไล ลามะอย่างค่อนข้างละเอียดชัดเจนแล้ว ยังทำให้เห็นมิตรภาพระหว่างเขากับผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตที่น่าสนใจยิ่ง
ปัจจุบันเขาประจำอยู่ที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย
ปัญญาญาณแห่งการอภัย : บทสนทนาและการเดินทางเปี่ยมมิตรภาพ
ทะไลลามะ และวิกเตอร์ ชาน เขียน / สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ขนาด ๑๖ หน้ายกพิเศษ ๒๕๒ หน้า
0 ความคิดเห็นที่:
แสดงความคิดเห็น
<< Home