วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 12, 2550

Collapse

COLLAPSE : How Societies Choose to Fail or Succeed

ผู้แต่ง จาเร็ด ไดอะมอนด์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๘
ประเภท สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เพนกวิน

แนะนำโดย ดร.วนิสา สุรพิพิธ


หนังสือ Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed ของ จาเร็ด ไดอะมอนด์เป็นหนังสือขายดีซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพนกวิน เมื่อปีค.ศ. 2005 และเป็นเล่มต่อของ Guns, Germs and Steel: The Fates of Human Societies หนังสือเล่มแรกของผู้เขียนที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลา ประกอบการเรียนของนักศึกษาปริญญาตร ในสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ซึ่งเป็นสถาบันระดับห้าดาวในแขนงนี้ของอังกฤษ ศ. แอนดรูว์ วัตสัน ผู้ร่วมงานยุคต้นๆ กับเจมส์ เลิฟล็อก เป็นผู้เลือกหนังสือเล่มนี้ให้นักเรียนของเขาอ่าน

จาเร็ด ไดอะมอนด์อุทิศหนังสือเล่มนี้ให้ครอบครัวเฮอร์ชี ชาวมอนตานา อเมริกันเชื้อสายสวิส ซึ่งตั้งรกรากและปกปักรักษาแผ่นดินทำการกสิกรรมตลอดชั่วชีวิตอยู่ที่นั่น มลรัฐมอนตานาเป็นจุดเริ่มต้น ของการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวทั้งหมดโยงจากตัวอย่างใกล้ตัวผู้เขียนออกสู่ตัวอย่างในที่อื่นๆ อีกทั่วโลก จากร่องรอยในอดีต เช่น หมู่เกาะอีสเตอร์และชนเผ่ามายา สู่เหตุการณ์ปัจจุบัน อย่างการสังหารหมู่ในรวันดา และความขัดแย้ง แร้นแค้นที่กระจัดกระจายตามมุมต่างๆ ของโลก

หนังสือมุ่งเสนอให้เห็นถึงเหตุและผลของวิวัฒนาการของชุมชนหนึ่งๆ จากความรุ่งเรืองสู่หายนะ และสุดท้ายคือ ความล่มสลายของอารยธรรมในแต่ละแห่ง

คำถามหลักคือ สังคมเหล่านั้นล่มสลายได้อย่างไร? แล้วตึกระฟ้าที่ล้อมเราอยู่ในมหานครใหญ่ทุกวันนี้ จะถึงวันที่ต้องถูกทิ้งร้างเฉกเช่นเดียวกับศาสนสถานเก่าแก่ เช่น นครวัด นครธม หรือไม่?

บทนำของหนังสือบรรยายภาพอันงดงามของฟาร์มโคนมใหญ่สองแห่ง ในมอนตานา ทั้งสองแห่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนคงคุณภาพสม่ำเสมอ มอนตานาจัดว่าเป็นเขตอบอุ่นที่มีหน้าร้อนสลับกับฤดูหนาวที่มีหิมะ พื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขาซึ่งยอดปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี และเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของที่ราบลุ่ม มีการเพาะปลูกแอปเปิ้ลนอกเหนือจากการเลี้ยงวัว

รายได้หลักในอดีตของมอนตานายังประกอบด้วย การทำป่าไม้ และอุตสาหกรรมหมืองแร่ทองแดง ทองคำ ซึ่งเคยทำให้รายได้ของรัฐเป็นอันดับสองของทั้งประเทศ หากแต่ในช่วงสิบปีหลังได้ปรากฏปัญหาสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมือง ซึ่งไม่ได้ใส่ใจควบคุมและบำบัดอย่างดีพอ โดยเฉพาะในยุคแรก ปัจจุบัน การชะล้างต้องตกเป็นภาระภาษีของราษฎร ซึ่งต้องมาใช้ในการดำเนินการอีกต่อไปในอนาคต ปัญหาการเสื่อมของดินที่ใช้ทำการเกษตร ปัญหาป่าไม้ ที่เกิดจากแนวทางการจัดการที่ผิดพลาดในอดีต และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ผู้เขียนค่อยๆ เล่าถึงสถานการณ์ทั้งหมดผ่านมุมมองของผู้อยู่อาศัยจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งเจ้าของที่ดินเดิมและผู้อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ที่ล้วนเข้ามาอยู่ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของธรรมชาติซึ่งมีชื่อเสียง ในรัฐนี้ ดังที่หลายคนจำได้จากภาพยนตร์ของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด เรื่อง A River Runs through It ความขัดแย้งทางความคิดหลายอย่าง ทำให้การจัดการยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย และอนาคตก็ยังเปิดอยู่ ว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมหรือความเจริญ

จากมอนตานา ผู้เขียนนำลงซีกโลกใต้สู่หมู่เกาะอีสเตอร์อันร้างว่างเปล่า มีเพียงรูปสลักหินยักษ์ที่น่าสะพรึงกลัวนับร้อยรูปอยู่รอบเกาะ หมู่เกาะนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกของชายฝั่งชิลี ห่างออกไปในมหาสมุทรแปซิฟิกราวสองพันไมล์ ทางตะวันตกถัดออกไป พื้นดินที่ใกล้ที่สุดคือหมู่เกาะพิทคาร์นและเฮนเดอร์สัน ซึ่งอยู่ที่ห่างไปราวพันไมล์

นักสำรวจชาวสวีเดน ธอร์ เฮเยอร์ธาล เคยเชื่อว่า อารยธรรมที่แสดงออกด้วยหินสลักที่น่าประทับใจบนเกาะอีสเตอร์ น่าจะมาจากชนเผ่าอินคาในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนนักเขียนชาวสวิส เอริก โฟน ดานิเคนถึงกับจินตนาการว่า น่าจะเป็นงานของมนุษย์จากต่างดาว แต่หลักฐานภายหลังบ่งชี้ว่า คนที่มาตั้งรกรากก่อนล่มสลายไปนั้น น่าจะเป็นพวกชาวเกาะทะเลใต้ที่เรียกว่า โพลินีเชียน จากเอเชียแปซิฟิกนั่นเอง ทั้งนี้ โดยการวิเคราะห์จากภาษาของชาวเกาะที่เหลือเพียงไม่กี่คน

นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งได้พากเพียรหาคำตอบ เพื่อแก้ปริศนาที่ว่า รูปหินสลักเกิดขึ้นได้อย่างไร? โดยวิธีหาอายุร่องรอยจากธาตุคาร์บอนพบว่า บนเกาะน่าจะเคยมีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายถูกตัดมาใช้ในแง่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนแรงงานที่ใช้ในการขุด ตัด ขัด เกลา เคลื่อนย้ายและตั้งรูปสลักหินขนาดสูงใหญ่เท่าตึกสิบชั้น ระหว่างที่ประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๑๔ อันเป็นจุดสุดยอดของระบบสังคมบนเกาะอีสเตอร์ เชื่อว่าการก่อสร้างรูปเคารพ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครอง ได้นำทรัพยากรอันมีจำกัดมาใช้จนหมด ในขณะที่เกิดความแห้งแล้งขาดแคลนโดยฉับพลัน อันทำให้ประชากรค่อยล้มตาย พร้อมกับสัตว์เลี้ยงต่างๆ รวมทั้งอิทธิพลของชาวยุโรปที่เข้ามาถึงหลังศตวรรษที่ ๑๘ ที่ทำให้เกิดทั้งโรคระบาดและการลักพาชาวเกาะไปเป็นทาส ล้วนรวมเป็นเหตุผล ที่ทำให้ความรุ่งเรืองของเกาะอีสเตอร์เหลือเป็นเพียงเรื่องลึกลับในอดีต ผู้เขียนทิ้งท้าย โดยเทียบเคียงเหตุการณ์กับการล้มรูปปั้นมหึมาของผู้นำคอมมิวนิสต์ ในอดีตสหภาพโซเวียต ตามที่เราได้เห็นกันในภาพข่าวไม่นานนี้

จากเกาะอีสเตอร์ ผู้เขียนยังเล่าถึงความเป็นไป การเพิ่มและลดของประชากรในเกาะโพลีนีเชียนอื่น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากร ของแต่ละเกาะ เป็นตัวกำหนดกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้ามาอยู่อาศัย และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม พื้นที่เป็นข้อกำหนดสำคัญของจำนวนประชากรบนเกาะ ที่ต้องสมดุลกับแหล่งอาหารทั้งพืชและสัตว์ ข้อสังเกตอันหนึ่ง คือ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และน้ำจืด คงอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง หลังมนุษย์ตั้งถิ่นฐาน

