วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 13, 2550

What is Relativity?

What is Relativity?

ผู้แต่ง แอล ดี แลนเดา และ จี บี รูเมอร์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. ๑๙๕๙
ประเภท ฟิสิกส์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์โดเวอร์ พับลิเคชัน
ต้นฉบับเดิม ภาษารัสเซีย
แนะนำโดย ดร. สิวินีย์ สวัสดิ์อารี


ทฤษฎีสัมพัทธภาพซึ่งเสนอโดยไอน์สไตน์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ถือว่าเป็นทฤษฎีที่มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิด โลกทัศน์ และกระบวนการในการศึกษา ทั้งยังถูกตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในแวดวงวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ทฤษฎีสัมพัทธภาพนี้ถือว่าเป็นทฤษฎีพื้นฐานในวิชาฟิสิกส์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ นักฟิสิกส์หลายยุคหลายสมัย รวมทั้งตัวผู้เสนอทฤษฎีเอง ต่างก็พยายามที่จะอธิบายต่อสาธารณชน โดยไม่จำกัดว่ามีพื้นฐานความรู้ทางฟิสิกส์อยู่มากน้อยเพียงไร ดังจะเห็นว่า มีหนังสือมากมายที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายทฤษฎีที่ว่านี้ แต่ความสำเร็จของหนังสือแต่ละเล่มก็แตกต่างไป เล่มที่เขียนขึ้นโดยแลนเดา นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลชาวรัสเซีย เป็นตัวอย่างที่ดี ของความพยายามในการสื่อสารความรู้วิทยาศาสตร์เฉพาะทาง ให้กับบุคคลทั่วไป


หนังสือของแลนเดาจะเล่มไม่ใหญ่ แต่ละบทจะถูกแบ่งออกมาเป็นหัวข้อย่อยๆ แต่ละหัวข้อจะถูกอธิบายอย่างกระชับ ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ บทความของเขาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ได้รับการยกย่องว่า สั้นกระชับ แต่สมบูรณ์ในตัวเอง ถือได้ว่าเป็นนักฟิสิกส์คนหนึ่งที่เขียนเก่ง ดังที่มีผลงานการเขียนตำราเป็นที่ประจักษ์หลายเล่มด้วยกัน


ในหนังสือ “สัมพัทธภาพคืออะไร?” นี้ แลนเดามุ่งอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่ยากต่อการทำความเข้าใจต่อคนทั่วไป หนังสือเล่มนี้รวมบรรณานุกรมแล้ว หนาเพียงแค่ ๗๐ หน้า ตัวหนังสือก็โต อ่านง่าย สบายตา ที่สำคัญไม่มีสมการคณิตศาสตร์ขวางหูขวางตา จะมีก็แต่การบวก/ลบ/คูณ/หารตัวเลขง่ายๆ ชุดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองสามแห่ง ทั้งยังเลือกใช้รูปภาพมาช่วยในการอธิบายอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหนังสือเล่มเล็กนี้ก็คือคำถามต่างๆ ที่ตั้งขึ้น และพยายามตอบ รวมทั้งการท้าทายผู้อ่านให้ก้าวออกจากความเคยชินเดิมๆ หรือแนวความคิดเดิมอยู่เป็นระยะๆ การท้าทายดังกล่าวอาจทำให้หลายคนคิดว่าแลนเดาชื่นชม และยกย่องการเป็นนักฟิสิกส์ของตัวเขาเองเสียเหลือเกิน

ผู้ปริทัศน์คิดว่า เจตนาจริงๆ ของแลนเดาอาจจะเพียงแค่ตั้งใจเล่าถึงการทำงานของนักฟิสิกส์ ว่าคนกลุ่มนี้ทำงานบนข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติที่รวบรวมมาได้ และถือว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นตัวกำหนดทางเดินของทฤษฎี แม้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นจะขัดกับความรู้สึกของเรา ขัดแย้งกับทฤษฎีที่มีอยู่แต่เดิม หรือขัดกับความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับธรรมชาติก็ตาม แลนเดากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับ “สิ่งที่ถูกเรียกขานว่าสามัญสำนึก” ว่า

“สิ่งที่ถูกเรียกขานว่าสามัญสำนึกไม่ใช่สิ่งใดเลย นอกเสียจากความคิดเห็นทั่วไป และนิสสัยความเคยชินที่จำเริญวัยขึ้นจากชีวิตประจำวัน เป็นลำดับขั้นของความเข้าใจที่สะท้อนภาพการทดลองบางอย่าง”
และกล่าวถึงกระบวนการ ที่วิทยาศาสตร์เผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างสามัญสำนึก กับข้อมูลการทดลองใหม่ๆ ว่า
“วิทยาศาสตร์มิได้หวั่นเกรงการปะทะกับสิ่งที่รียกว่าสามัญสำนึก หากหวาดหวั่นต่อความไม่ลงตัว ระหว่างแนวคิดที่มีอยู่กับข้อเท็จจริงใหม่จากการทดลอง และเมื่อมีความไม่ลงตัวที่ว่าเกิดขึ้น วิทยาศาสตร์ก็ไม่รั้งรอที่จะบทขยี้แนวคิดก่อนหน้านั้น และยกระดับความรู้ของเราให้สูงขึ้น”

ดังนั้น หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ไม่เพียงแต่อธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกมุมมองของผู้เขียนเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

หนังสือ ”สัมพัทธภาพคืออะไร?” แบ่งออกเป็น ๖ บท โดยเริ่มจากตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ยืนยันหลักการของสัมพัทธภาพ ก่อนจะแยกย่อยคุณสมบัติสัมพัทธ์ของปริมาณทางฟิสิกส์ ตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้ง อัตราเร็ว แสง เวลา ไล่เลียงไปจนถึงมวลของวัตถุ ทั้งยังกล่าวถึงโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพนี้


แลนเดาเริ่มเล่าด้วยตัวอย่างของสัมพัทธภาพที่เราคุ้นชิน ตัวอย่างง่ายๆ หลายๆ ตัวอย่างถูกยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เราเห็นว่า ข้อมูลทั้งหลายที่เรามีอยู่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ ซ้ายขวา หน้าหลัง เล็กใหญ่ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง หรือจุดที่เรามองออกไปเทียบกับสิ่งที่เรามองอยู่ ผู้ปริทัศน์เห็นว่า จุดมุ่งหมายของเขาน่าจะอยู่ที่การแสดงให้เห็นความสำคัญของจุดอ้างอิง เช่น ถ้าเราจะบอกว่าบ้านหลังหนึ่งอยู่ด้านซ้ายหรือขวาของถนน เราคงต้องบอกด้วยว่าเรามองบ้านนั้นจากด้านไหน

หลังจากนั้น แลนเดาจึงกล่าวถึงธรรมชาติของที่ตั้งและอัตราเร็ว ว่าสัมพัทธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร ด้วยการเล่าถึงการเดินทางของสุภาพสตรีสองท่าน ที่เดินทางโดยรถไฟจากมอสโควไปยังวลาดิวอสต็อก ซึ่งเป็นการเดินทางที่กินเวลาหลายวัน สุภาพสตรีสองท่านนี้นัดหมายที่จะมานั่งเขียนจดหมายด้วยกันตรง “ที่เดิม” ทุกๆ วัน ผู้รับจดหมายอาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่เธอบอกว่าเธอเขียนจดหมายจากที่เดิม เพราะผู้รับจดหมายได้รับจดหมายที่ประทับตราไปรษณีย์จาก ”ต่างเมือง” กันทุกวัน โดยแต่ละเมืองอยู่ห่างกันหลายร้อยไมล์ คำถามที่ตั้งขึ้นหลังจากที่เล่าเรื่องการเดินทางนี้จบก็คือ ”ใครถูกใครผิด? ผู้เขียนหรือผู้รับจดหมาย?” แลนเดากล่าวว่า “คำว่าที่เดิมมีความหมายในเชิงสัมพัทธ์เท่านั้น”

เหยื่อของสัมพัทธภาพรายต่อไปก็คือ แสง แลนเดาได้เล่าถึงพัฒนาการความรู้ความเข้าใจของเราที่มีเกี่ยวกับแสง ลักษณะความเหมือนและความต่างระหว่างแสงและเสียง ความยุ่งยากขัดแย้งระหว่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับความเข้าใจที่มาแต่เดิมของเรา ชะตากรรมของแสงจบลงด้วยชัยชนะของหลักการสัมพัทธภาพ

ธรรมชาติของเวลาเองก็เป็นสิ่งสัมพัทธ์ เช่นเดียวกับสถานที่ หนังสือยังได้กล่าวถึงการปะทะระหว่างความรู้เดิมกับข้อมูลใหม่ ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและทัศนะที่เรามีต่อธรรมชาติ มีการอธิบายถึงธรรมชาติของความเร็วของแสงที่คงที่ และมีความเร็วจำกัด และสรุปเรื่องของเวลา โดยการพิจารณาสิ่งที่ผนวกมากับเวลา นั่นก็คือ เรื่องราวของการ “มาก่อน” และ “มาทีหลัง” ว่ามีความหมาย และขอบเขตอย่างไร

ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องแสงและเวลาว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์นั้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น ไม้บรรทัด นาฬิกา ที่เราใช้วัดตำแหน่งและเวลา เมื่อความหมายและพฤติกรรมของตำแหน่งแห่งที่ และเวลา เปลี่ยนแปลง เราจะเข้าใจสิ่งที่เราอ่านจากไม้บรรทัดและนาฬิกาอย่างไร?

มวลของวัตถุเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในช่วงท้าย มวลเองก็หนีชะตากรรมของการมีธรรมชาติอันสัมพัทธ์กับสิ่งอื่นไม่ได้เช่นกัน

ประโยคต่อไปนี้อาจจะสรุปแนวคิดของแลนเดา และความชื่นชมของเขาที่มีต่อทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ดีที่สุด

“การค้นพบว่า เวลาคือสิ่งสัมพัทธ์ ได้นำมาซึ่งการปฏิวัติอย่างลึกซึ้งใหญ่หลวง เกี่ยวกับโลกทัศน์ต่อธรรมชาติของมนุษย์ การค้นพบนี้ คือ สิ่งแสดงชัยชนะทางสติปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ที่มีเหนือความคิดเห็นที่บิดเบือนสั่งสมมาหลายยุคสมัย”



แอล ดี แลนเดา น่าจะเป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ของสหภาพโซเวียต ในช่วงกลางของคริสตวรรษที่ ๒๐ ชื่อของเขาเป็นชื่อหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเสมอๆ ในวิชาฟิสิกส์
งานวิจัยของแลนเดาค่อนข้างหลากหลาย ดังที่ระบุไว้ในคำประกาศรางวัลโนเบลปีค.ศ. ๑๙๖๒ ซึ่งกินความกว้างขวางมาก ต่างจากคำประกาศรางวัลครั้งอื่นๆ ที่จะระบุชัดเจนว่าให้แก่ผลงานชิ้นใด ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะว่า แลนเดาสร้างผลงานที่มีความสำคัญในระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันไว้มากมาย

อย่างไรก็ตาม อาจจะกล่าวได้ว่า ผลงานที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งของแลนเดา ต่อการเรียนการสอน และการพัฒนาฟิสิกส์ต่อๆ มา คือ หนังสือตำราเรียนชุดฟิสิกส์ทฤษฎี ที่แลนเดาเขียนร่วมกับเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่กลศาสตร์ยุคเก่า จนถึงพลศาสตร์ควอนตัม ตำราเรียนชุดนี้กลายมาเป็นตำราเรียนพื้นฐาน และมาตรฐานสำหรับนักเรียนฟิสิกส์จนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการแปลไปสู่ภาษาต่างๆ หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ และเยอรมัน เป็นต้น

Small is Beautiful

Small is Beautiful : Economics as if People Mattered

ผู้แต่ง อี.เอฟ. ชูมักเคอร์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๖
ประเภท เศรษฐศาสตร์ จิตวิญญาณ
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์บริษัทบลอนด์และบริกกส์

แนะนำโดย ทวี คุ้มเมือง

"เศรษฐศาสตร์ที่ปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับค่านิยมทางศีลธรรม หาใช่เศรษฐศาสตร์ไม่" อมตวาจาของมหาตมา คานธี
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย รวบรวมและแปล


วิถีชีวิตภายใต้ระบบฟอร์ดที่นักอุตสาหกรรมนิยมชาวอเมริกัน เฮนรี ฟอร์ด นำมาใช้ในโรงงานของเขา เพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตรถยนต์ให้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม โดยลดทอนทักษะฝีมือของมนุษย์ให้เหลือเพียงคอยจับไขควงขันน็อตตัวเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ดูจะให้ภาพสะท้อนชัดเจนถึงวิกฤตของความเป็นมนุษย์ ไม่แตกต่างจากระบบโรงงานในสหภาพโซเวียตตามช่วงเวลาใกล้เคียงกันสักเท่าไหร่

ทำไมทั้งสองฟากฝั่งอุดมการณ์การเมืองยุคสงครามเย็น อันดูเสมือนขัดแย้งแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม จึงมีมโนทัศน์หลักต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันยิ่งนัก เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งเน้นการถือครองทรัพย์สินอย่างเสรี ส่วนอีกฝ่ายเชื่อในวิธีกระจายกรรมสิทธิ์โดยรัฐ หากทั้งหมดล้วนตกอยู่ภายใต้กระแสของการทำให้เป็นสมัยใหม่ เป็นกรอบคิดตามกระบวนทัศน์ที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน อี.เอฟ. ชูมักเคอร์ เรียกว่า “อภิปรัชญาวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม” เพราะต่างก็มุ่งตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างเต็มพิกัด มองเห็นสรรพสิ่งด้วยทัศนะแบบกลไกแยกส่วนนั่นเอง

บทความชิ้นสำคัญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ของชูมักเคอร์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Asia: A Handbook คือ Buddhist Economics ซึ่งต่อมาถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกของเขาที่ถูกถ่ายทอดสู่ภาษาไทยโดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นำเสนอให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แปลก่อนตีพิมพ์เป็นจุลสารช่วงปี พ.ศ. 2517 ในชื่อ เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ต่อมาทางพุทธสถานสันติอโศกได้แปลอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยใช้ชื่อเรื่อง ความล้มเหลวของเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เพราะไม่สนใจ "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ" แสดงให้เห็นถึงร่องรอยกระแสความคิดของปัญญาชนคนสำคัญว่าได้เริ่มต้นขึ้นอย่างไรในสังคมไทย

