วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 09, 2550

Cradle to Cradle

Cradle to Cradle : Remaking the Way We Make Things
ผู้แต่ง วิลเลียม แม็คโดนาฟ และ มิคาเอล บราวน์การ์ต
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ประเภท สิ่งแวดล้อม การออกแบบ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์นอร์ท พอยท์ เพรส
แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล


ภาพชีวิตปัจจุบันที่ดูสงบ สะดวกสบาย และปลอดภัยนั้น เมื่อมองลงไปให้ดี เก้าอี้ที่เรานั่งล้วนปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี โลหะหนัก วัสดุและเส้นใยอันตราย ที่ทางโรงงานมักจะแถมมาให้ลูกค้าโดยไม่ได้ร้องขอ คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ประกอบไปด้วยกาซพิษ โลหะพิษ กรด พลาสติก และวัสดุอันตรายอื่น ฝุ่นผงจากหมึกพิมพ์ก็ประกอบไปด้วยโคบอลต์ สารตะกั่ว และปรอท แม้กระทั่งของใช้ที่ดูไม่ซับซ้อน อย่างรองเท้าที่สวมใส่ ก็อาจจะผลิตจากโรงงานในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมิได้มีมาตการป้องกันความเจ็บป่วยจากการทำงาน ให้กับคนงาน ที่เป็นแรงงานราคาถูก – เราแน่ใจล่ะหรือว่า นี่คือชีวิตที่สบาย ปลอดภัย และไม่ได้เบียดเบียนใคร?

การมีวิถีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมมิได้หมายถึง การเป็นปฏิปักษ์กับแนวทางพัฒนา เราย่อมรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อมๆ กับการมีโรงงานอุตสาหกรรม แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต ที่ทำร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมและเบียดเบียนผู้อื่น – ทำอย่างไรเราจึงจะมีโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้วัสดุเป็นพิษน้อยลง และสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด? ทำอย่างไรไม่ให้เกิดขยะขึ้นเลย ในกระบวนการผลิตและบริโภค? ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนการผลิตแบบ “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” ไปสู่รูปแบบของ “จากครรภ์มารดาสู่ครรภ์มารดา”
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน อย่างน้อยสถาปนิกนักออกแบบอย่างวิลเลียม แม็คโดนาฟ และนักวิทยาศาสตร์อย่างมิคาเอล บราวน์การ์ต ก็ได้พิสูจน์ให้โลกเห็น เมื่อพวกเขาได้ร่วมมือกันพลิกฐานราก วิธีการผลิตของบรรษัทอุตสาหกรรมหลายแห่ง เป็นต้นว่า ผู้ผลิตรถยนต์อย่างฟอร์ดมอเตอร์ ผู้ผลิตสีอย่างดูปองต์ ผู้ผลิตสบู่รายใหญ่ในยุโรป ให้เป็นไปในลักษณะที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมโลก และลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา ให้มากที่สุด
แนวคิดการผลิตแบบ “จากครรภ์มารดาสู่ครรภ์มารดา” ได้กลายมาเป็นชื่อหนังสือ Cradle to Cradle: Remaking the Way We Make Things หนังสือที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และกระบวนทัศน์ใหม่ ในการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในขณะนี้

หนังสือหนาราว ๒๐๐ หน้าเล่มนี้ แม้ว่ารูปเล่มจะดูคล้ายหนังสือทั่วไป แต่เมื่อหยิบจับดูก็จะรู้สึกได้ว่าไม่เหมือนหนังสือปรกติ หนังสือเล่มนี้มีความน่าทึ่งมาก นอกเหนือจากการผลิตกระดาษด้วยพลาสสิกทั้งเล่ม ตัวปกก็เป็นพลาสติกชนิดเดียวกันที่หนากว่ากระดาษด้านในเล็กน้อย กาวก็เป็นวัสดุชนิดเดียวกัน หากไม่ต้องการใช้เป็นหนังสือต่อ เมื่อล้างหมึกพิมพ์ออก ซึ่งเป็นหมึกพิมพ์ที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ หนังสือทั้งเล่มก็สามารถแปรรูปใช้ประโยชน์แบบอื่นได้ทันที หนังสือเล่มนี้ทนน้ำได้ มีอายุการใช้งานนาน แนวคิดในการผลิตหนังสือที่ไม่ทำลายต้นไม้นี้เป็นเรื่องใหม่ และเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญมากทีเดียวของแนวคิดในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย ๗ บทใหญ่ เริ่มการปูพื้นเบื้องหลังความเป็นมาของหนังสือและนักเขียนทั้งสอง ก่อนจะนำเข้าสู่ปัญหาของการออกแบบในระดับฐานราก ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดแบบเดิมที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาได้ และได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการออกแบบ และทัศนะในเรื่องขยะและของเสีย โดยคำนึงถึงความต้องการและความเชื่ออันหลากหลาย ปิดท้ายด้วยเรื่องเล่าอันตื่นใจ ของการประยุกต์แนวคิดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ปฏิบัติการจริงของโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดมอเตอร์