จากนั้น ผู้เขียนนำเรื่องกลับมายังชายฝั่งตะวันตกตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ โดยกล่าวถึงอารยธรรมอนาซาซี ซึ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่คล้ายคอนโดมิเนียมตามเมืองใหญ่ทุกวันนี้ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ปัจจุบันถูกทิ้งร้างในเขตป่าสงวนแถบนั้น เป็นอีกปริศนาให้ขบคิดว่าเกิดอะไรขึ้น

ผู้เขียนย้ำต่อมาถึงอารยธรรมมายา ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือนในอเมริกากลาง สาส์นที่ชาวมายาได้สื่อไว้ บอกให้เราทราบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มประชากรนั้น ได้จุดประกายความขัดแย้ง ก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง จุดนี้เองถูกทิ้งท้ายไว้ว่า คือความคล้ายกันของสภาพสังคม จากเกาะอีสเตอร์ที่มุ่งแต่สร้างรูปสลักยักษ์ ผู้นำชาวอนาซาซีที่มุ่งแต่สะสมสร้อยอัญมณี กษัตริย์มายาที่มุ่งแต่สร้างเทวสถาน สะท้อนมาถึงลัทธิบริโภคนิยมในหมู่นักบริหารระดับสูงชาวอเมริกันทุกวันนี้ ความไม่ตระหนักรู้เท่าทันถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิด ในทางเสื่อมของสังคม จึงส่อสัญญาณแห่งความล่มสลาย

ผู้เขียนนำขึ้นเหนือ สู่เรื่องราวของพวกไวกิง ซึ่งเคยยึดครองไอซแลนด์และกรีนแลนด์ ถึงแม้ว่าดินแดนทั้งสองอาจถูกมองว่า ปราศจากพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่ทว่ายังมีชนพื้นเมืองที่เคยถูกไวกิงแย่งดินแดนไป แต่ต่อมา พวกไวกิงซึ่งเป็นนักรบแข็งแกร่ง กลับต้องถอยร่นไป ไม่สามารถตั้งถิ่นฐานสืบต่อไปได้ ทั้งนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งคือ พวกไวกิงไม่สามารถเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ความยึดมั่นถือมั่นของพวกไวกิง ที่ผูกพันอยู่กับสัตว์เลี้ยงจากถิ่นเดิมของตน ความพยายามเลี้ยงโคนมในที่ที่ไม่มีความสมบูรณ์พอ ทรัพยากรที่หมดไปโดยไม่คุ้มค่าแรงที่ลง ความไม่รู้เท่าทัน ด้วยการนำเอาแกะซึ่งเป็นตัวทำลายหญ้าซึ่งปกคลุมดินอันมีอยู่น้อยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ทรัพยากรจะถูกทำลายไปมาก แต่ชาวเกาะไอซแลนด์ก็ยังคงอยู่รอดได้อย่างดีจนทุกวันนี้

อันที่จริงมีแนวทางแตกต่างกันสองแนว ที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล ผู้เขียนเรียกวิธีทั้งสองว่า แนวทางจากล่างขึ้น และแนวทางจากบนลงล่าง เขาได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของชาวเกาะนิวกินี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแนวล่างขึ้นบน กล่าวคือ ชนพื้นเมืองเจ้าของที่ดินแต่ละผืนทราบสืบต่อกันมาเองว่า จะต้องเตรียมแปลงปลูกพืชอย่างไร จึงจะเหมาะกับสภาพฝนชุกที่สุดในโลกของที่นั่น ทั้งนี้ ตรงกันข้ามกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรป ความสำเร็จอีกวิธ ีคือ บนลงล่าง เป็นแนวทางที่จักรพรรดิโตกุกาวาของญี่ปุ่นใช้อย่างได้ผล ทำให้จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศน่าทึ่ง ที่มีพื้นที่ป่าอยู่มากกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของทั้งประเทศ