เดิมทีนั้นชูมักเคอร์มีโครงการจะพิมพ์หนังสือสองเล่มคือ A Guide for Perplexed และ Small is Beautiful โดยเนื้อหาของเล่มแรกจะเป็นในเชิงปรัชญาและศาสนธรรม ส่วนเล่มหลังนั้นเป็นการรวบรวมข้อเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ ครั้งแรกเขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ผู้คืนสู่เหย้า อันหมายถึงการหวนกลับสู่รากเหง้าภายใต้วิถีชีวิตแบบชุมชนดั้งเดิม แต่เมื่อขัดเกลาต้นฉบับจนเรียบร้อย ทางบริษัทบลอนด์และบริกกส์พิจารณาขอเปลี่ยนชื่อเป็น Small is Beautiful: A Study of Economics as if People Mattered ตีพิมพ์สู่ท้องตลาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

สำหรับในภาคภาษาไทย Small is Beautiful ได้รับการแปลครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๔ โดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์ ในชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ ส่วนผลงานชิ้นอื่น ๆ ของชูมักเคอร์ทยอยเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

แม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานกว่าสามสิบปี แต่ดูเหมือนแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ยังคงสามารถอธิบายปรากฏการณ์ร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ หายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อม การแสวงหาพลังงานทดแทน ปัญหาความยากจนขาดแคลนในประเทศซีกโลกใต้ ตลอดถึงกติกาสำหรับแบ่งปันรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ฯลฯ ซึ่งข้อเสนอหรือแนวทางจัดการทั้งหมดนี้ ยังคงขาดความใส่ใจนำไปประยุกต์ปฏิบัติอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและเอกชน นับแต่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะโดยภาคภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ตามที

ยิ่งเมื่อ Small is Beautiful ถูกนำมาแปลใหม่อีกครั้ง ณ ห้วงขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอย่างรอบด้านในยุคทักษิโณมิกส์ โดยมีชื่อใหม่อีกครั้งว่า เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน กษิร ชีพเป็นสุข แปล วีระ สมบูรณ์ บรรณาธิการแปล โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ หนังสือเล่มนี้คงต้องมีอะไรน่าสนใจมิใช่น้อยทีเดียว จึงต้องถือกำเนิดถึงสองครั้ง โดยทิ้งช่วงห่างกันประมาณเสี้ยวศตวรรษ

เนื่องจากหนังสือ เล็กนั้นงาม เป็นการเก็บเอาข้อเขียนในต่างกรรมต่างวาระ อันเนื่องด้วยเศรษฐศาสตร์มารวมไว้ แล้วจัดเรียงลำดับใหม่ตามเนื้อหาสาระของแต่ละเรื่องเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจะถือเป็นงานเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายแล้วก็ตาม แต่เรากำลังต้องสนทนากับมนุษย์ผู้ทรงภูมิปัญญา ฉะนั้น ความเข้าใจพื้นฐานต่อหนังสือจึงสำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน

หากตัดคำนำสำนักพิมพ์ คำนิยม คำปรารมภ์ คำนำ ฯลฯ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสิ่งพิมพ์แล้ว ตัวบทถูกจัดแบ่งเป็นสี่ส่วน

ส่วนแรก โลกสมัยใหม่ประกอบด้วยห้าบทย่อย เริ่มจาก ปัญหาของการผลิต ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญ ได้แก่ ความประมาณตนอย่างผิดพลาดของมนุษย์ “มนุษย์สมัยใหม่มิได้ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่กลับเห็นว่า ตนเป็นพลังภายนอก ที่จะครอบครอง และพิชิตมัน” นี่ต้องถือเป็นการสวนกลับต่อทัศนะแบบวิทยาศาสตร์อย่างตรงประเด็น เพราะความรุนแรงนับมิถ้วนครั้งในรอบกว่าห้าร้อยปีมานี้ ส่วนใหญ่บังเกิดขึ้น เพราะความคิดต้องการครอบครองสรรพสิ่ง เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะมวลมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยผู้เข้มแข็งกว่าย่อมได้เปรียบผู้อ่อนแอ ท่ามกลางสงครามแย่งชิงทรัพยากร “มนุษย์ที่ถูกผลักดันด้วยความโลภหรือความอิจฉานั้น จะสูญเสียอำนาจในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นจริง ๆ“ คือ คำอธิบายต่อเหตุแห่งความรุนแรงอย่างชัดแจ้งในบทที่สอง สันติภาพและความยั่งยืน

ส่วนบทที่สาม บทบาทของเศรษฐศาสตร์ แสดงให้เห็นทั้งคุณและโทษของสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวิธีแบบอภิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีแนวโน้มยึดอำนาจจากศาสตร์สาขาอื่น แต่กลับละเลยตรวจสอบปัญหาภายในตัวมันเอง เช่น ผลเสียจากอุตสาหกรรม อัตราประชากรกับเมือง การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า โดยประเด็นเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายลงได้ เมื่อถึงบทที่สี่อันโด่งดัง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ผู้เขียนชี้ชัดลงไป ถึงปัญหาสุดขั้วระหว่างการเติบโตอย่างทันสมัยกับการล้าหลังหยุดนิ่ง แต่แนวคิดทางพุทธศาสนาได้เสนอทางสายกลางเอาไว้แล้ว โดยมีการงานอันชอบเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ เพื่อใช้ยึดโยงคุณค่าทั้งวัตถุกับจิตใจอย่างประสานสมดุล รอเพียงปัจเจกตลอดถึงสังคมพร้อมออกแสวงหา “สัมมาอาชีวะ” กันหรือยังเท่านั้น

บทที่ห้า คำถามเรื่องขนาด อธิบายถึงเหตุปัจจัย ที่ทำให้มนุษย์ต้องการโครงสร้างสำหรับชีวิตแตกต่างกัน ตามความเหมาะสม แต่ความเชื่อ “ใหญ่ยิ่งเยี่ยม” โดยเฉพาะรูปธรรมแบบอภิมหานคร กลับยิ่งลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ให้จมดิ่ง สู่ห้วงแห่งความหวาดกลัวเกลียดชังต่อชีวิตอย่างรวดเร็วเพียงใด “ยังมี ‘สัญญาณแห่งยุคสมัย’ ไม่เพียงพออีกหรือ ที่จะชี้ให้เห็นว่าการเริ่มต้นใหม่เป็นสิ่งจำเป็น ?”

ส่วนที่สอง ทรัพยากร เริ่มจากบทที่หก ทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด – การศึกษา ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ จี.เอ็น.เอ็ม. ไทเรลล์ เรียกว่าปัญหา ทางสองแพร่งและทางบรรจบ ซึ่งมนุษย์มิอาจแก้ไขด้วยความคิดชี้นำหกประการ ได้แก่ ๑. ทฤษฎีวิวัฒนาการ ๒. แนวคิดว่าด้วยการแข่งขันและผู้เหมาะสมจึงอยู่รอด ๓. ประวัติศาสตร์ทั้งหมดคือการต่อสู้ทางชนชั้น ๔. จิตวิเคราะห์ปมทางเพศของ ซิกมัน ฟรอยด์ ๕. แนวทางปฏิบัตินิยม ที่ปฏิเสธความจริงอื่นอันมิอาจจับต้องได้ ๖. ปฏิฐานนิยม ซึ่งอาศัยเฉพาะวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์สำหรับอธิบายสรรพสิ่งเท่านั้น ความคิดหกประการนี้กลายเป็นการศึกษาหลักของผู้คนมาตลอดหลายศตวรรษ ฉะนั้น มันจึงปลูกฝังทัศนะแปลกแยกขัดแย้งทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และธรรมชาติ อย่างเงียบเชียบแต่น่าหวาดหวั่น

บทที่เจ็ด การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมฺ เนื่องเพราะแผ่นดินเป็นสิ่งรองรับมนุษย์มาช้านาน แต่กลับถูกละเลยกระทั่งทำลายอย่างยิ่ง การดูแลเยียวยาผืนธรณีให้ตื่นฟื้นขึ้นใหม่คือ การประกอบกิจอันพึงเคารพรักษาแผ่นดิน ไม่ว่าจะทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ฯลฯ เพราะถ้ายิ่งเพิ่มกำไรทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ ปัญหามลภาวะก็ทบทวีคูณตามไปเท่านั้น

สามบทท้ายคือ ทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรม, พลังงานนิวเคลียร์ – ทางรอดหรือทางวอด, เทคโนโลยีที่มีหน้าตาเป็นมนุษย์ อิงอาศัยข้อมูลจากรายงาน ขีดจำกัดต่อการเจริญเติบโต ของโครงการคลับแห่งโรม ซึ่งเปิดเผยถึงการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยกับตัวเลขลดลงทางทรัพยากร แต่วิกฤตครั้งนี้ กลับยิ่งทำให้มนุษย์มอบความไว้วางใจต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะพลังงานปรมาณ ูมากขึ้นไปอีก หาได้ตระหนักถึงหายนะภัยอันไม่อาจควบคุม ภายใต้หน้ากากแห่งความสะดวกสบายประจำวัน แทนที่จะ “ไปสู่ขนาดที่แท้จริงของมนุษย์ มนุษย์นั้นเล็ก และดังนั้น เล็กจึงงาม” ก่อนจะสายเกินแก้ในอนาคตอันใกล้

ส่วนที่สาม โลกที่สาม ผู้เขียนขยายขอบเขตของปัญหา และทางออก ไปสู่ดินแดนซีกโลกใต้ เพราะเขาเห็นว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญยิ่ง ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโลกให้คืนสู่สมดุลอีกครั้ง ดังนั้นบททั้งสี่คือ การพัฒนา, ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ที่เรียกร้องให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับกลาง, หมู่บ้านสองล้านแห่ง, ปัญหาการว่างงานในอินเดีย ล้วนเน้นหัวใจหลักของพลังเชิงสร้างสรรค์จากสามัญชน ผ่านเทคโนโลยีระดับกลาง หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้วยมนุษย์ควรสร้างความภาคภูมิอย่างมีอิสระ จากมือทั้งสองข้างของตนนั่นเอง
การจัดองค์กรและการถือครอง เป็นส่วนสุดท้ายที่เข้าใจไม่ง่ายนัก แต่กลับเป็นประเด็นร่วมสมัยอย่างยิ่ง เพราะแม้ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะเถลิงอำนาจสูงสุดพร้อมกระแสโลกาภิวัตน์ ภายหลังการล่มสลายของบรรดาประเทศสังคมนิยมแล้วก็ตาม แต่ปัญหาความยากจน อันเกิดแต่การกระจุกตัวของทุนและกำไรในมือคนแค่เพียงบางกลุ่ม กลับยิ่งขยายเส้นแบ่งแตกต่างระหว่างผู้คนให้ถ่างกว้างมากขึ้น สามบทแรก เครื่องจักรสำหรับทำนายอนาคต?, สู่ทฤษฎีการจัดองค์กรขนาดใหญ่, สังคมนิยม อาจจะดูไม่มีอะไรใหม่นักสำหรับผู้อ่านยุคปัจจุบัน แต่ต้องถือเป็นคำคาดการณ์ ที่มิคลาดเคลื่อนไปจากภาวะซึ่งเราต้องประสบกันอยู่ในปัจจุบันมิใช่หรือ

สองบทสุดท้าย การถือกรรมสิทธิ์, แบบแผนใหม่ของการถือครองกรรมสิทธิ์ น่าจะเข้ากันได้กับปัญหาเรื่องสิทธิบัตร หรือแหล่งกำเนิดสินค้า อันเป็นผลจากข้อเสนอระดับโลกของเขตการค้าเสรี ที่ปัดกวาดเอาคนธรรมดา ให้ตกอยู่ภายใต้คลื่นเศรษฐกิจการลงทุนอย่างยากหลีกพ้น “แต่สิ่งที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบันคือ การทบทวนเป้าหมาย ซึ่งวิถีทางเหล่านี้มีไว้เพื่อบรรลุ” อย่างรู้เท่าทันต่อตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ที่ขาดความพอดีเหล่านี้

คงต้องถือเป็นเรื่องแปลกอยู่เหมือนกัน ที่หนังสือว่าด้วยเศรษฐศาสตร์ ที่มักถูกเข้าใจว่าอ่านยากจะกลายเป็นหนังสือขายดีขึ้นเสียได้ ทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ไม่นับถึงชื่อเสียงเกียรติภูมิประดามีซึ่งติดตามมาสู่ตัวผู้เขียนอย่างล้นหลาม

หลังจากมีการจัดพิมพ์จุลสาร เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ทัศนะของชูมักเคอร์ ก่อให้เกิดกระแสตอบรับจากปัญญาชนฝ่ายพุทธอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมไทยขณะนั้น เริ่มตระหนักถึงผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่หลงลืมพื้นฐานชุมชนดั้งเดิม ท้องถิ่นถูกทอดทิ้งละเลย ความเจริญโดนผูกขาดไว้เฉพาะเมืองหลวง จนเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”

ส่วนงานเขียนที่เชื่อมโยงเศรษฐศาสตร์กับพุทธศาสนาโดยคนไทยเล่มแรก ได้แก่ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจัดพิมพ์ ตามด้วยงานวิจัยขนาดใหญ่ของ อภิชัย พันธเสน พุทธเศรษฐศาสตร์ : วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ ด้วยทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) สำนักพิมพ์อมรินทร์จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งต่อมาก็มีบทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ ตามออกมาอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ความคิดเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ก่อให้เกิดกระแสการนำเอาพุทธศาสนาไปประยุกต์ เปรียบเทียบกับศาสตร์สมัยใหม่ต่าง ๆ โดยใช้คำว่า “เชิง/แนว” เชื่อมความหมายเข้าหากัน เช่น รัฐศาสตร์แนวพุทธ นิติศาสตร์แนวพุทธ แพทยศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางความคิดในแวดวงปัญญาชนไทย หลังเริ่มเห็นโทษจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความเสื่อมทรุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นลำดับมา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธจึงเปรียบดั่งทางเลือก สู่การพัฒนาแบบยั่งยืนสำหรับสังคมไทย