ในช่วงแรกของหนังสือ นักเขียนได้ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของเรานั้นควรเป็นอย่างไร? และจริงล่ะหรือที่ว่าอุตสาหกรรมเป็นความเลวร้าย และแนวคิดสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญ?
ทั้งวิลเลียมและมิคาเอลเห็นพ้องต้องกันว่า เหตุที่ภาวะแวดล้อมในการดำรงชีวิตปัจจุบันไม่ปลอดภัย ก็เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นมามีการออกแบบที่แย่ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ ก่อให้เกิดพิษ ทั้งยังไม่คำนึงถึงกระบวนการที่จะนำกลับไปแปรรูปวัสดุเพื่อใช้ใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัย เพื่อออกแบบ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และกระบวนการอุตสาหกรรมแบบใหม่ เพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ทั้งยังยืนยันว่า เราจำต้องเรียนรู้จากวิศวกรในธรรมชาติอย่างมด ซึ่งอยู่อาศัยในโลกนี้มาหลายล้านปีแล้ว แต่การผลิตและบริโภคของมดไม่เคยทำร้ายโลก อย่างที่มนุษย์ทำอยู่ในทุกวันนี้เลย

หนังสือชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของการออกแบบนั้นเกิดจากแนวคิดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผสานกับลัทธิทุนนิยม ซึ่งก่อให้เกิดการผลิตที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในรูปแบบของ “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” สิ่งที่ถูกผลิตขึ้นไม่สามารถแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การผลิตในปริมาณมากนำไปสู่การผลิตแบบโหล ไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย ก่อให้เกิดวัฒนธรรมเดียว ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็เน้นดึงดูดลูกค้าในระยะเวลาอันสั้น ภายใต้กรอบระเบียบของกฎหมายในขณะนั้น ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวเลย
ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดล้วนเต็มไปด้วยสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยกาซพิษ ของใช้เด็กที่ทำจากพลาสติกมีพิษ เมื่อสั่งสมนานวันเข้าก็เกิดความเครียด ภูมิต้านทานลดลง เป็นโรคมะเร็งมากขึ้น โรคอื่นมากขึ้น
วิลเลียมและมิคาเอลชี้ว่า แนวคิดการออกแบบเหล่านั้นไม่ได้ผิด หากแต่ไม่ดีพอ ไม่ฉลาด และล้าสมัย ทั้งยังเป็นเผด็จการข้ามไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา

ในช่วงถัดมา หนังสือบอกเล่าถึงพัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งนี้ ในช่วงแรก มีนักคิดนักเขียนไม่กี่คนเริ่มกล่าวเตือน เกี่ยวกับแนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากร ติเตียนแนวคิดแบบกลไก และเชื้อเชิญให้กลับมาชื่นชมความงาม และความลุ่มลึก ของธรรมชาติมากขึ้น มีการชี้ให้เห็นโทษของลัทธิบริโภคนิยม
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็เริ่มมีกระแสเตือนถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้จะได้รับความสนใจมากขึ้น หากก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้า เป็นต้นว่า การยุติการใช้ดีดีทีอย่างสิ้นเชิงในอเมริกาและยุโรป ก็ใช้เวลาถึงสิบปี และในการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ในปีค.ศ. ๑๙๙๒ ก็เน้นเรื่อง การลดสารพิษ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการแปรรูป แต่วิลเลียมและมิคาเอลยืนยันว่า ไม่อาจแก้ปัญหาได้เลย เป็นเพียงความพยายามที่จะลดปัญหา ทั้งที่ยังสร้างปัญหาเหมือนเดิม
ตัวอย่างเช่น บ้านในปัจจุบันแม้จะประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่คุณภาพอากาศในบ้านกลับเลวลง เพราะวัสดุที่ใช้คุณภาพแย่ บ้านในตุรกีที่ออกแบบให้ประหยัดวัสดุในการสร้าง ไม่อาจป้องกันแผ่นดินไหวได้ และพังทลายลงมาทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมากในปีค.ศ. ๑๙๙๒ การทำเกษตกรกรรมในเยอรมันตะวันตก แม้จะให้ผลผลิตสูงกว่าในเยอรมันตะวันออก แต่สภาพของระบบนิเวศน์กลับเลวร้ายกว่ามาก
การผลิตและออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมจะต้องไปให้พ้นจากกรอบกระบวนทัศน์เดิม ไปให้พ้นจากการคิดทำในสิ่งที่เลวร้ายน้อย ไปสู่การคิดทำในสิ่งที่ดีทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์