ต่อมาผู้เขียนยกเหตุการณ์ในรวันดา ที่ทราบกันทางข่าวว่า มีการสังหารหมู่กันทั้งประเทศ เขาได้สืบสาวถึงเบื้องหลัง ผ่านงานวิจัยของนักประชากรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สุดท้าย สันนิษฐานถึงเหตุได้ว่า น่าจะมากกว่าเพียงความเกลียดชังระหว่างสองชนเผ่า ทั้งนี้ ตัวอย่างนี้เทียบได้กับทฤษฎีประชากรศาสตร์ของโทมัส มัลทัส ที่กล่าวไว้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มภายใต้ทรัพยากรจำกัด ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องลดประชากรลง ในกรณีของรวันดาคือ ความขัดแย้งภายในโครงสร้างสังคมเองถึงในระดับครอบครัว เมื่อที่ดินหมายถึงที่มาเดียวของรายได้เลี้ยงปากท้อง จำนวนลูกที่มากขึ้นทำให้การจัดสรรที่ดินไม่เท่าเทียม ทำให้ญาติพี่น้องเกลียดกันลึกซึ้ง เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง ที่เอาเรื่องเชื้อชาติมาเป็นเหตุของการกำจัดศัตรูทางการเมือง การฆ่าหมู่จึงเริ่มต้น และแผ่ขยายอย่างรวดเร็วในระดับบุคคล จนผลที่เกิดน่าเศร้าสลดตามข่าว แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้กล่าวว่านั่นเป็นสาเหตุหลักอันเดียว และยังได้แนะนำหนังสืออีกหลายเล่ม ที่วิเคราะห์เรื่องนี้ผสมผสาน ทั้งความประจวบเหมาะของภาวะแห้งแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ที่โยงกับเรื่องการแบ่งปันทรัพยากร ภายใต้การแบ่งแยกทางการเมืองสองเชื้อชาติ และความแค้นที่สั่งสมมาในอดีตระหว่างสองชนเผ่าด้วย

เนื้อหาถัดมา เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างของสองชาติบนเกาะเดียวกัน คือ ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และประเทศไฮติ ที่แม้จะอยู่บนเกาะเดียว แต่ภูมิประเทศที่หลงเหลือ หลังถูกแบ่งเป็นสองนั้น แสดงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการปกครอง และค่านิยมของมนุษย์ผู้อยู่อาศัย มีผลมหาศาลต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ไฮตินั้นแทบจะไม่มีป่าไม้เหลือ เศรษฐกิจย่ำแย่ และการเมืองไม่มั่นคง ในขณะที่โดมินิกันมีอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก และเศรษฐกิจที่ยังพออยู่ได้ ทั้งนี้ เป็นผลภายใต้ยุคแห่งการเมืองแบบเผด็จการ อันสะท้อนแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมแบบบนลงล่าง ที่ได้ผลอย่างมหัศจรรย์

ผู้เขียนได้แสดงความประทับใจ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการ ซึ่งอันที่จริง ก็เกือบทำให้ทรัพยากรบางส่วนถูกทำลายด้วย ทว่า กระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในสาธารณรัฐโดมินิกัน ก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะในภาคประชาชน

ผู้เขียนกล่าวบรรยายถึงความสำคัญของประเทศจีน ที่มีขนาดใหญ่ และประชากรมากที่สุดในโลก โดยแสดงความชื่นชมในความเด็ดขาด เรื่องนโยบายครอบครัวลูกหนึ่งของรัฐบาลจีน ซึ่งชัดเจน และจำเป็น สำหรับป้องกันปัญหาประชากร ที่เคยเกิดในหลายอารยธรรมมาแล้ว แต่ข้อที่น่าสังเกตคือ การเริ่มทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านโครงการมหึมาของจีนในหลายพื้นที่ กิจกรรมดังกล่าว แม้จะเป็นไปเพื่อการพัฒนา ก็น่ากลัวว่า จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของผืนโลก เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ของจีนเอง ผลกระทบแง่ลบจึงอาจมีต่อโลกทั้งหมด