แอร์นสต์ ฟรีตดริค ชูมักเคอร์ เขาเกิดในกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับทุนเพื่อศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ณ นิวคอลเลจ ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ไปสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเขาตัดสินใจกลับไปเยอรมนี ซึ่งกำลังถูกปกครองโดยพรรคนาซี แต่เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลฮิตเลอร์จึงอพยพครอบครัวไปอยู่อังกฤษ ก่อนตกเป็นเชลยศึกในระหว่างสงครามที่นั่น ระหว่างปี พ.ศ. 2489–93 เขาได้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับคณะกรรมาธิการในเขตควบคุมของอังกฤษที่เยอรมนี แล้วย้ายมาปักหลักที่อังกฤษเป็นการถาวร ในฐานะนักกิจกรรม เขาเข้าไปมีส่วนสำคัญในหลายองค์กร เช่น สมาคมดิน บริษัทสินร่วม สก็อต เบเดอร์ กองทุนเพื่อการพัฒนาแอฟริกา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีระดับกลาง

วีระ สมบูรณ์ เคยเขียนเอาไว้ในคำปรารภเมื่อเรียบเรียง Alias Papa: A Life of Fritz Schumacher โดย บาร์บารา วู้ด เป็นภาษาไทยในชื่อ ชีวิตและความคิด อี.เอฟ.ชูมักเคอร์ สำนักพิมพ์เทียนวรรณจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ว่า “หากยกเว้นงานนิพนธ์ของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ลงทุนและผู้จัดการแปลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ชูมักเคอร์ คงจะเป็นนักคิดต่างชาติ ต่างภาษาคนเดียวในรอบศตวรรษนี้ที่มีผู้แปลงานหลัก ๆ ไว้เป็นภาคไทยเกือบครบครัน”

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถือเป็นเวลาที่หนังสือของชูมักเคอร์ถูกแปลออกมาเกือบครบชุด นอกจาก เล็กนั้นงาม ในชื่อเดิม จิ๋วแต่แจ๋ว แล้วยังมี แผนที่คนทุกข์ (A Guide for Perplexed) วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล ตามด้วย งาน กับคุณค่าของชีวิต : ข้อคิดท้าทายเพื่อการสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ขึ้นใหม่ (Good Work: When Excellence and Ethics Meet ) ภาวนา ยมกนิษฐ์ แปล รวมถึงงานสรุปแนวคิดชูมักเคอร์อย่างย่นย่อของ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล มนุษย์คือชีวิตเล็ก ๆ ที่งดงาม : ความคิดทางจริยศาสตร์ของชูเมกเกอร์ สำนักพิมพ์เทียนวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖

ชูมักเคอร์เสียชีวิตช่วงสายของวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ บนรถไฟ ขณะกำลังจะเดินทางไปปาฐกถาที่สวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สาทิส กุมาร บรรณาธิการหนังสือ Resurgence ได้ร่วมมือกับศิลปิน จอห์น เลน ก่อตั้งวิทยาลัยชูมักเคอร์ขึ้นที่เมืองทอตเนส มณฑลเดวอน อันเป็นชุมชนการศึกษาทางเลือก เปิดอบรมหลักสูตรในเชิงนิเวศน์และจิตวิญญาณ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักคิดผู้ “ยิ่งน้อย” แห่งศตวรรษที่ ๒๐

Pandora’s hope

Pandora’s hope : Essays on the reality of science studies

ผู้แต่ง บรูโน ลาตูร์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ประเภท วิทยาศาสตร์ศึกษา สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

แนะนำโดย ปกรณ์ เลิสเสถียรชัย

คำว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษา” ฟังดูเป็นคำใหม่ในวงวิชาการไทย รวมทั้งในสังคมไทยด้วย ในโลกวิชาการตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป คำนี้มีความเป็นมามากว่าสองทศวรรษ ในฐานะที่เป็นสาขาวิชาหนึ่ง ที่คร่อมหลายสาขาวิชา คำแปลเป็นไทยที่ผู้ปริทัศน์มอบให้ว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษา” นั้น อาจจะชวนให้ไขว้เขวไปได้ว่า นี่คือสาขาวิชา ที่ข้องเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นคือความเข้าใจผิดจากชื่อที่คลุมเครือ และในขณะเดียวกัน ขอบเขตของสาขานี้ก็ค่อนข้างคลุมเครือเสียเองด้วยซ้ำไป กระนั้นโดยความจริงแล้ว นี่คือสาขาวิชาที่ศึกษาการเกิดขึ้นของ “ความจริง” ทางวิทยาศาสตร์ และมอบ “ความจริง” ให้กับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ผู้ปริทัศน์ใคร่ขอย้อนความคร่าวๆถึงความเป็นมาเป็นไปของสาขาวิชานี้ “วิทยาศาสตร์ศึกษา” เป็นสาขาวิชาที่ต่อยอดแตกหน่อมาจากสังคมวิทยา ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมวิทยาของความรู้

เนื้อหาของสังคมวิทยาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น กล่าวถึงบริบททางสังคมที่ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ของโรเบิร์ต เค เมอร์ทัน ในกรณีที่ว่า ความคิดความเชื่อของโปรแตสแตนท์ ไปเสริมพลังการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หรือการสืบค้นของนอร์เบิร์ต เอลีอาส ว่าการรวมกลุ่ม และลำดับชั้น ในชุมชนนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร

ส่วนเนื้อหาของสังคมวิทยาของความรู้นั้นจะเน้นไปที่การไหลเวียนของความรู้ในสังคมว่าเป็นไปอย่างไร สร้างอำนาจและเอื้อประโยชน์ต่อใคร เช่น ข้อถกเถียงทั่วไปของวงการมานุษยวิทยา ว่าความรู้ทางมานุษยวิทยานั้น เอื้อให้โลกตะวันตกสามารถล่าอาณานิคมได้ง่ายดายขึ้นหรือไม่อย่างไร

โดยสรุป กล่าวได้ว่า ทั้งสองแนวทางของสังคมวิทยาที่กล่าวมานั้น เน้นไปที่การสร้างคำอธิบายความสัมพันธ์ ของบริบททางสังคม กับตัวบททางวิทยาศาสตร์ ข้อสังเกตสำคัญ ที่ผู้ปริทัศน์ต้องการเน้นย้ำให้ชัด คือ แนวทางสังคมวิทยาทั้งสองประเภท ยังมีหน่วยการวิเคราะห์ที่เป็นทวิภาค คือ แบ่งแยกโลกความเป็นจริงออกเป็นสองขั้วได้แก่ สังคม และ วิทยาศาสตร์ อย่างชัดเจน ข้อสังเกตนี้ตอกย้ำความคิดแบ่งขั้วสองวัฒนธรรมของซี พี สโนว์ อย่างชัดแจ้ง


กลับมาที่ตัวผู้เขียนคือ ลาตูร์ ด้วยความที่เขาเป็นนักคิดสายฝรั่งเศส และเพาะบ่มวิธีเขียนงานแบบฝรั่งเศสมานาน เช่นเดียวกับต้นตระกูลของเขาที่บ่มไวน์ขายมาหลายรุ่นนัก เขาจึงเขียน Pandora’ Hope ด้วยจริตจก้านแบบอ้อมค้อม ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆ และบัญญัติศัพท์ใหม่ๆเพื่อทะลวงสมองคนอ่านให้เกิดจินตนาการใหม่ๆ
เขาเป็นคนแรกๆที่ชี้ให้เห็นว่า การคิดแบบแยกขั้วระหว่างสังคมและวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างคำอธิบาย เรื่องการทำงานของวิทยาศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การแบ่งแยกขั้วนั้นเป็นประดิษฐกรรมของความคิดทันสมัย ที่ล่อลวงให้เราไปถกเถียงกันแต่ในระดับอุดมการณ์ ผลที่ตามมาคือขาดความเข้าใจในระดับปฎิบัติการ การถกเถียงเรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์กลายเป็นแค่การออกกำลังกายทางปัญญา แต่ขาดสมรรถภาพที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเนื้อวิทยาศาสตร์ในโลกความเป็นจริง

ดังนั้น เพื่อปิดจุดอ่อนของสังคมวิทยาสองแนวทางดังที่กล่าวมา “วิทยาศาสตร์ศึกษา” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ลาตูร์และเพื่อนผอง ดังเช่น ไมเคิล คัลลอน จอหน์ ลอว์ และนักคิดคนอื่นๆ อีกมากเห็นว่า พื้นที่ที่การศึกษาวิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึงก็คือ วิทยาศาสตร์ในขณะก่อรูปก่อร่าง วิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เป็นตัวเป็นตนชัดพอจะให้ยัดใส่กล่อง แล้วติดตราว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อไปดูปฏิสัมพันธ์กับอีกกล่องหนึ่งที่เรียกว่าสังคม และหากมันถูกยัดใส่กล่องไปแล้ว ก็ให้ศึกษามันโดยเปิดกล่องแล้วค่อยๆลอกเปลือกออกเสีย หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเรากำลังเปิดกล่องของแพนดอรา

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ตามหลักการเช่นนี้ จุดสนใจจึงเป็นห้องทดลอง เพื่อดูความสัมพันธ์ที่ก่อรูปขึ้นในห้องทดลอง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับสิ่งของ หรือแม้แต่สิ่งของกับสิ่งของ หากกล่าวด้วยถ้อยคำเชิงวิชาการนี่คือ การทำชาติพันธุ์วรรณาประเภทหนึ่ง เพียงแต่ว่า ต่างไปจากแต่ก่อน ที่โลกตะวันตกมักจะทำชาติพันธุ์วรรณาของสังคมดั้งเดิม โดยกลับกัน “วิทยาศาสตร์ศึกษา” คือการทำชาติพันธุ์วรรณาของนักวิทยาศาสตร์ กรณีนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างอะไรจากชนเผ่าชนเผ่าหนึ่งนั่นเอง

ดังชื่อรองของหนังสือคือ Essays on the reality of science studies เขาได้รวมบทความที่เขาได้เคยตีพิมพ์ในที่ต่างๆ แล้วนำมาร้อยเรียงกันใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่า “วิทยาศาสตร์ศึกษานั้นศึกษาอะไร?” และที่สำคัญกว่าคือ “วิทยาศาสตร์ในกรอบแว่นวิทยาศาสตร์ศึกษานั้นเป็นเช่นไร?” หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเสนอความเป็นจริงของ “วิทยาศาสตร์ศึกษา” เท่านั้น หากยังเสนอความเป็นจริงของวิทยาศาสตร์ด้วย หากว่ามันมีอยู่จริง


ในช่วงแรกเป็นการเสนอภาพรวมของหนังสือทั้งเล่ม ด้วยการพยายามตอบคำถาม คำถามคือ “คุณเชื่อในความจริงหรือไม่?” การตอบของเขาเป็นไปในแบบฉบับของนักคิดฝรั่งเศส คือ ไม่มีการตอบใช่หรือไม่ใช่ แต่เป็นไปในรูปแบบของการตอบโดยตั้งคำถามใหม่ย้อนใส่คำถามเดิม เช่น คำถามนี้เกิดขึ้นมากจากบริบทอะไร? บริบทที่นักวิทยาศาสตร์เกรงกลัวการรุกคืบของประชาชนด้วยการเกิดขึ้นของกฎหมู่หรือ? ความเป็นจริงตั้งอยู่บนรากฐานของการแบ่งระหว่างการมีผู้รู้กับโลกที่ถูกรู้ใช่หรือไม่? หรือว่าการแบ่งแบบนี้จะเป็นประดิษฐกรรมที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง? ฯลฯ

คำถามเหล่านี้จะถูกหล่อเลี้ยงด้วยคำถามต่อเนื่องจากคำถามเหล่านี้ และตอบด้วยการตอบแบบให้ย้อนคิดไปตลอดทั้งเล่ม การตอบของเขาเน้นให้เราสลัดหลุดความเชื่อแบบดั้งเดิมที่เรามีต่อวิทยาศาสตร์

จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอว่า การแยกขั้วทวิภาวะระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เป็นความเชื่อที่ผิด เขากล่าวว่า นอกเหนือจากดินในป่าอเมซอนที่เป็นจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังได้สร้างความเป็นจริงอีกแบบหนึ่งอันเช่น การจำแนกประเภทของดิน โดยนำดินไปจำแนกตามระบบอ้างอิงที่สร้างขึ้นมา ระบบอ้างอิงที่สร้างขึ้นมานี้ได้หมุนเวียนไปในหมู่ผู้ศึกษาดิน และกลายเป็นความจริงเรื่องดินขึ้นมา ดินจริงไม่ใช่ความเป็นจริงที่อยู่กับพื้นพิภพ แต่เป็นความเป็นจริงที่ฝังอยู่ในระบบอ้างอิงด้วย การแยกขาดชัดเจนระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง ที่ต่างจากการปฏิบัติจริง

ลาตูร์ให้ภาพวิทยาศาสตร์ขณะที่กำลังถูกสร้าง และย้ำว่า วิทยาศาสตร์ในระยะนี้มีการพัวพันกันอย่างชัดเจน ระหว่างสังคมกับวิทยาศาสตร์ ทั้งคู่ไม่ได้แบ่งขั้วแยกกันอยู่ วิทยาศาสตร์เกิดจาก และทำให้ตัวกระทำในสังคมเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ ให้พ้องกันได้ และนอกเหนือจากเรื่องของผลประโยชน์ การสร้างวิทยาศาสตร์ยังเป็นการแสวงหาพันธมิตร ทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และข้อเท็จจริง เพื่อยึดกุมพื้นที่ของการนำเสนอต่อสาธารณชน กล่าวอย่างง่ายและรวบรัดตัดความคือ วิทยาศาสตร์กับสังคมพัวพันกันอย่างลึกซึ้ง อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน มากกว่าจะอธิบายว่ามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

เขาเล่าเรื่อง “เหตุการณ์” เรื่องจุลชีพที่หลุยส์ ปาสเตอร์ เข้าไปพัวพัน การใช้คำว่า “เหตุการณ์” ในที่นี้เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ค้นพบ” ที่ให้ภาพเดิมของการแบ่งผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ และเน้นความเป็นวีรบุรุษของผู้รู้อย่างล้นเกิน ลาตูร์อธิบายเรื่องของปาสเตอร์กับจุลชีพใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านก้าวพ้นการแบ่งขั้วสองอย่างคือ อย่างแรก ระหว่างนิรมิตนิยมและสัจจนิยม อย่างที่สองคือ มนุษย์ผู้กระทำและวัตถุสิ่งของ

ในการแบ่งขั้วอย่างแรก ฝ่ายนิรมิตนิยมนั้นเชื่อว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การสะท้อนความจริง ซึ่งตรงข้ามกับสัจจนิยมที่เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์สะท้อนความจริง