หนังสือขยายความเรื่องการผลิต และออกแบบ เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพว่า การออกแบบจะต้องมีเป้าหมายชัดเจน ว่าจะต้องเป็นไปโดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และหรือเพื่อนร่วมโลก นักออกแบบจำต้องมีวิสัยทัศน์ และคิดให้ครบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต วัฒนธรรม การค้า และระบบนิเวศน์
การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การจำกัดการทำอุตสาหกรรม หากแต่เป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการคำนึงถึงช่องว่างตลาดให้มากขึ้น คำนึงถึงสุขภาพ มีความหลากหลาย และเป็นการผลิตอย่างฉลาด คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว

นักออกแบบยังต้องคิดไปให้พ้นกรอบกฎเกณฑ์บ้าง เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย ดังเช่น การทำสวนให้ดูรกเหมือนป่า ครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องผิดกฏหมายของเยอรมนี แต่ปัจจุบันกลับได้รับความนิยมมาก หรือการที่ชาวเมืองฮันโนเฟอร์ เยอรมนี ต้องการปลูกต้นเชอรีไว้ข้างถนน เพื่อเก็บลูกเชอรีไว้ทาน แต่รัฐกลับออกกฎระเบียบห้ามไว้ เพราะขี้เกียจจัดการ กฎเกณฑ์เหล่านี้ย่อมเปลี่ยนไปตามกาล แต่การออกแบบที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่อยู่ยั่งยืนกว่า
ภูมิปัญญาดั้งเดิมหลายอย่างตั้งอยู่บนวิถีที่ผสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ชนเผ่าพื้นเมืองบางแห่งตัดเฉพาะต้นไม้ที่อ่อนแอเท่านั้น ชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มมีมุมมองต่อวิถีชีวิตที่คำนึงถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้มาก
นักเขียนทั้งสองเสนอว่า เราจำต้องคิดถึงเรื่องการออกแบบแนวใหม่ ที่ไม่ก่อให้เกิดขยะหรือของเสีย เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ไม่เป็นพิษ นำกลับไปใช้ใหม่ได้ วัสดุที่มีมูลค่าจะต้องถูกนำกลับมาสู่ระบบการผลิตใหม่ น้ำทิ้งจากโรงงานต้องถูกบำบัดจนกลายเป็นน้ำดื่มได้ ตึกอาคารต้องถูกออกแบบให้ผลิตออกมามากกว่าบริโภคพลังงาน มีการจัดระบบขนส่งที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้น

เนื้อหาช่วงถัดมาขยายแนวคิดเรื่องการผลิตที่ปราศจากของเสียโดยชี้ให้เห็นว่า ในระบบ ธรรมชาติเองก็ไม่มีของเสียอยู่เลย สสารทุกอย่างสามารถกลับคืนสู่ระบบธรรมชาติได้ทั้งหมด
ชีวิตมนุษย์ในอดีตมีพัฒนาการจากการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ก่อนจะลงหลักปักฐานทำเกษตรกรรม รวมกลุ่มชุมชนกันจนเกิดเป็นเมือง การบริโภคของมนุษย์ก็เพิ่มมากขึ้น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ของถูกทิ้งมากขึ้น ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่ ขณะเดียวกัน ของที่ถูกทิ้งก็ไม่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมต่อการนำไปแปรรูปเพื่อใช้ใหม่
หนังสือชี้ให้เห็นว่า จำต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการออกแบบให้เป็น “จากครรภ์มารดาสู่ครรภ์มารดา” นั่นคือ ต้องออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำกลับมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ได้
แนวคิดการทำให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุในโลกนั้น คือ เกิดจากการทำความเข้าใจต่อระบบการทำปฏิกิริยาเคมีของโลก ๒ แบบ ได้แก่ เชิงชีวภาพ และเชิงเทคโนโลยี วัสดุที่ใช้ในการผลิตต้องถูกแยกออกมา ว่าจะกลับคืนสู่ระบบหมุนเวียนทางชีววิทยา หรือทางเทคโนโลยี แล้วจึงจัดการให้เหมาะสม
ทั้งนี้ การผลิตให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุนี้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มาก ต้องมีความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง ต้องลดกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดขยะหรือของเสียจนกระทั่งหมดไป

แนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์นี้ ตั้งอยู่บนความสมดุลของความแตกต่างหลากหลาย ระหว่างลัทธิความเชื่อจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาค เศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงต้นทุน สุนทรียภาพ และประสิทธิภาพ การผลิตที่นำไปสู่ความยั่งยืนนี้เรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม
การออกแบบในกระบวนทัศน์เดิมนำไปสู่ผลิตภัณฑ์แบบโหล และกระบวนการผลิตแบบรวมศูนย์ กระบวนทัศน์ใหม่จะก่อให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ทั้งยังนำไปสมดุลของแนวคิดและความเชื่อในโลก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ แนวคิดการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งยังเลือกแหล่งพลังงานธรรมชาติในชุมชนนั้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ ลม แสงแดด เป็นต้
หรือแนวคิดการผลิตสบู่ผงเพื่อซักผ้า ที่ไม่กัดมือ เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพราะน้ำหนักเบากว่าสบู่เหลว แม้จะใช้สารเคมีน้อยลง และราคาแพงกว่าเดิม แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิตโดยรวมกลับพบว่าถูกกว่ามาก

ในช่วงท้าย เป็นเรื่องเล่าของการประยุกต์เอาแนวคิดประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์ ไปใช้กับการปรับปรุงโรงงานเก่าแก่ของบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก คือ ฟอร์ด มอเตอร์ ในปีค.ศ. ๑๙๙๙
การนำแนวคิดใหม่ไปใช้นั้นไม่ได้สะดวกง่ายดายเสมอไป วิลเลียมและมิคาเอลประสบความยากลำบากพอควร ในการสร้างความเข้าใจกับวิศวกรและคนงานของฟอร์ด ซึ่งประกอบด้วยความรู้สึกระแวงระวังกับนักสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นทุนเดิม แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเป้าหมายในการทำงานร่วมกันว่า จะทำให้โรงงานเป็นสถานที่ ที่ลูกหลานของพนักงานสามารถวิ่งเล่นอย่างปลอดภัย ด้วยการปรับปรุงระบบดิน น้ำ ไฟฟ้า แสงสว่าง อุณหภูมิ และที่สำคัญสามารถปรับใช้กับโรงงานอื่นได้

การดำเนินงานปรับเปลี่ยนโรงงานผลิตรถยนต์ของฟอร์ด ให้มีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์นั้น ประกอบด้วย ๕ ขั้นตอน คือ (๑) เป็นอิสระจากกรอบธรรมเนียมเดิม ต้องเริ่มคิดแต่แรกใหม่ว่าส่วนประกอบใดมีพิษน้อย (๒) ตัดสินใจเลือกจากข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยการเลือกวัสดุที่มีพิษน้อย เท่าที่มีบันทึกข้อมูลอยู่ (๓) ทำรายการวัสดุที่ใช้ได้ ใช้ไม่ได้ และยังจำเป็นต้องใช้อยู่แม้ว่าจะมีพิษ (๔) เริ่มคิดค้นวัสดุที่ดีที่สุด (๕) คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ด้วยการคิดค้นยานยนต์แบบใหม่ ระบบขนส่งแบบใหม่

และในท้ายที่สุดก็ได้สรุปออกมาเป็นหลัก ๕ ประการ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ ด้านการออกแบบการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้ (๑) ผู้บริหารต้องแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริง (๒) วัสดุในการผลิตทั้งหมดต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติหรือระบบแปรรูปหมุนเวียนนำไปใช้ใหม่ได้ (๓) มีความพร้อมสำหรับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (๔) ต้องประกอบด้วยความเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ (๕) ประกอบด้วยความรับผิดชอบต่อลูกหลานและสรรพชีวิตอื่น

หนังสือเล่มนี้ถือว่าโดดเด่นอย่างมาก ในแง่ของการนำเสนอแนวคิดใหม่ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิต ผ่านกระบวนการออกแบบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประกอบด้วยความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมโลก ตลอดจนลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา ตัวอย่างที่ยกมาประกอบ ล้วนเป็นผลจากการประยุกต์แนวคิดนำไปใช้งานจริง มีการทดลองทำมาตามลำดับ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ สั่งสม ต่อยอด และกำเนิดเป็นนวัตกรรมใหม่
สิ่งที่สัมผัสได้ชัดแจ้ง เห็นจะเป็นความมุ่งมั่นของนักเขียนทั้งสอง