ส่วนทวีปออสเตรเลีย มีสภาพดินที่แตกต่างจากที่อื่นๆ การเปลี่ยนแปลงภายหลังการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อการดัดแปลงสภาพแวดล้อม เป็นไปเพื่อให้คล้ายคลึงกับประเทศแม่มากที่สุด ตั้งแต่การนำเอาแกะ กระต่ายและสุนัขจิ้งจอกเข้ามา จนทำให้สัตว์ป่าดั้งเดิมหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ การปศุสัตว์แบบอังกฤษ ได้ทำลายหน้าดินที่อ่อนไหวอยู่แล้วของออสเตรเลีย ทำให้ที่ดินกลายเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว แมลงและโรคระบาด ที่มาพร้อมกับสัตว์นานาชนิด ที่ชาวยุโรปนำมา ก็เป็นอีกสิ่ง ที่คุกคามระบบนิเวศน์ที่แตกต่างของออสเตรเลีย การทำเหมืองแร่ทำลายระบบนิเวศเหมือนกับในที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตอนท้าย ผู้เขียนได้บอกถึงสัญญาณแห่งความหวัง ที่เขาได้ยินจากคนรุ่นใหม่ๆ ของออสเตรเลียที่ตระหนักถึงปัญหา และเริ่มที่จะแสวงหาทางแก้ไขผ่านทางรัฐบาล

ช่วงท้ายมีความพยายามที่จะตอบคำถามว่า ทำไมบางสังคมจึงตัดสินใจผิดพลาดจนนำไปสู่ภัยพิบัติ?

จาเร็ด ไดอะมอนด์เกริ่นด้วยการกล่าวถึงกระบวนการได้มาซึ่งคำตอบ ตัวเขานั้นผ่านกระบวนการคิดร่วมกันกับลูกศิษย์ในชั้นเรียน

คำตอบแรกที่ได้คือ สังคมที่ล่มสลายไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้ทันการ พวกนอร์สในกรีนแลนด์ไม่ทันทราบว่า เกิดสงครามครูเสดแล้ว ทำให้ความต้องการงาจากสิงโตทะเลหายไป เนื่องจากการเปิดการค้ากับเอเชียและแอฟริกา ชนเผ่ามายาไม่มีนักปฐพีวิทยาพอที่จะรู้ได้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าบนสันเขาทำให้ดินทรุดลงไปสู่หุบเขาเบื้องล่าง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดการจดบันทึกและสื่อสาร แต่ก็ไม่แน่เสมอไป มนุษย์ยุคปัจจุบัน แม้จะถกเถียงเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกันในแง่ต่างๆ เราก็ยังคงลืมหลายเรื่อง แม้จะเคยเกิดสงครามอ่าวและวิกฤตการณ์น้ำมันเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๓ เราก็พากันลืมและซื้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่กินน้ำมันกันทั่วไป หากทว่า ถึงอย่างไร เหตุอันหนึ่งที่ทำให้เรามองไม่ทันเห็นปัญหา อาจเป็นเพราะการคิดเปรียบว่า สิ่งที่จะเกิดคงคล้ายเดิม และลืมไปว่า อาจมีอะไรที่ต่างไป

คำตอบที่สองคือ ถึงแม้จะรู้ล่วงหน้าถึงปัญหาที่จะเข้ามา เรากลับพลาดไม่รู้ปัญหาได้ที่มาถึงแล้ว ผู้เขียนกล่าวว่ามีสามสาเหตุ ซึ่งเราประสบกันอยู่ทั้งในโลกธุรกิจและโลกการศึกษา ประการแรกคือ บางปัญหามีรากฐานจากสิ่งที่มองไม่เห็น ตัวอย่างเช่น เรามองไม่เห็นความอุดมสมบูรณ์ของดิน เราทราบได้ภายหลังการวิเคราะห์ทางเคมี ทว่าในหลายพื้นที่ทั้งออสเตรเลีย หรือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ ดินได้เสื่อมสภาพไปก่อนที่มนุษย์จะมาเริ่มปลูกพืช เหตุผลประการที่สองคือ ผู้จัดการปัญหาอยู่ไกลจากตัวปัญหา ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการอุตสาหกรรมป่าไม้ในมอนตานา ทำงานอยู่ที่ซีแอทเทิล ซึ่งห่างออกไป ๔๐๐ ไมล์ และนานๆ ครั้งจึงจะเข้ามาดูสภาพป่า แล้วจึงเห็นว่าเกิดศัตรูพืชขึ้นแล้ว เหตุประการสุดท้ายค่อนข้างสามัญที่สุด คือเรามักตัดสินใจจากการมองภาพกว้างๆ อันเป็นการเฉลี่ยการขึ้นๆ ลงๆ ของปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเรื่องของโลกร้อนขึ้น ดังที่ประธานาธิบดีบุชของสหรัฐอเมริกายังไม่ค่อยแน่ใจว่า เรื่องนี้จริงแค่ไหน