ส่วนการแบ่งขั้วอย่างที่สอง เรื่องเล่าหลักของผู้ศรัทธาวิทยาศาสตร์คือ สิ่งของทั้งหมดล้วนวางอยู่อย่างเชื่องๆ รอให้นักวิทยาศาสตร์หยิบใช้อย่างสะดวกดาย สิ่งที่ปาสเตอร์ทำคือการนิรมิตสิ่งที่มีอยู่จริงทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มันแสดงตัวเป็นอิสระจากตัวเขา ให้เขาได้สะท้อนความจริง ทั้งนี้ “เหตุการณ์” สร้างและสะท้อนความจริงนี้ไม่ใช่เป็นไปโดยอิสระจากมนุษย์ผู้กระทำ แต่เป็นการต่อรอง การถ่ายทอด และการพัวพันระหว่างมนุษย์ผู้กระทำและวัตถุสิ่งของ

ช่วงกลางของหนังสือ เขาตอบคำถามยอดนิยมตลอดกาลว่า “มนุษย์สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้หรือไม่?” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหวาดวิตกว่าคุณค่าของมนุษย์จะสูญเสียเพราะเครื่องจักร ลาตูร์ให้ความเห็นว่า ทัศนะนี้เกิดจากการแบ่งขั้วระหว่างสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์อย่างแยกขาดออกจากกัน ทั้งที่สิ่งเกิดขึ้นในวิถีประวัติศาสตร์คือ มนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์หลอมรวมกันอย่างซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งไม่ใช่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา สถาบันทางสังคม หรือเครื่องจักร เป็นตัวเสริมความสามารถใหม่ๆให้กับมนุษย์และเพิ่มความซับซ้อนของสังคม ในทางกลับกันมนุษย์ก็สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆทางวิวัฒนาการของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ที่จะกระทำต่างๆนานากับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้อย่างอิสระ การกระทำต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ถูกควบคุมแนวทางที่เป็นไปได้โดยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย สิ่งนี้คือการเสนอให้มองสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์อย่างเป็นสมุหภาพ ไม่ใช่จับแยกขั้วแล้วพิจารณาความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธี

เขาพาเราอ่านงานเขียนของพลาโต ที่ว่าด้วยการปะทางคารม/ความจริงระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์เสียใหม่ โดยไม่ยอมอ่านตามโครงเรื่องเดิมที่ถูกวางไว้ เพื่อยกย่องโสคราติสในฐานะนักปรัชญา ผู้ยอมตายเพื่ออยู่ข้างความจริง แต่ในทางตรงกันข้าม การอ่านของเขาเป็นไปเพื่อชี้ให้เห็นว่า การถกเถียงอันทรงเกียรติระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดูถูกเหล่าประชา ความตายของโสคราติสโดยการกดดันจากเหล่าประชาจึงถือว่าสมควรอย่างยิ่ง ทั้งโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์เห็นพ้องกันว่า หากพวกเราไร้ผู้ชี้นำ ภาวะที่ตามมาคือความยุ่งเหยิงจากกฎหมู่มากมายของประชา ประชาต้องการการชี้นำ แต่ว่าจะจากใครเล่าระหว่างโสคราติสกับเหล่าโซฟิสต์? ในขณะที่โซฟิสต์พยายามชี้นำคนด้วยโวหาร แผนการของโสคราติสแยบยลกว่าและฉลาดกว่า คือ ปิดปากประชา และบอกให้ประชารู้ว่า มีความจริงที่เป็นอุดมคติเที่ยงแท้กว่ากฎหมู่ ความจริงนี้เขาสามารถเข้าถึง แบบเดียวกับการเข้าถึงความจริงทางเรขาคณิต โสคราตีสทำให้การอ้างความถูกต้องมีอำนาจเหนือกว่าพลังทั้งปวง

ผู้ปริทัศน์คาดว่า ลาตูร์ต้องการกล่าวถึงสถานการณ์ของความรู้ในปัจจุบัน ที่ไม่ต่างจากสมัยกรีกโบราณ สถานการณ์ความรู้ในปัจจุบันคือ ความรู้ตกอยู่ในมื่อผู้ชำนาญการไม่กี่ท่าน เพื่อใช้อ้างความถูกต้องของการกระทำต่อหน้าสาธารณชน อภิโครงการทั้งหลายแหล่ ย่อมต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิโต้เถียงกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ มิใช่หรือ? และความเห็นของประชาชนต่ออภิโครงการ ก็ถูกลดค่าเป็นความวิตกกังวลไร้เหตผลอยู่เสมอมิใช่หรือ? แน่นอนว่าการสร้างอภิโครงการมีส่วนของการเมืองด้วยเสมอ นี่คงเป็นการเมืองที่ติดพ่วงมากับวิทยาศาสตร์

สาระนี้ได้ต่อเนื่องไปยังบทความช่วงท้าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความคิดทันสมัยทรงพลังด้วยสร้างเส้นแบ่งแยกชัดเจน ระหว่างความรู้กับความเชื่อ สร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างทันสมัยและก่อนทันสมัย พวกทันสมัยมองว่าการทันสมัยต้องไร้ความเชื่อ และพวกล้าหลังคือพวกยึดติดความเชื่อ หากยกตัวอย่างไทยๆ คือ พวกล้าหลังคือพวกที่เชื่อว่า “ปล่อยปลาหมอแล้วจะทำให้พ้นความเจ็บป่วย ไม่ต้องไปหาหมอ” แต่พวกทันสมัยคือพวกที่เชื่อผลวิจัยทางการแพทย์ว่า “หัวเราะทุกวันแล้วสุขภาพจะดีขึ้น” กระนั้นผลวิจัยทางการแพทย์เช่นนี้ปลอดจากความเชื่อเลยหรือ?

ข้อเสนอของลาตูร์ก็คือ การสร้างเส้นแบ่งของพวกทันสมัยเป็นเรื่องที่ผิด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ถูกไม่ควรที่เราจะโผเข้าหากระแสตอกกลับทันสมัย และการตอกกลับว่าวิทยาศาสตร์เป็นแค่ความเชื่อ หรือภาพลวงของพวกหลังทันสมัย ก็เป็นวิธีที่สุดโต่งเกินไป วิธีนี้มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง เขาเสนอให้เราเป็นอทันสมัย ด้วยการสลัดหลุดจากการมองแยกขั้วหลายรูปแบบ หลุดจากการมองเน้นตัวกระทำมนุษย์แบบมนุษยนิยม มาสู่การพิจารณา “ความเป็นจริง” ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งของด้วย

บทสรุปสุดท้าย เป็นการรวบรวมเนื้อความจากบทก่อนหน้าทั้งหมด มาร้อยเรียงอย่างรวบรัด เน้นที่การหลุดพ้นจากการมองแบบแยกขั้ว และเชื้อชวนให้หันสู่การมองให้เห็นสมุหภาพ ทั้งให้ความเห็นว่า ข้อถกเถียงในความขัดแย้ง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมจำนวนมาก เป็นเรื่องของอภิปรัชญาที่ขาดการเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ของ “เหตุการณ์” ของทั้งหมดโดยรวม

ดังนั้น จะมีประโยชน์อันใดเล่าที่จะตอบคำถามว่า “คุณเชื่อในความจริงหรือไม่?” โดยไม่สามารถเกิดความเข้าใจจนเปลี่ยนแปลงแบบทั้งแผงได้เลย




บรูโน ลาตูร์ นักคิดและนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแคว้นเบอร์กันดี แหล่งผลิตไวน์ชั้นดีของโลกในฝรั่งเศส เขาเติบโตในครอบครัวที่ผลิตไวน์ เส้นทางชีวิตช่วงแรกเป็นนักปรัชญา ก่อนที่จะหันเหมาเป็นนักมานุษยวิทยา

งานของเขาประกอบด้วยความหลากหลาย นอกจากปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยาของวิทยาศาสตร์ เขายังสนใจวิทยาศาสตร์ศึกษา ซึ่งว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์และการจัดการงานวิจัย ทั้งยังมุ่งเน้นวิเคราะห์กระบวนการวิทยาศาสตร์

ลาตูร์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ในฝรั่งเศสนานกว่า ๒๐ ปี และยังคงสอนอยู่ที่วิทยาลัยในปารีส นอกจากน ี้ยังรับตำแหน่งภัณฑารักษ์ ให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะและสื่อเทคโนโลยี เมืองคาร์ลสรูห์ เยอรมนี

เขาผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ และได้รับการยอมรับค่อนข้างกว้างขวาง เล่มที่โดดเด่นก็มี

- Laboratory Life: the Social Construction of Scientific Facts (1979)
- Science In Action: How to Follow Scientists and Engineers Through Society (1987)
- We Have Never Been Modern (1992)
- Politics of Nature: How to Bring the Sciences into Democracy (1999)
- Pandora's hope: essays on the reality of science studies (2004)


ปัจจุบัน เขาเป็นนักคิดคนสำคัญที่เสนอทฤษฎีเครือข่ายนักปฏิบัติการ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาก็ว่าด้วยเรื่องนี้ Reassembling the Social: An Introduction to Actor-Network-Theory (2005)

หนังสือของเขาส่วนใหญ่ ได้รับการตีพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับการแปลถ่ายทอดออกไปหลายภาษา น่าเสียดายที่ยังไม่มีแปลเป็นภาษาไทยเลย

The Selfish Gene

The Selfish Gene

ผู้แต่ง ริชาร์ด ดอว์กินส์
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๓
ประเภท วิวัฒนาการ ปรัชญา วิเคราะห์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

แนะนำโดย ชินวิทย์ เลิศบรรณพงษ์


เป็นที่ทราบกันดีว่า หนังสือจำพวกวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย มักจะเหมาะกับผู้ใฝ่รู้ทุกเพศทุกวัย ในแง่ที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหา ที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้าพร้อมๆกับชวนง่วงนอน ให้กลายเป็นเนื้อหาที่ผู้คนทั่วไปอ่านเข้าใจง่าย และน่าติดตามในเวลาเดียวกัน

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จุดประสงค์อันดับแรกของผู้เขียนก็ย่อมต้องการให้ผู้อ่านในวงกว้าง “รับทราบ” ถึงความก้าวหน้าของแวดวงวิทยาศาสตร์ — อย่างน้อยก็เท่าที่ผู้เขียนคิดว่าสามารถอธิบายให้คนธรรมดาเข้าใจได้

The Selfish Gene อาจเป็นหนังสืออีกเล่มที่เขียนขึ้นตามครรลองของวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย ทว่า มันไม่ได้พอใจจะจำกัดบทบาทของตัวเองไว้เพียงแค่ตำราเรียนอ่านสนุกเท่านั้น หากพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของหนังสือประเภทนี้ ด้วยการท้าทายคติความเชื่อเดิมๆ ขณะเดียวกัน ก็กระตุ้นผู้อ่านในวงกว้างเข้ามา “มีส่วนร่วม” ในการขบคิดและถกเถียงประเด็นความขัดแย้งนี้ด้วย

มีข้อควรระวังเล็กน้อยก่อนหยิบหนังสือเล่มนี้ ประการแรก ผู้อ่านควรมีความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยาเบื้องต้นมาบ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับกฏการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ประการที่สอง เนื้อหามองโลกในแง่ร้ายอาจไม่เหมาะสำหรับเยาวชนหรือผู้อ่านที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ และประการสุดท้าย นี่คือหนังสือที่ผู้อ่านควรทำความรู้จักเนื้อหาคร่าวๆของมันก่อน สำหรับพวกอนุรักษ์นิยม พวกเคร่งศีลธรรม หรือแม้แต่พวกมนุษย์นิยมบางประเภทแล้ว เนื้อหาแรงๆของ The Selfish Gene อาจทำให้น้ำลายฟูมปากได้ไม่ยากเลย

ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่สอบผ่านคำเตือนดังกล่าวข้างต้นแล้ว The Selfish Gene คืออาหารสมองชั้นดีสำหรับนักอ่านที่เปิดใจกว้าง มันพูดถึงปริศนาของชีวิตในมุมกลับหัวกลับหางโดยมีหลักการวิทยาศาสตร์หนุนหลัง ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถนำเสนอสาระสำคัญที่น่าทึ่งและน่ากระอักกระอ่วนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

The Selfish Gene ยืนหยัดท้าทายความคิดความเชื่อของผู้อ่านทั่วโลกมาแล้วร่วม ๓ ทศวรรษ ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆกว่า ๒๐ ภาษา ซ้ำยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่ชื่นชมและแง่เสียๆหายๆอย่างกว้างขวาง แน่นอน ไม่บ่อยนักที่จะมีหนังสือวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยผ่านร้อนผ่านหนาวอย่างทรหดขนาดนี้ และนั่นก็คงเป็นคำจำกัดความของหนังสือได้อย่างดีก่อนที่คุณจะตัดสินใจอ่านมัน


ในช่วงแรก ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้อ่านเกี่ยวกับภาพกว้างๆของหนังสือเล่มนี้ ดอว์กินส์อ้างว่า ศีลธรรมอันดีของมนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลทางทฤษฎีรองรับอยู่เลย การคาดหวังให้มนุษย์ปฏิบัติต่อกันด้วยความกรุณาและปราศจากความเห็นแก่ตัวนั้นขัดกับธรรมชาติของเราเอง เขาไม่ได้กล่าวโทษมนุษย์หรือยีนว่าเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย แต่ “ความเห็นแก่ตัว” เป็นเรื่องปรกติธรรมดาสำหรับกฏการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยมูลฐานที่ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้นไม่ใช่การคัดเลือกกลุ่ม หรือ การคัดเลือกเผ่าพันธุ์ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน การยึดถือเอาว่าสิ่งมีชีวิตเป็นผลผลิตของกระบวนการวิวัฒนาการ จึงอาจเป็นการทึกทักเอาเองจากวิธีมองโลกโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ดอว์กินส์เสนอว่า หน่วยมูลฐานที่ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติคือ ยีน นั่นหมายความว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าปรสิต ต้นไม้ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือแม้แต่มนุษย์ อาจเป็นเพียงเกราะหุ้มหรือเครื่องกลสำหรับการดำรงชีวิตของยีนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ดอว์กินส์ยังกล่าวอ้างถึงความสำเร็จในการสร้างโมเลกุลอินทรีย์ในห้องทดลอง ซึ่งเลียนแบบสภาพแวดล้อมโลกยุคดึกดำบรรพ์ การทดลองดังกล่าวยืนยันถึง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดโมเลกุลอินทรีย ์ในมหาสมุทรยุคดึกดำบรรพ์ จนกระทั่ง ๓.๕ พันล้านปีก่อน มันจึงเริ่มมีความสามารถจำลองตัวเองได้ และอีกหกร้อยล้านปีให้หลัง นักจำลองตัวเองเหล่านี้ก็อาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และถูกเรียกโดยมนุษย์ว่า “ยีน”