การทำงานร่วมกันบนจุดหมายเดียวกัน ของผู้ชำนาญการจากสองฟากฝั่งวิชาการ ความเป็นนักคิดที่ไม่จ่อมจมอยู่กับปัญหา หากหาหนทางแก้ไข ส่งผ่านไปสู่วิถีปฏิบัติ เหล่านี้ทำให้เกิดความประทับใจได้มาก
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ประกาศสงครามสิ่งแวดล้อมกับระบบอุตสาหกรรม และไม่ได้บอกให้เราสยบยอม หากหาทางให้เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดำรงอยู่ และแก้ไขปัญหาในระดับฐานรากและต้นทาง และตอกย้ำคำพูดของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลกที่ว่า “โลกย่อมไม่อาจก้าวพ้นวิกฤตการณ์ปัจจุบันไปได้ ด้วยความคิดเดิมที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้น”












วิลเลียม แม็กโดนาฟ - William Mcdonough สถาปนิกชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงจากการออกแบบตึก กระบวนการผลิต และวัสดุ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานออกแบบของเขาได้รับการยกย่องว่า นอกเหนือจะเพิ่มอัตราการผลิตแล้วยังประหยัดพลังงาน ทั้งยังคำนึงถึงสุขภาพของลูกจ้าง และก่อให้เกิดความพึงพอใจ เขาเป็นผู้เขียน หลักการฮันโนเวอร์: การออกแบบเพื่อความยั่งยืน ที่กลายเป็นคัมภีร์มาตรฐานในการออกแบบเพื่อความยั่งยืนที่ใช้กันทั่วโลก เขาดังไปทั่วโลกเมื่อนิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษโลก” ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ด้วยเหตุผลว่า “สังคมอุดมคติของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่แสดงให้เห็นและนำไปปฏิบัติได้ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงการออกแบบของโลก”

เกิดเมื่อปีค.ศ. ๑๙๕๑ ที่โตเกียว ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ฮ่องกง ได้พบเห็นการเปลี่ยนจากชนบทเป็นเมือง เห็นความอดหยากยากจน การจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมทำให้ผู้คนมีโอกาสใช้น้ำไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ทุก ๆ สี่วัน ในช่วงหน้าร้อนเขาได้ไปพักกับปู่และย่าในบ้านไม้เก่าแก่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา ได้พบเห็นวิถีชีวิตตามธรรมชาติ ผู้คนใช้ทรัพยากรตามความต้องการของตน ไม่ทิ้งขว้างจนเกิดขยะส่วนเกิน เมื่อโตเข้ามหาวิทยาลัย ก็เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ และในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยลอยู่นั้น เขาได้ออกแบบบ้านพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์หลังแรกของไอร์แลนด์
เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทวิลเลียม แม็กโดนาฟและหุ้นส่วน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบ รวมไปถึงการออกแบบบนแนวทางแบบยั่งยืน ลูกค้าของบริษัทประกอบไปด้วย บริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ไนกี้ แฮร์มัน มิลเลอร์ เบเอเอสเอฟ ดีไซน์เท็กซ์ เพนเดิลทัน วอลโว และเมืองชิคาโก

หนังสือเล่มอื่นของเขาที่เขียนร่วมกับผู้อื่นยังมีเล่ม The Natural Advantage of Nations: Business Opportunities, Innovation and Governance in the 21st Century (2006) และ Green Roofs: Ecological Design and Construction (2004)












มิคาเอล บราวน์การ์ต – Michael Braungart มาจากครอบครัวปัญญาชน ศึกษามาทางด้านเคมีโดยเฉพาะ เป็นสมาชิกของกลุ่มกรีน ขบวนการก้าวหน้าว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเคมีขององค์กรกรีนพีซ เขาเคยร่วมการประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง ครั้งที่โรงงานเคมีที่ทำให้แม่น้ำไรน์เน่าเสีย สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก เขาร่วมประท้วงด้วยท่าทีแข็งกร้าวจนกระทั่งเจ้าของโรงงานซึ่งไม่ใช่คนเลวร้ายนักและเห็นว่าการประท้วงไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาเข้ามาพูดคุยหาจุดร่วมของทางออกในระยะยาว และร่วมมือกันก่อตั้งศูนย์สนับสนุนการป้องกันสิ่งแวดล้อม ที่เมืองฮัมบวร์ก เยอรมนี

และตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๘๔ ก็เริ่มบรรยายเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการวัสดุ ในมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และองค์กรทั่วโลก จนกระทั่งพบกับวิลเลียม แม็คโดนาฟ และก่อตั้งบริษัทร่วมกัน
หนังสือ Cradle to Cradle ได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมันภายใต้ชื่อว่า Einfach intelligent produzieren




0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home