คำตอบที่สามที่เจอ และพบบ่อยที่สุดในเรื่องความล้มเหลวของสังคมคือ การที่สังคมไม่ยอมแก้ปัญหาทั้งๆ ที่รู้ปัญหาแล้ว สาเหตุหลักคือ ความขัดแย้งผลประโยชน์ ในหลายกรณีกล่าวได้ว่าผู้สร้างปัญหาเพียงเห็นแก่ตัว เห็นว่ามีช่องว่างของกฎหมาย นอกจากนั้นผู้เสียประโยชน์ก็มักเป็นรายย่อย ซึ่งบางครั้งก็ยอมเสียประโยชน์ เพราะไม่ต้องการออกแรงต่อสู้ ดังนั้น ปัญหาจึงดำเนินไปจนทำให้สังคมทั้งหมดเสื่อมสลาย

โดยสรุป ผู้เขียนชี้ว่า การตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคมมีผลมากต่อชะตากรรมของสังคมนั้นๆ ความยึดมั่นในทางที่ผิดร่วมกันเป็นเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความผิดพลาด นับตั้งแต่ความงมงายในลัทธิความเชื่อหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม ในระดับบุคคล เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะไม่ยอมเปลี่ยนความคิด บางครั้งเมื่อต้องเลือกระหว่างการทำผิดเพื่อรอดกับการตาย หลายคนเลือกอย่างแรก แต่เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วมนุษย์อาจต้องเลือกที่จะประนีประนอม และบางทีสิ่งสำคัญที่สุดของสังคม คงเป็นความสามารถที่จะร่วมกันเลือกทางรอด ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เคยเรืองอำนาจแข่งกันอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต้องยอมที่จะรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรป

ในการตัดสินใจของกลุ่มคนนั้น บ่อยครั้งที่เป็นไปเหมือนในนิทานอีสป เรื่องเด็กเลี้ยงแกะ เมื่อสัญญาณเตือนครั้งแรกผิด คนก็มักไม่เชื่อครั้งต่อๆ ไปที่ปรากฏว่าเป็นของจริง ในบางแห่งคนนึกถึงแต่เรื่องเฉพาะหน้า เป็นเรื่องยากที่จะมองไกลกว่านั้น ดังเช่น คนอดหยากในรวันดาก่อนสงครามกลางเมือง ในเรื่องการตัดสินใจกลุ่ม ผู้เขียนในฐานะนักจิตวิทยา ได้วิเคราะห์ให้เห็นอย่างน่าสนใจในบทสุดท้ายนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะคล้อยตามกลุ่ม แม้ว่าถ้าให้เลือกตามลำพังจะเป็นในทางตรงกันข้าม อิทธิพลของกลุ่มนี่เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่น่าเชื่อในอดีต ทั้งเรื่องการไล่ล่าแม่มด จนถึงเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี จนกระทั่งแม้แต่การรวมกลุ่มเล็กๆ ของคนระดับหัวกะทิ เพื่อตัดสินใจเรื่องคอขาดบาดตาย ก็อาจก่อให้เกิดความผิดพลาด ตัวอย่างเช่น คณะทำงานของประธานาธิบดีเคนเนดีกรณี เบย์ ออฟ พิกส์ ในคิวบา อาจเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่าการปฎิเสธหนทางที่แย่ที่สุด คนเรามีพฤติกรรมแบบนี้ คือเมื่อมองเห็นว่าจะเข้าตาจน มักจะเกิดอาการคิดไปในทางตรงกันข้าม ปฏิเสธความเป็นจริงกะทันหัน
ท้ายที่สุดผู้เขียนชี้ว่า มีบางปัญหาที่แม้เรารู้ปัญหา และได้พยายามแก้แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีทางสำเร็จ ตัวอย่างเช่น เรื่องแมลงศัตรูพืชซึ่งแม้จะใช้ยาฆ่าแมลง แต่แมลงย่อมต้านทานได้ในท้ายที่สุด และจะกลับมาอีก เราอาจต้องยอมรับว่า บางสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะกับกิจกรรมที่เราได้ลงมือทำไป

ตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนได้ยกประเด็นล้อมรอบปัจจัยห้าประการ ที่สรุปไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า คือ สาเหตุที่เป็นไปได้ของความเสื่อมของระบบนิเวศ หรือกล่าวคือ การล่มสลายของอารยธรรม
ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

(๑) ตัวมนุษย์เอง

(๒) ปัญหาการจู่โจมจากศัตรูภายนอก

(๓) ปัญหาขาดแคลนเพื่อนบ้านที่ดี

(๔) ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และ

(๕) ความขัดแย้งทางระบบสังคม

สังคมที่ได้ล่มสลายได้เผชิญมากกว่าหนึ่งปัจจัยดังกล่าว

ดังนี้ เมื่อได้อ่านทั้งเล่มแล้ว ผู้อ่านอาจรู้สึกว่า ปํญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องตัดสินใจร่วมกันเป็นเรื่องยาก เสี่ยงต่อหายนะ และช่างหนักหน่วง แต่ผู้เขียนก็ชี้ให้เห็นว่า ความจริงที่ผ่านมาสังคมมนุษย์แก้ปัญหาลุล่วงได้เป็นมากกว่าผิดพลาด ดังที่เขายกตัวอย่างความผิดพลาดมาได้เป็นจำนวนจำกัด ทั้งนี้ เขาสรุปว่า ตัวเขาไม่ใช่คนมองโลกแง่ร้าย หากแต่ขอเลือกเป็นคนมองโลกแง่ดีตามที่เป็นจริง เพื่อที่ว่าจะได้รู้เท่าทัน และร่วมป้องกันปัญหา ไม่ให้โลกที่จะส่งต่อให้ลูก ต้องเต็มไปด้วยความยากลำบาก กว่าช่วงชีวิตที่เขาได้ประสบมา
จุดสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข มีทิ้งท้ายความเป็นไปได้สองสามจุด ในแง่เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถเชื่อมโยงสินค้าและบริการ กับการผลิตที่สะอาดได้ เราก็น่าจะมีทางรอด ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมน้ำมันที่เอาใจใส่กระบวนการผลิต เนื่องด้วยผู้คนเชื่อมโยงได้โดยตรง ว่าจะเลือกเติมน้ำมันบริษัทไหน ปัญหาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงมีอยู่ เพราะแทบไม่มีใครคิดว่าได้ไฟฟ้าตามบ้านมาอย่างไร ราคาวัตถุดิบที่ต่ำ ทำให้ผู้ผลิตอ้างว่า ไม่มีทุนพอที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่สังคมต้องจ่ายแพงกว่าอีกมาก เพื่อทำความสะอาดในตอนท้าย



จาเร็ด ไดอะมอนด์ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด เขาเกิดที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเสตต์ ในขณะที่บิดาประกอบอาชีพกุมารแพทย์ และมารดาเป็นครูสอนดนตรี เขาศึกษาวิชาชีววิทยาในระดับปริญญาตรี และจบปริญญาเอกแขนงจิตวิทยา
ช่วงอายุยี่สิบกว่า จาเร็ด ไดอะมอนด์ได้เดินทางไปศึกษาระบบนิเวศและพันธุ์นกต่างๆ ในนิวกินี ประสบการณ์ในประเทศเขตร้อนเป็นส่วนหนึ่งของความบันดาลใจ

ต่อมาเขาได้ศึกษาประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม เมื่ออายุได้ห้าสิบปีเขาได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ ปัจจุบันสอนวิชานี้ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส
งานเขียนชิ้นสำคัญก็คือ ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของ สังคมมนุษย์ (Guns, Germs, and Steel: The Fates of Human Societies) แปลโดย อรวรรณ คูหาเจริญ นาวายุทธ เล่มนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ นอกจากนี้ยังมีเล่ม Why Is Sex Fun?: The Evolution of Human Sexuality และ The Third Chimpanzee : The Evolution and Future of the Human Animal ที่เขียนร่วมกับแอร์นส์ มัยเออร์ นักชีววิทยาผู้ได้ชื่อว่าเป็นดาร์วินแห่งยุคสมัย ได้แก่ What Evolution Is และ The Birds of Northern Melanesia : Speciation, Ecology, and Biogeography


0 ความคิดเห็นที่:

แสดงความคิดเห็น

<< Home