จากนั้นเขาจึงนำพาผู้อ่านไปรู้จักยีน โครโมโซม และดีเอ็นเอ ยีนหนึ่งๆ ต้องแย่งพื้นที่จำกัดบนโครโมโซมกับยีนคู่ตรงข้ามของมันเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของตัวเอง ด้วยการลดโอกาสการอยู่รอดของศัตรู พฤติกรรมลักษณะนี้ผู้เขียนให้นิยามไว้ว่าเป็น ความเห็นแก่ตัวของยีน นอกจากนี้ โอกาสการอยู่รอดของตัวอ่อน – เครื่องกลเพื่อความอยู่รอด - ก็หมายถึงโอกาสการอยู่รอดของยีนเท่าๆกัน ต่อเมื่อผ่านพ้นช่วงที่ยีนจำลองตัวเองสำเร็จแล้ว เครื่องกลเพื่อความอยู่รอดจึงหมดประโยชน์ แก่ลง และตายจากไป อย่างไรก็ตาม หน่วยเล็กๆ จำนวนมากของยีนจะยังคงเพิ่มจำนวนและดำรงอยู่ในรุ่นลูก รุ่นหลาน และรุ่นต่อๆไปตลอดกาล

สิ่งมีชีวิตต่างมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปกป้องยีนที่อยู่ภายใน กระนั้น จิตสำนึกของเราก็ไม่ได้ถูกยีนบงการอยู่ตลอดเวลา ดอว์กินส์เปรียบเทียบประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกโปรแกรมให้แข่งขันหมากรุกกับมนุษย์ นักเขียนโปรแกรมมีหน้าที่เพียง โปรแกรมให้คอมพิวเตอร์มีศักยภาพดีพอที่จะแข่งขันเท่านั้น แต่นักเขียนโปรแกรมไม่ได้มีส่วนร่วมใดใด กับการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์ ระหว่างการแข่งขันเลย ยีนก็เช่นกัน มันไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรง ต่อกระบวนการตัดสินใจของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน หากแต่มีส่วนต่อการกำหนดคุณสมบัติต่างๆมาตั้งแต่ต้น ซึ่งถ้าหากคุณสมบัติดังกล่าวส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิต ณ สภาพแวดล้อมหนึ่งๆแล้ว ทั้งเครื่องกลเพื่อความอยู่รอดและยีนของมันก็จะต้อง “ถูกคัดออก” ในที่สุด

“Good of the species” – ประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิต - เป็นอีกวลีหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะอนุมานเอาเองจากทฤษฎีวิวัฒนาการ ในมุมมองของการคัดเลือกกลุ่ม หรือชนิด ในความเป็นจริง การใช้กลยุทธหรือกลอุบายต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันเท่านั้น แต่มันยังแพร่หลายในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันด้วย เนื้อหาช่วงกลางของหนังสือแสดงให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตหนึ่งจะพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตอีกตัวหนึ่ง – ที่ไม่ใช่ลูกหลานหรือญาติใกล้ชิด - ราวกับมันเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งเท่านั้น ดอว์กินส์ยังอ้างถึงทฤษฎีเกม ที่นำมาประยุกต์กับสาขาชีววิทยาวิวัฒนาการ เพื่ออธิบายปฏิสัมพันธ์ของพฤติกรรมสัตว์ ทั้งระหว่างชนิดเดียวกัน และระหว่างชนิดต่างกัน ทั้งนี้ การคำนวณอัตราส่วนความเสถียรทางวิวัฒนาการ จะสามารถแสดงภาพคร่าวๆว่า สิ่งมีชีวิตซึ่งมีพฤติกรรมลักษณะหนึ่ง จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง ภายใต้กฏการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

เป้าหมายสูงสุดของยีนหนึ่งๆ คือ การเพิ่มจำนวนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ใน ดังนั้น ยีนจะพยายามสำเนาตัวเองที่อาศัยอยู่ในเครื่องกลเพื่อความอยู่รอดอีกตัวหนึ่ง ความช่วยเหลือเกื้อกูลในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจถูกมองว่าเป็นความกรุณา แต่อีกนัยหนึ่ง มันก็คือความเห็นแก่ตัวอีกรูปแบบของยีน ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของยีนในแต่ละปัจเจก จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัดสินใจของเครื่องกล เพื่อความอยู่รอด เช่น ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง พ่อแม่-ลูก หรือ พี่-น้อง ที่มีค่าความเกี่ยวดองสูงถึงร้อยละห้าสิบ ย่อมมีความกรุณาต่อกัน มากกว่าความสัมพันธ์ที่เป็นญาติห่างๆ หรือสิ่งมีชีวิตเดียวกันแต่ไม่มีความเกี่ยวดองกันเลย

ดอว์กินส์มองว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นข้อยกเว้นประการหนึ่ง เนื่องจากการคุมกำเนิด และรัฐสวัสดิการ จัดเป็นกระบวนการที่ฝืนธรรมชาติ แม้จะสามารถเป็นตัวแทนของความกรุณาระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองได้ ในระดับหนึ่ง แต่มันก็เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงอึดใจเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา

เขาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของพ่อแม่-ลูก-พี่-น้อง และหว่างพฤติกรรมของเพศผู้-เพศเมีย โดยอาศัยค่าความเกี่ยวดอง และอัตราส่วนความเสถียรทางวิวัฒนาการเข้ามาช่วย ดอว์กินส์อ้างถึงกลยุทธต่างๆ ที่ลูกแต่ละตัวใช้ เพื่อดึงดูดทรัพยากรจากพ่อแม่ ให้ได้มากกว่าพี่น้องของมันเอง นอกจากนี้ พ่อและแม่ก็ย่อมมีกลยุทธ ที่จะผลักภาระการเลี้ยงดูลูกให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันทางวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตเพศผู้จึงมักมีเซลล์สืบพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก และคล่องตัวกว่า ดังนั้น ต้นทุนการเลี้ยงดูลูกจึงตกอยู่กับเพศเมียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เพศผู้มีแนวโน้มที่จะละเลยการเลี้ยงดูลูก หรือแม้แต่ละทิ้งลูก เพื่อไปสืบพันธุ์กับเพศเมียตัวอื่นๆ

ในช่วงท้าย ดอว์กินส์ใช้ความคล้ายคลึงจากการจำลองตัวเองของยีน มาเทียบเคียงกับการจำลองตัวเองของแนวคิด – มีม – หมายถึง ชุดของแนวคิดที่จำลองตัวเองโดยผ่านการสื่อสารของมนุษย์ เช่น ความเชื่อทางศาสนา การเมือง วัฒนธรรมป๊อป รายการทีวี หรือแม้แต่หนังสือเล่มนี้เป็นต้น เช่นเดียวกับยีน มีมย่อมมีจุดมุ่งหมาย เพื่อจำลองตัวเองให้มีจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยกำจัดมีมที่ขัดแย้งกันออกไป โดยผ่านสื่อกลางคือ มนุษย์หกพันล้านคนทั่วโลกนั่นเอง


โดยสรุปแล้ว แม้ในปัจจุบัน นักชีววิทยาจะหันมาสนใจ เกี่ยวกับการคัดเลือกหลายลำดับกันมากขึ้น แต่นักชีววิทยาสมัยใหม่จำนวนมากก็มองว่า ทฤษฎีการคัดเลือกโดยยีน ยังคงสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในกระบวนการวิวัฒนาการได้อย่างน่าพอใจ

กระนั้น นอกเหนือจากภาคทฤษฎีแล้ว ข้อสังเกตบางประการของดอว์กินส์ ก็ใช่ว่าจะหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ยืนยันได้ทั้งหมด ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มน ี้จึงออกจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่สักหน่อย แต่ถึงอย่างไร The Selfish Gene ก็ไม่ควรถูกมองข้ามด้วยประการทั้งปวง สำหรับการทำความรู้จักตัวตนของพวกเรา — มนุษย์ — ในแง่มุมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรืออยากพูดถึงนัก


ริชาร์ด ดอว์กินส์ เกิดในประเทศเคนยาปี 1941 ใช้เวลาช่วงวัยเด็กในแอฟริกาตะวันออกถึงแปดปี ก่อนครอบครัวของเขาจะย้ายกลับมายังอังกฤษ ระหว่างศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เขาได้รับแรงบันดาลใจจากนิโก ทินเบอร์เกน นักชีววิทยารางวัลโนเบลชาวเดนมาร์ก ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศาสตร์ ว่าด้วยพฤติกรรมสัตว์ หรือ บุคลิกภาพวิทยา

ดอว์กินส์ เคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ระยะสั้นๆ ก่อนย้ายกลับมาเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และในช่วงต้นของทศวรรษ 70 นี้เอง เขาได้พัฒนา และสังเคราะห์ แนวความคิดสายบุคลิกภาพวิทยา เข้ากับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน และชีววิทยาระดับโมเลกุล

หลังจากหนังสือเล่มแรก The Selfish Gene ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1976 ชื่อของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในวงกว้างมากขึ้น
ส่วน The Extended Phenotype หนังสือเล่มสองของดอว์กินส์ ซึ่งต่อยอดจากแนวคิดในเล่มแรกโดยเพิ่มมิติทางสังคม สิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตสร้างสรรค์ขึ้น เขายังเคยปรารภไว้ครั้งหนึ่งว่า “ถ้าคุณจะอ่านหนังสือของผมแค่เล่มเดียวแล้วล่ะก็ อ่าน The Extended Phenotype เถอะ”

เขายังเขียนหนังสือออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายเล่มเข้าข่ายเบสต์เซลเลอร์ อย่างไรก็ดี ในรายชื่อหนังสือวิทยาศาสตร์ดี ๑๐๐ เล่มที่สถาบันเทคโนโลยีสตีเวนส์จัดทำขึ้น ได้ยกย่องให้เล่ม The Blind Watchmaker เป็นหนึ่งในนั้น
ตัวอย่างหนังสือขายดีเล่มอื่นๆ ของดอว์กินส์ ได้แก่ The Extended Phenotype (1982), The Blind Watchmaker (1986), River Out of Eden (1995), Climbing Mount Improbable (1996) และ Unweaving the Rainbow (1998)


The Sixth Extinction

The Sixth Extinction : Biodiversity and Its Survival

ผู้แต่ง ริชาร์ด ลีคคีย์ และโรเจอร์ เลวิน
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๔๙
ประเภท สิ่งแวดล้อม วิวัฒนาการ ภูมิศาสตร์มนุษย์
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์วายเดนเฟลด์และนิโคลสัน

แนะนำโดย ดร.วนิสา สุรพิพิธ


หนังสือสำคัญเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผู้อ่านชาวไทยอาจไม่คุ้นเคย ด้วยการค้นพบที่ไม่ได้แลดูครึกโครมในวงการวิทยาศาสตร์ แต่กลับเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาและเป็นไปของเราอย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนหลักคือ ริชาร์ด ลีคคีย์ เล่าเรื่องจากจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่อุบัติครั้งแรกบนโลก มาจนถึงเหตุผลว่า ทำไมจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ปรากฏบนพื้นพิภพปัจจุบัน

ริชาร์ด ลีคคีย์ นำเราสู่เรื่องโดยผ่านมุมมองส่วนตัว อันประกอบจากประสบการณ์ฝังใจในวัยเยาว์ บนแผ่นดินอาฟริกา ผสานกับความรู้ทางวิชาชีพ ทั้งในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และผู้อำนวยการองค์การสัตว์ป่าของประเทศเคนยา เขารวบรวมสิ่งที่คลุกคลีทั้งชีวิตมาเล่าได้อย่างน่าทึ่ง

โรเจอร์ เลวิน ภัณฑกร และนักเขียนผู้ช่ำชองเรื่องวิวัฒนาการ เป็นผู้ทำหน้าที่ขัดเกลา และเสริมเนื้อหาประกอบในหนังสือ ซึ่งเป็นเล่มที่สี่ของนักเขียนคู่นี้


ผู้เขียนชี้ให้เราเห็นว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วินได้ผ่านการตรวจสอบ ขัดแย้ง และเอามาใช้ช่วยเรียงร้อยหลักฐานที่พบในธรรมชาติอย่างไร ทั้งนี้โดยผ่านความอุตสาหะวิริยะของผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง นับตั้งแต่นักธรณีสัณฐานวิทยา นักชีววิทยา นักนิเวศวิทยา จนถึงนักชาติพันธุ์วิทยา องค์ความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มพูนจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในรอบเวลาร้อยปีที่ผ่านมา อาจไม่ได้ส่งผลเร้าใจเท่าวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ที่ได้ปฏิวัติโลกอันอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ แต่ข้อสมมติฐานที่ปรากฏ บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่พัฒนามาจากบรรพชีวิต ที่รอดพ้นมหกรรมการสูญพันธ์ห้ายุคที่ผ่านมา กำลังสร้างภาวะเสี่ยง ต่อมหกรรมการสูญพันธ์ครั้งที่หก ของสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์โลก

หนังสือเล่มนี้จับใจนับตั้งแต่คำอุทิศ ที่ให้แด่เพื่อนร่วมโลกทุกสปีชีส์และอนาคตที่เรามีร่วมกัน ผู้เขียนยังได้แสดงความขอบคุณต่อคนหลายคนที่มีคุณูปการในชีวิต ผู้ให้กำลังใจและความบันดาลใจ ในการค้นหาสรรพรูปแบบของชีวิต ผู้เขียนกล่าวว่า นี่ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่โต้แย้งว่า มนุษย์ได้กลายเป็นสปีชีส์เด่น ที่กำลังก่อหายนภัยต่อความหลากหลายของสรรพชีวิต (ภายในหนึ่งวัน สิ่งมีชีวิตหนึ่งแสนสปีชีส์กำลังสูญพันธุ์ เนื่องจากการตัดไม้ในป่าเขตร้อน) แต่นี่คือเล่มแรก ที่จะเสนอมุมมองของปรากฏการณ์ ในฐานะมนุษย์ที่ถอยออกมามอง ว่าเราเป็นจุดหนึ่งในกระแสสรรพชีวิต ซึ่งมีอดีตอันไกลโพ้นและอนาคตอีกยาวไกล หนังสือมุ่งเสนอว่า นี่คือมุมมองหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถพลิกผันพลังมหาศาล ที่เรากำลังมีต่อโลกมาสู่ทางที่สร้างสรรค์


หนังสือแบ่งออกเป็นห้าตอน สิบสี่บท เริ่มจากมุมมองส่วนตัวของ ริชาร์ด ลีคคีย์ จากจุดเปลี่ยนในอาชีพเมื่อประธานาธิบดีของประเทศเคนยา แดเนียล อารัพ โมอี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ให้เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการกรมอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรพืชพรรณสัตว์ป่า ของประเทศ

ริชาร์ดเล่าว่า นั่นนับเป็นงานที่ท้าทายที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งที่ผ่านมา เคยสนุกกับการค้นหาซากฟอสซิล และโครงกระดูกในชั้นดินทางตอนเหนือของประเทศ รอบๆ ทะเลสาบเทอร์คานา งานดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาได้รับสืบทอดมาจากบิดามารดา ซึ่งเลี้ยงลูกๆ ให้เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศป่าเขา ของอาฟริกาตะวันออก ริชาร์ดแสดงออกซึ่งความรักบ้านเกิด อันมีภูมิประเทศหลากหลาย นับจากชายฝั่งทะเลในเขตร้อนชื้น ขึ้นมาจนถึงยอดเขาเคนยามีหิมะปกคลุม เขาเล่าประสบการณ์จากวัยเด็กสู่วัยรุ่นว่า ได้เริ่มคุ้นเคยกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายรอบตัวอย่างไร และความชำนาญที่เขาค่อยพัฒนาขึ้น มาจากการศึกษาซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งท้ายที่สุด นำเขาสู่การค้นคว้าวิจัย เพื่อหาไม่เพียงที่มาของเผ่าพันธุ์โฮโมซาเปียน แต่ยังสามารถพยายามมองย้อนอดีตไปไกลกว่านั้น ริชาร์ดกล่าวว่าเมื่อขึ้นเป็นผู้อำนวยการกรมอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น งานแรกก็คือจะทำอย่างไรที่จะยุติธุรกิจการล่าช้างป่า เขาต้องหาจุดลงตัว ระหว่างความจำเป็นในการใช้ที่ดิน อันเกิดจากการเพิ่มของประชากรมนุษย์ กับการปกป้องสัตว์ป่าซึ่งถูกคุกคามถิ่นอาศัย

ภาคที่สองนำผู้อ่านสู่เรื่องเวลาและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของหนังสือ ผู้เขียนเริ่มชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เป็นจุดหนึ่งในกระแสธารของสรรพชีวิตอันไหลต่อเนื่อง และอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุด สิ่งสำคัญคือรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเราสังเกตได้จากธารชีวิต รูปแบบจะเป็นสัญญาณบอกกระบวนการที่ผลักดันกระแสดังกล่าว รูปแบบที่ผู้เขียนหมายถึง คือภาพที่เราได้จากการสังเคราะห์ระบบนิเวศวิทยาทั้งหมด นับตั้งแต่ที่พบจากหลักฐานทางธรณีวิทยา ซึ่งบอกเราถึงแต่ละสปีชีส์ที่เคยประกอบกันเป็นระบบนิเวศในอดีต ตลอดจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสปีชีส์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในท้ายที่สุดเราจึงจะได้เห็นธรรมชาติที่แท้ของโลกที่เราอาศัยอยู่

กล่าวโดยรวม เนื้อหาหลักในส่วนนี้บอกข้อเท็จจริงว่า ทุกวันนี้ นอกจากเราจะสามารถเห็นรูปแบบมหกรรมการสูญพันธ์ในอดีต จากซากฟอสซิลแล้ว เรายังเห็นได้ด้วยว่า เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กระแสธารชีวิตไหลต่อไป ไม่ใช่แค่กระทบกระเทือนการไหล ถ้าเรามองดูกระบวนวิวัฒนาการได้ลึกซึ้งพอ จะเห็นว่าแต่ละสปีชีส์ที่เกิดขึ้นมีโชคดีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเราได้ผสมผสานชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการเข้ากับนิเวศวิทยา เราก็สามารถตัดทำลายสู่ความเข้าใจในปรากฏการณ ์ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่แท้ที่จริงสลับซับซ้อนอยู่รอบตัว ริชาร์ดบอกว่าแม้ในวงการวิทยาศาสตร์เอง หลายคนมองว่า ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากหรือแข็ง ส่วนชีววิทยาเป็นวิชาที่ง่ายหรืออ่อน แต่ความจริง โลกของสิ่งมีชีวิตและประวัติศาสตร์ของมันนั้น สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เพียงการพูดถึงคำว่า “สมดุลของธรรมชาติ” โดยสมมติว่าเป็นเรื่อง “ความบรรสานสอดคล้องของชีวิต” นั้นง่ายเกินไปและอาจทำให้หลงผิดเพราะว่า ธรรมชาตินั้นไม่ง่าย

ในช่วงแรก เขานำเราสู่ลำดับเรื่องราวความน่าพิศวงของชีวิต โดยเล่าถึงการแบ่งยุคทางธรณีวิทยาเป็น ก่อนการพบสิ่งมีชีวิต และหลังสิ่งมีชีวิตแรก ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่า อุบัติในยุคแคมเบรียนเมื่อราวห้าร้อยล้านปีก่อน มีข้อถกเถียงมากมายว่า จุดนั้นเกิดได้อย่างไร โดยเฉพาะดาร์วิน ซึ่งไม่เชื่อว่าชีวิตจะอุบัติขึ้นมาทั้งหมดในคราวเดียว และที่ยังไม่พบซากสิ่งมีชีวิตที่เก่ากว่านั้นก็ไม่ได้เป็นเพราะไม่มี แต่การขุดค้นซากฟอสซิลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งย้อนยุคไปเท่าไร ซากนั้นก็ยิ่งอยู่ลึกลงไปเท่านั้น หรือซากส่วนมากอาจอยู่ก้นมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1947 ก็ได้มีการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตที่เก่าไปอีกร้อยล้านปีที่เรียกว่ายุคพรีแคมเบรียน ในบริเวณตอนใต้ของออสเตรเลีย ฟอสซิลที่พบใหม่นี้ยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มจากเซลล์เดียว ในยุคนั้นโลกมีออกซิเจนราวเพียง 1% สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เกิดขึ้นไม่ได้ จากนั้นออกซิเจนบนโลกจึงได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 21% ในปัจจุบัน

ในตอนท้ายจึงสรุปจุดสำคัญว่า ในระหว่างวิวัฒนาการ หลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่ามีห้าครั้งห้าคราวที่กว่า 65% ของสิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น มหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่เป็นจุดสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียน หรือสิ้นสุดยุคเก่านั้น สิ่งมีชีวิต 95% ได้สูญพันธุ์ไป มหกรรมการสูญพันธุ์ไม่ได้เป็นเพียงจุดยั้งกระแสธารชีวิต แต่ควรถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนการขยายนิเวศชุมชน ที่รู้จักกันดีที่สุดคือตอนสิ้นยุคไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ทำนองเดียวกัน สัตว์เลื้อยคลานที่เคยครองยุคเพอร์เมียน ก็ได้เกิดมหกรรมการสูญพันธ์ ถูกไดโนเสาร์แย่งชิงพื้นที่ไป หนังสือพาผู้อ่านให้ขบคิดว่าอะไรคือสาเหตุของมหกรรมการสูญพันธุ์แต่ละครั้ง โลกเย็นจัดลงไป ระดับน้ำทะเลลด หรือเกิดการแข่งขันรุนแรงระหว่างสปีชีส์ การสิ้นยุคเพอร์เมียนน่าจะเกิดตอนที่อนุทวีปเข้ารวมกันพอดี ทำให้สัตว์อาศัยน้ำตื้นสูญพันธุ์ไป ทว่าเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้สิ้นยุคครีเตเชียสของไดโนเสาร ์ได้รับการพิสูจน์เมื่อปลายทศวรรษที่ 70 โดยนักฟิสิกส์แห่งเบิร์คลีย์ตรวจพบอีรีเดียมในดินตะกอนในยุโรป นำไปสู่สมมติฐานว่าเกิดอุกกาบาตที่เข้าชนโลก หมอกควันหนาทึบที่เกิดขึ้นปกคลุมไปทั่วโลก จากการระเบิดที่รุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาพันล้านเท่า ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก็ทำให้สรรพสัตว์และพืชล้มตายไปเป็นจำนวนมหาศาล ดังนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในบทที่ห้าว่า มหกรรมการสูญพันธ์เป็นเพราะหน่วยพันธุกรรมไม่ดี หรือโชคร้ายกันแน่

ภาคที่สามของหนังสือเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วอันที่จริงอะไรคือจักรกลแห่งวิวัฒนาการ โดยเริ่มต้นจากบทที่หกซึ่งพยายามไขปริศนาว่า มนุษย์โฮโม ซาเปียน เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการหรือเปล่า ทำไมสมองจึงใหญ่ มีความสามารถคิดและจัดระเบียบโครงสร้างสังคม มีการสร้างภาษาพูดเขียน

จากประโยคเด็ดของดาร์วิน “Endless forms most beautiful” ลีคคีย์บอกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นปรากฏชัด เมื่อเขาเดินทางท่องไปในเคนยา มีหลักฐานว่ามนุษย์เพิ่งปรากฏมีขึ้นมาอยู่ร่วมโลกกับสัตว์อื่นครั้งแรกเมื่อห้าล้านปีก่อน ซากฟอสซิลชี้ให้เห็นความหลากหลายที่บูมขึ้นมาในรอบร้อยล้านปี นักนิเวศวิทยาจำแนกความหลากหลายทางชีวภาพออกเป็นอัลฟา เบต้า แกมมา ตามจำนวนสปีชีส์ที่พบในชุมชนนิเวศหนึ่งๆ แต่ลีคคีย์กล่าวถึงรูปแบบของความหลากหลายในสองลักษณะ กล่าวคือ ความที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายมากที่สุดในเขตศูนย์สูตร และความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน กับในมหาสมุทร

ถัดมา ลีคคีย์ยกประเด็นมูลค่าของความหลากหลาย ซึ่งเป็นโจทย์อันขมขื่นที่นักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์เผชิญ เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ถามว่า จะประเมินต้นทุน และกำไร ที่ควรจะได้จากการลงทุนอนุรักษ ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร แทนที่ไม้ในป่าจะถูกตัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรง เหตุใดจึงต้องค่อยๆ ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเทียบผลตอบแทนกับเวลาระยะยาวแล้ว อาจยังไม่น่าพึงพอใจ ได้เคยมีการยกเอาประโยชน์จากการค้นพบพืชสมุนไพร ที่สามารถรักษามะเร็งหรือโรคอื่น อันทำให้บริษัทยาเคยมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยพืชในป่าเขตร้อน หากทว่างานวิจัยทางเภสัชกลับค่อยๆ มุ่งเน้นไปยังการทดลองสังเคราะห์ตัวยา โดยอาศัยแบบจำลองทางเคมีในคอมพิวเตอร์ ซึ่งลดต้นทุน และลดความไม่แน่นอน ในการที่ต้องออกไปแสวงหาพืชแปลกใหม่ นักอนุรักษ์จึงเริ่มขาดข้อโต้แย้งจนกระทั่งเมื่อเจมส์ เลิฟล็อกนำเสนอทฤษฏีกายา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โลกคือระบบ ที่ปัจจัยทางชีวภาพส่งผลตรงต่อปัจจัยกายภาพ ให้สามารถเกื้อหนุนการดำรงอยู่ได้ ของระบบสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เลิฟล็อกยังได้ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เดซีเวิร์ลด์ มาสาธิตให้เห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไร ระบบยิ่งมีเสถียรภาพมากเท่านั้น ซึ่งค้านแบบจำลองรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ การอนุรักษ์จึงมีเหตุผลหนักแน่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทางนิเวศวิทยาซึ่งใช้เวลานานกว่าสิบปีเริ่มชี้ให้เห็นว่า การเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน ให้ผลต้านทานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดเดียวทั้งแปลง ข้อนี้สอดคล้องกับหลักการที่ว่า สิ่งมีชีวิตเดียวกันย่อมแย่งทรัพยากรอย่างเดียวกัน ในขณะที่สิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่อยู่ร่วมกันจะมีการให้และรับ จนเกิดสมดุลของการหมุนเวียนทรัพยากร

สมดุลแห่งธรรมชาติ ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นหลักของภาคที่สี่ เริ่มจากการนำเราให้พิจารณาลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า ระบบนิเวศนั้นแท้ที่จริงไม่ได้เป็นอยู่ในลักษณะสงบบรรสานสอดคล้อง อย่างที่อาจสรุปจากการมองผิวเผิน หากแต่ถูกกระทำด้วยแรงทั้งภายในและภายนอก ทั้งในลักษณะโกลาหล และลักษณะสุ่ม จนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเข้าใจถึงปัจจัยและกลไกเหล่านี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การคาดการณ์อย่างถูกต้อง ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์เข้าไปจัดการอะไรบางอย่าง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

การวิจัยชี้ให้เห็นว่า จำนวนสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่มากขึ้นในระบบนิเวศ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดเสถียรภาพของระบบ แต่ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันนั้นต่างหากที่จะกำหนดว่า หากมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เข้ามา จะมีการยอมรับได้หรือไม่เพียงใด ลีคคีย์โยงข้อสรุปนี้เข้ากับตัวอย่างอุทาหรณ์ จากอุทยานแห่งชาติทางเหนือของบอตสวานา เจ้าหน้าที่อุทยานต้องการให้มีช้างป่าจำนวนมาก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เมื่อมีประชากรช้างมากขึ้น ต้นอคาเซียก็ยิ่งถูกทำลาย ส่งผลให้สูญเสียความอุดมของพื้นที่ชุ่มน้ำ แล้วก่อให้เกิดตัวริ้นซึ่งไล่ช้างออกจากพื้นที่ ในที่สุดเมื่อจำนวนช้างน้อยลงต้นอคาเซียก็สามารถกลับคืนมาใหม่ ดังนี้ จึงดึงดูดช้างกลับมาอีกเป็นวงวัฏจักรไป แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลาเป็นสิบป ีซึ่งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานก็มักทนไม่ได้ ที่ไม่เห็นช้างในพื้นที่เป็นเวลานานเท่านั้น

หนังสือได้วิเคราะห์ต่อเนื่องให้เห็นว่า แม้สิ่งมีชีวิตที่ต้องการขยายถิ่นฐานส่วนมาก ไม่สามารถรุกรานเข้าสู่พื้นที่ ที่มีสังคมนิเวศซับซ้อนสมบูรณ์ได้ แต่มนุษย์กลับเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ มนุษย์สามารถจะตั้งถิ่นฐานได้ในทุกที่ที่ต้องการ ผู้เขียนเสนอให้เรามองอดีต เพื่อประเมินกลับมาถึงผลกระทบที่มนุษย์ปัจจุบันมีต่อโลก ดังตัวอย่างน่าสนใจ จากการค้นคว้าหาสาเหตุการสูญพันธ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 57 ชนิดเมื่อราวหมื่นสองพันปีที่แล้ว ในยุคที่นักธรณีวิทยาเรียกว่าไพลสโตซีน เดิมเชื่อกันว่า เป็นเพราะโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสัตว์และพืชไม่อาจรอดชีวิตได้ แต่ต่อมานักวิจัยเริ่มสงสัยว่า มนุษย์ต่างหากที่อาจเป็นผู้ล่าที่ทรงอิทธิพล หลักฐานที่สอดคล้องบ่งชี้ว่า มนุษย์โคลวิสในทวีปอเมริกา น่าจะเป็นผู้ล้มช้างแมมมอธจนถึงตัวสุดท้าย ราว 85% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในออสเตรเลียก็สูญพันธ์ไปในช่วงเดียวกับที่พบว่า สังคมมนุษย์เข้าขยายถิ่นฐานบนทวีปอันโดดเด่นนี้ ใต้ลงไปบนเกาะนิวซีแลนด ก็ปรากฏหลังการขุดค้นว่า นกรูปทรงแปลกสวยงามจำนวนมากรวมทั้งนกยักษ์โมอา ก็เหลือแต่ซากกระดูก หลังจากชาวโพลีนีเซียนมาถึงเกาะนี้เมื่อพันปีก่อน ทวีปยุโรปก็เคยเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้แล้ว

บทสรุปของภาคนี้มุ่งเล่าประสบการณ์จริงของลีคคีย์ในเรื่องของช้าง เขาเกริ่นอย่างรอบรู้ว่า สังคมฮินดูยกย่องช้างในรูปของพระพิฆเนศวรเจ้าแห่งสติปัญญา ปราชญ์โรมันก็มองว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีลักษณะสุขุมใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม มนุษย์ได้มีส่วนคุกคามความเป็นอยู่ของช้าง จากที่ได้วิวัฒนาการมา จนเหลืออยู่สองพันธุ์หลักคือ ช้างอาฟริกา และช้างเอเชีย จุดสำคัญที่น่ากลัวคือมนุษย์หลงใหลในความงาม และอาจรวมถึงเรื่องพลังเร้นลับ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ในงาช้าง

ลีคคีย์เล่าถึงเหตุการณ์อันจุดประกายนำสู่วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1989 เมื่อเขาได้ตระเตรียมงาช้างมูลค่าสามล้านดอลลาร์ให้เข้าสู่กองไฟลุกโชน ด้วยคบไฟจากมือท่านประธานาธิบดีแห่งเคนยา พร้อมถ่ายทอดสดในรายการกู๊ดมอร์นิ่งอเมริกา ของสถานีโทรทัศน์เอบีซี อย่างไรก็ตาม เรื่องการอนุรักษ์ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงอีกหลายประการ ชาวบ้านอาฟริกาส่วนหนึ่งก็มองว่า ช้างป่ารุกรานพื้นที่เกษตรกรรมของตน จึงสนับสนุนให้มีการล่าช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องาช้างยังมีราคาดี มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติอาฟริกา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการ ในความเป็นจริงจำนวนช้างป่าอาฟริกาก็ได้ลดลงกว่า 70% ในรอบทศวรรษเดียวก่อนหน้านี้ ลีคคีย์ยอมรับว่า เขามีอารมณ์กับเรื่องการฆ่าช้างเอางาในแง่จริยธรรมค่อนข้างมาก แต่เขาก็ได้บรรยายและยกตัวอย่างโดยละเอียดว่า การอนุรักษ์ช้างป่ามีความจำเป็นในเชิงนิเวศด้วย เราอาจมองผิวเผินว่า ช้างกำลังทำลายต้นไม้ใหญ่ด้วยการถอนโคนรากขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำนั้น กลับเป็นการเปิดโอกาสให้พุ่มไม้ใบหญ้าชั้นล่างได้เติบโต รับแสงอาทิตย์ เป็นการจัดระบบการใช้ที่ดินโดยธรรมชาติ ฉะนั้นอันที่จริง ช้างคือตัวการสำคัญ ที่สร้างความหลากหลายของพรรณพืชและสัตว ์ตามอาณาบริเวณที่กระจายตัวอยู่บนทวีปอาฟริกา

ส่วนสุดท้ายของหนังสือถูกจัดให้เป็นภาคอนาคต เริ่มจากการตอกย้ำจุดสำคัญว่า มนุษย์ต้องก้าวข้ามความคุ้นชิน ที่จะเข้าข้างเผ่าพันธุ์ของตน ด้วยการอธิบายว่าทุกสิ่งเป็นไปเพื่อเรา เราควรเข้าใจว่า แท้ที่จริง การอยู่ร่วมกับสรรพสัตว์อื่น ทำให้เราต่างเป็นพวกโชคดีที่รอดมหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งผ่านๆ มาได้ เรียกว่าเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุในประวัติศาสตร์ จากนั้น จึงบรรยายถึงมหกรรมการสูญพันธุ์ครั้งที่หก ซึ่งมนุษย์มีทีท่าว่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญ ปิดท้ายด้วยคำถามสั้นๆ ว่า แล้วทั้งหมดนี้มันสำคัญละหรือ?


หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ดับเบิลเดย์ ที่นิวยอร์ค เมื่อปี ค.ศ. 1995 ฉบับที่อ่านตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยสำนักพิมพ์ฟีนิกซ์ เมื่อปี ค.ศ. 1996 ยังไม่พบว่ามีฉบับแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้ หากมีการแปลไทยออกตีพิมพ์ก็น่าจะทำให้หวนรำลึกถึง ห้วงมหรรณพ ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ผนวกกับ ปัญญาวิวัฒน์ ของ สมัคร บุราวาส ผู้สนใจจะได้รับทราบเรื่องการค้นพบในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งการค้นคว้าถกเถียงส่วนใหญ่เป็นไปในโลกตะวันตก เมื่อคำนึงถึงว่า ทุกวันนี้เอเชียเป็นทวีปที่มีการเติบโตของประชากร และความเจริญต่างๆ กำลังเป็นไปในอัตราสูงสุด จึงควรที่เราจะได้รับรู้เรื่องราวนี้ เพื่อจะได้รู้ทันและเห็นภาพรวม ในยุคที่โลกได้อภิวัตน์จนเราอาจไม่ทันคิดว่า สิ่งต่างๆ รอบตัวมีที่มาอย่างไร หากทันได้อ่านและได้เห็นเราอาจนึกขึ้นได้ว่า เราควรจะอยู่กันอย่างไร คำตอบไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่น่าสนใจว่าเราจะรอดไหม ด้วยสติปัญญาร่วมกันที่จะเกิดขึ้นจากการรู้เท่าทันอันนี้





ชีวิตของริชาร์ด ลีคคีย์เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน เขาเป็นทั้งผู้ชำนาญการด้านฟอสซิล นักอนุรักษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ส.ส. ฝ่ายค้าน นักรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชัน นักเขียน

ตระกูลลีคคีย์รุ่นพ่อแม่โด่งดังในฐานะนักโบราณคดีและบรรพชีวินวิทยา แม้เขาจะพยายามหลบเลี่ยงการเดินตามรอยเท้าพ่อและแม่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณชิ้นสำคัญหลายชิ้น และกลายเป็นเด็กหนุ่มผู้มีชื่อเสียงอันโด่งดัง

ทั้งที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเคนยา อยู่ในตำแหน่งนี้นานกว่ายี่สิบปี ก่อนที่จะไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าเคนยา เริ่มชีวิตการทำงานด้านอนุรักษ์อย่างแข็งขัน เขาเผางาช้างกองเท่าภูเขา ที่ยึดได้จากพวกลักลอบ ออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์อเมริกา เพื่อรณรงค์ยกเลิกการล่าสัตว์ป่า เขาได้รับการยอมรับและความสนับสนุนจำนวนมาก แต่บทบาทหน้าที่เขาก็ก่อศัตรูไว้มากพอดู

ริชาร์ดมีชีวิตเฉียดตายหลายครั้ง หนหนึ่งเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนไต ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ก็เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองออกมาเล่มหนึ่ง คือ One Life: An Autobiography และในปีค.ศ. ๑๙๙๓ เกิดอุบัติเหตุ เครื่องบินเล็กที่เขาขับตก แม้จะรอดชีวิตแต่ก็ต้องตัดขาใต้เข่าทั้งสองข้างออกไป

ไม่นานนักก็ลาออกจากราชการ เพราะรับไม่ได้กับกระบวนการคอรัปชัน เขาเป็นพลังสำคัญในการก่อตั้งพรรคซาฟีนา – เรือโนอาห์ ในภาษาท้องถิ่นสวาฮิลี – พรรคฝ่ายค้านที่ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

แม้จะผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง เขาก็ยังทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เขียนหนังสือหลายเล่ม เป็นต้นว่า Origins, Origins Reconsidered, Human Origins, The Origin of Humankind, Making of Mankind, The Evolution of Mankind, Man-ape, ape-man, People of the Lake หลายเล่มเขียนร่วมกับโรเจอร์ เลวิน เล่มล่าสุดคือ The Sixth Extinction





นักมานุษยวิทยาและนักเขียนผู้นี้ เริ่มชีวิตการงานในฐานะนักเขียนสารคดีที่ New Scientist ที่ลอนดอน อยู่เก้าปี ก่อนที่จะย้ายไปเขียนต่อให้ Science ที่วอชิงตัน ดี ซี อีกเก้าปี เพื่อลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ

โรเจอร์ เลวิน เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่หลายเล่ม และมีอยู่อย่างน้อยสี่เล่มที่เขียนร่วมกับริชาร์ด ลีคคีย์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก

เมื่อลาออกจากงาน เขาก็สามารถเขียนหนังสือของตัวเองออกมาได้อีกหลายเล่ม ส่วนใหญ่ว่าด้วยกำเนิดที่มาของมนุษย์และวิวัฒนาการ ท่วงทำนองในการเขียนของเขาเป็นไปในลักษณะของการให้การศึกษา แต่ไม่ได้เป็นไปในทำนองยัดเยียด หากแต่วางจังหวะคำถาม เพื่อกระตุ้นความคิดผู้อ่านอย่างเหมาะสม

งานเขียนของเขานั้นมี

  • Making Waves: Irving Dardik and His Superwave Principle
  • Kanzi : The Ape at the Brink of the Human Mind
  • Bones of Contention: Controversies in the Search for Human Origins
  • Patterns in Evolution: The New Molecular View, Complexity
  • Life at the Edge of Chaos
  • Complexity: Life at the Edge of Chaos
  • Java Man: How Two Geologists' Dramatic Discoveries Changed Our Understanding of the Evolutionary Path to Modern Humans
  • Principles of Human Evolution
  • The Origin of Modern Humans
  • Human Evolution

Symbiotic Planet

Symbiotic Planet : A New Look At Evolution

ผู้แต่ง ลินน์ มาร์กูลิส
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๓
ประเภท วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์เบสิก บุ๊กส์

แนะนำโดย ชลนภา อนุกูล

แม้ว่าชาร์ลส์ ดาร์วินจะบุกเบิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่สั่นคลอนความเชื่อดั้งเดิมของสังคมมนุษย์ ด้วยการยืนยันว่า ชีวิตมิได้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา หากเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับขั้น แต่ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินก็มิอาจอธิบายได้ว่า สิ่งมีชีวิตแรกเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งในช่วงหลัง แนวคิดวิวัฒนาการเองก็ไม่ต่างจากศาสนา นั่นคือ ถูกทัศนะจากสังคมและวัฒนธรรมครอบงำกำกับอยู่ ดังที่มีความเชื่อว่า มนุษย์นั้นอยู่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่น

ลินน์ มาร์กูลิส เป็นนักชีววิทยาที่โดดเด่นของยุคสมัย ด้วยทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่พ้นไปจากความเป็นลัทธิ เธอยืนยันว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างมีประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการร่วมกัน ไม่มีการจัดลำดับชั้นว่าสิ่งมีชีวิตใดสูงต่ำกว่ากันอย่างไร มนุษย์กับวานรก็ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะต่างก็เป็นคนหน้าใหม่ของลำดับชั้นวิวัฒนาการ มนุษย์ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นแห่งวิวัฒนาการจากลิง หากมาจากแบคทีเรียนั่นเลย ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงมิได้เกิดจากหัตถ์ของพระเจ้า หากแต่เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลชีพที่ใช้เวลานับพันล้านปี

มาร์กูลิสเป็นนักท้าทายความรู้เก่า เธอมักยืนอยู่ที่พรมแดนด่านหน้าของความรู้ใหม่เสมอ รวมทั้งในพื้นที่ของทฤษฎีกายาของเจมส์ เลิฟล็อก ที่เชื่อว่าโลกเป็นระบบที่มีชีวิต และได้รับการต่อต้านจากนักชีววิทยาส่วนใหญ่

หนังสือ Symbiotic Planet: A New Look At Evolution ได้ชี้ชวนให้เห็นแนวคิดที่เชื่อมโยงทฤษฎีหลัก ๒ ทฤษฎีในชีวิตของมาร์กูลิส ซึ่งร้อยเรียงผ่านงานเขียนกึ่งอัตชีวประวัติอย่างแนบเนียน นักรบชีววิทยาหญิงผู้นี้เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า สรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่ได้ด้วยสัมพันธภาพแบบอิงอาศัย หนังสือเล่มเล็กนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวอันโลดโผนของชีวิตและงานของเธอ น่าอ่าน และไม่น่าหลับ


เนื้อหาแบ่งเป็น ๙ บท มาร์กูลิสเริ่มจากการเกริ่นกร่าวที่มาของหนังสือ แล้วก็เล่าถึงความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยที่ปรากฏอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง ก่อนที่จะกลับไปตั้งต้นการเล่าเรื่องราวชีวิตของตนตั้งแต่เยาว์วัย ไล่เรียงกันมาถึงเรื่องผลงานสำคัญของเธอ ที่ว่าด้วยทฤษฎีกำเนิดของสิ่งชีวิต การทำอนุกรมภิธานแบบใหม่ และปิดท้ายด้วยทฤษฎีกายา ทุกบททุกตอนมีการนำเสนอแนวคิดเรื่องสัมพันธภาพแบบอิงอาศัย ผสานกันไปกับการแสดงออกถึงบุคลิกลักษณะแหกคอกไม่เหมือนใครของเธอ

เมื่อซ้าค - ลูกชายตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงของทฤษฎี ๒ ทฤษฎีที่มาร์กูลิสทุ่มเทการทำงานอย่างใกล้ชิด นั่นคือ ระหว่างทฤษฎีการอิงอาศัยภายในแบบอนุกรมกับทฤษฎีกายา ตอนแรกเธอตอบว่าไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ลูกศิษย์ – เกร็ก ฮินเคิล ยืนยันว่า หากมองจากอวกาศเข้ามา กายาหรือโลกก็เป็นระบบอิงอาศัยเช่นเดียวกัน มาร์กูลิสเห็นด้วย

ระบบอิงอาศัยเป็นระบบที่ประกอบด้วยสมาชิกต่างชนิดมาอยู่ร่วมกัน ระบบนี้พบได้ในทุกหนทุกแห่ง เป็นต้นว่า ต้นไม้บางชนิดมีราไมคอไรซาอยู่ที่ราก ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสารอาหารและดึงกาซบางอย่าง ลำไส้ของสุนัขก็มีหนอนพยาธิบางชนิดทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ดังนี้แล้ว แนวคิดกำเนิดสิ่งมีชีวิต หรือสายพันธุ์ใหม่ ที่มีพื้นฐานอยู่บนสัมพันธภาพแบบอิงอาศัยจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นช่องว่างความรู้ที่ขาดหายไปในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

มาร์กูลิสยืนยันว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการอีกสายหนึ่งก็คือแนวคิดของลามาร์ก ซึ่งสอดคล้องกันอย่างดียิ่งกับแนวคิดระบบอิงอาศัย นั่นคือ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่เป็นผลจากปรากฏการณ์ผุดบังเกิด ในชุมชนสิ่งมีชีวิต ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังเช่น หนอนตัวแบนพันธุ์หนึ่งที่มีสาหร่ายอาศัยอยู่ในตัว และสามารถสังเคราะห์แสงได้ ในจอกแหนน้ำก็มีคลอเรลลาอยู่เป็นกลุ่มภายในเซลล์ เป็นต้น

งานของนักชีววิทยาอย่างนีลส์ เอลเดร็จ และนักบรรพชีวินอย่างสตีเฟน เจย์ กูลด์ ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด นั่นคือ มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในโลกอย่างฉับพลันทันทีหลายครั้งโดยไม่ต่อเนื่องกัน ก็เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีของการเกิดสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ ผ่านกระบวนการของระบบอิงอาศัย มาร์กูลิสย้ำว่า การเกิดขึ้นของสายพันธุ์โฮโม ซาเปียน ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ท่วงทีในการนำเสนอทฤษฎีใหม่แบบผ่าเหล่าผ่ากอของมาร์กูลิสนั้น ดูจะเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อมองเห็นภูมิหลังความนอกคอกของเธอตั้งแต่อายุ ๑๓ ขวบ ที่ดื้อรั้นกับบิดา ในการเข้าเรียนมัธยมเร็วกว่ากำหนด พออายุ ๑๔ ก็แต่งงานกับนักฟิสิกส์อัจฉริยะ – คาร์ล ซาแกน แต่ยังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงาน จนกระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ ๑๙ สามปีหลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อที่เบิร์กเลย์ ทั้งที่เป็นแม่ของลูกชาย ๒ คนเข้าไปแล้ว

เธอมีความสนใจค่อนไปทางแนวคิดนอกกระแส ในช่วงที่ตั้งครรภ์คลอดลูกสาว ก็เลยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน เขียนบทความวิชาการนำเสนอทฤษฎีการอิงอาศัยภายในแบบอนุกรม ซึ่งถูกปฏิเสธการลงตีพิมพ์ถึง ๑๕ ครั้ง ก่อนที่จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และบรรจุเนื้อหาเรื่องนี้ไว้ในแบบเรียนของนักเรียนโดยทั่วไป





ทฤษฎีการอิงอาศัยภายในแบบอนุกรม ก็มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องระบบอิงอาศัยนั่นเอง แนวคิดของมาร์กูลิสก็คือ การเกิดขึ้นของเซลล์สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น ย่อมเกิดขึ้นจากการหลอมรวมของเซลล์สิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน กลายเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ โดยที่เซลล์สิ่งมีชีวิตเดิมก็ไม่ได้ตายจากไป หากยังมีชีวิตอยู่ภายในเซลล์ใหม่ ซึ่งมีคุณลักษณะแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตเดิม เกิดเป็นวิวัฒนาการ มีความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้น เมื่อดูไปที่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ก็จะเห็นว่า ประกอบด้วยเซลล์ของจุลชีพขนาดเล็กจำนวนมาก ดังเช่น ภายในเซลล์ของสัตว์ พืช และเห็ดรา ต่างก็มีองค์ประกอบขนาดเล็กที่มีลักษณะเหมือนแบคทีเรียมาก ซึ่งเป็นผลจากการหลอมรวมเซลล์จุลชีพต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ






งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของมาร์กูลิสก็คือ การสร้างอนุกรมวิธานสำหรับสิ่งมีชีวิต เนื่องจากระบบที่มีอยู่เดิมขาดระบบอ้างอิงที่ดี และมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ในการแบ่งประเภทอยู่บ่อยครั้งจนน่าเวียนหัว เธอและผองเพื่อนได้พัฒนาการแบ่งประเภทสิ่งมีชีวิต ออกเป็น ๕ อาณาจักรใหญ่ๆ ประกอบด้วย แบคทีเรีย โปรโตซัว เห็ดรา พืช และสัตว์ โดยแบ่งตามลำดับการหลอมรวมของเซลล์จุลชีพที่ซับซ้อนขึ้น และแม้จะมีผู้จัดทำอนุกรมวิธานอีกหลายแบบ ระบบของมาร์กูลิสก็ได้กลายเป็นอนุกรมวิธานมาตรฐาน ที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนชีววิทยาปัจจุบัน


ส่วนความพยายามในการตอบปัญหาเก่าแก่ของทางชีววิทยา ที่ว่าด้วยกำเนิดเริ่มแรกของสิ่งมีชีวิต มาร์กูลิสมีความคิดโน้มเอียงไปในทางที่ว่า องค์ประกอบทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้จากสิ่งไม่มีชีวิต โดยอ้างอิงถึงการทดลอง ที่มีกรดอะมิโนถูกสังเคราะห์ขึ้นมาได้ จากสสารในห้องทดลอง ที่จำลองแบบสภาวะของโลกในช่วงแรก แต่เธอก็ชี้ให้เห็นว่า องค์ความรู้ด้านนี้ยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายกำเนิดของตัวตน ซึ่งเป็นกระแสสืบเนื่องของชีวิต เธอเสนอว่า สิ่งมีชีวิตแรกของโลกน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยผนังเซลล์ และกระบวนการทางเคมีในเซลล์นั้นแหละที่ก่อให้เกิดชีวิต บันทึกประวัติศาสตร์ของชีวิตก็น่าที่จะศึกษาได้จากเหล่าจุลชีพ

ระบบเกื้อกูลในระดับเซลล์ที่มาร์กูลิสและดอเรียนผู้เป็นบุตรชายศึกษาร่วมกัน ก็คือ การผสมพันธุ์กันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย น่าสนใจที่ว่าเซลล์ทั้งสองประเภทสามารถจดจำกันได้ และหลอมรวมกันเกิดเป็นเซลล์ใหม่ หากปราศจากความสัมพันธ์นี้ก็ยากยิ่งที่จะมีการขยายพันธุ์ และเกิดเป็นวิวัฒนาการขึ้นมาได้

ส่วนระบบเกื้อกูลในระดับที่ใหญ่ขึ้นนั้น ก็คือ ระบบนิเวศนั่นเอง อนาคตของมนุษย์บนดาวอื่นมิได้มีแต่มนุษย์เท่านั้น หากต้องคำนึงถึงระบบนิเวศทั้งระบบซึ่งประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอันหลากหลาย มาร์กูลิสรู้สึกหงุดหงิดคับข้องใจมากทีเดียวกับภาพอนาคตที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องสตาร์เทร็ค ซึ่งมีแต่ยานอวกาศ และมนุษย์หน้าตาแปลกๆ นับได้ว่าเป็นโลกอนาคตที่แล้งไร้จริงๆ

ช่วงท้ายของหนังสือ เป็นเรื่องของทฤษฎีกายา ซึ่งว่าด้วยโลกที่มีชีวิต งานวิจัยของเธอมีผลการศึกษาสอดคล้องกับงานวิจัยของเจมส์ เลิฟล็อก ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีกายา และเป็นเครื่องยืนยันว่า โลกเป็นระบบที่สามารถจัดการตนเอง

มาร์กูลิสยืนยันว่าเรื่องโลกมีชีวิตไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยหรือความเพ้อฝัน เพราะหากมองเห็นโลกเป็นระบบนิเวศน์อันยิ่งใหญ่ ระบบหมุนเวียนของสารในระบบนิเวศน์ของโลกนั้น เป็นเครื่องยืนยันอย่างดี ถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองของโลก ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ถือว่าเป็นของเสีย แต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนรูปหมุนเวียนอยู่ในระบบอันซับซ้อนเหล่านี้ กระทั่งแบคทีเรีย กำเนิดแรกเริ่มของสิ่งมีชีวิต ก็เป็นผลผลิตของโลก เพราะสารขับถ่ายของสิ่งมีชีวิตก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกก็เป็นผลจากการหายใจและย่อยสลายของสิ่งมีชีวิต อุณหภูมิของโลกก็สูงขึ้น ๗๕ องศาเซลเซียสหลังจากที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในโลก เหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความสามารถในการวิวัฒน์ตัวเองของโลก นั่นคือ ประกอบด้วยกระบวนการปรับตัว และกระบวนการคัดเลือก

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ล้วนแต่มีวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างผสานสอดคล้องกับโลก เรียกได้ว่า เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ มาร์กูลิสเตือนว่า โลกนั้นยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มาก เพราะว่าโลกนั้นมีชีวิต และมีกระบวนการวิวัฒนาการมายาวนาน ก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น การที่มนุษย์กล่าวว่าจะปกป้องโลก จึงค่อนข้างเป็นความอหังการอยู่สักหน่อย โลกนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์ตัวกระจ้อยจะทำลายได้ โลกเคยผ่านหายนะภัย เทียบเท่ากับการระเบิดของหัวระเบิดนิวเคลียร์ร่วมสมัย ๕,๐๐๐ ลูก มาแล้ว ฉะนั้น ต่อให้โลกนี้ไม่มีมนุษย์เหลืออยู่เลย โลกก็จะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปดังที่เคยเป็นมา และตามทัศนะของมาร์กูลิส ศัตรูของมนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกันเอง ตราบที่มนุษย์ยังเบียดเบียนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับได้ก้าวเดินไปสู่หายนภัยทีละน้อย


Symbiotic Planet เป็นหนังสือทางชีววิทยาไม่กี่เล่มที่ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนค่อนข้างสูง ลินน์ มาร์กูลิสถือเป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของยุคสมัย ความห้าวหาญบ้าบิ่นของเธอนั้นเป็นที่เลื่องชื่อ ขนาดที่ริชาร์ด ดอว์กินส์นักชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงและได้ชื่อว่ามีฝีปากคมยังหลีกเลี่ยงที่จะประฝีปากกับเธอ นอกจากบุคลิกภาพอันโดดเด่นดังกล่าว อัจฉริยภาพของเธอยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ความนอกครูของเธอ จะว่าไปแล้วไม่ต่างจากความนอกครูของนักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ และแวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก ซึ่งต้องก้าวข้ามความเชื่อบนพื้นฐานทฤษฎีเก่าออกมาก่อน เธอไม่ได้เขียนเล่าว่า ความเป็นผู้หญิงของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ แต่เธอยอมรับว่าหน้าที่ของความเป็นมารดาของเด็ก ๓ คน และการทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเอาเสียเลย

หนังสือเล่มนี้บ่งบอกตัวตนของมาร์กูลิสไว้มากพอควร ส่วนที่น่าสนใจก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีกายา แม้เจมส์ เลิฟล็อก จะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีกายา แต่มาร์กูลิสก็เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันถ้อยคำกระแหนะกระแหน และอคติทั้งปวงที่มีต่อทฤษฎีกายา จากนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง

ความเป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยชีวิตของโลกนั้น อยู่ที่การตีความหมายของคำว่า “ชีวิต” มาร์กูลิสไม่จมจ่อมกับปัญหาการถกเถียงเรื่องนิยาม หากแต่ก้าวล่วงไปสู่การยกระดับญานทัศนะ ขึ้นมาจับประเด็นความหมายของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต ท่าทีเช่นนี้น่าสนใจมากทีเดียว




ลินน์ มาร์กูลิส - Lynn Margulis ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ประจำมหาวิทยาลัยแมสซาสชูเสต ในอัมแฮร์ตสต์ และผู้อำนวยการร่วมของหน่วยชีววิทยาโลกประจำนาซา อยู่ในสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๓ เธอเขียนหนังสือไว้นับสิบเล่ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนแล้วอ่านเข้าใจง่าย งานชิ้นสำคัญ ได้แก่

- Symbiosis in Cell Evolution
- Five Kingdoms
- Origins of Sex
- Garden of Microbial Delights
- What is Life?
- What is Sex?
- Slanted Truths: Essays on Gaia, Symbiosis and Evolution

งานปัจจุบันก็คือ การค้นคว้า ถ่ายทำภาพยนต์ และเขียนบทความวิชาการว่าด้วยชีวิตของเหล่าจุลชีพ ที่อาศัยอยู่ร่วมกับเราในโลกนี้

On Dialogue

On Dialogue

ผู้แต่ง เดวิด โบห์ม
ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙
ประเภท สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์รูทเลดจ์

แนะนำโดย ปกรณ์ เลิสเสถียรชัย

ก่อนที่จะบอกกล่าวเล่าความถึงหนังสือ On Dialogue ขอเล่าความย้อนไปว่าได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร

เมื่อวันพุธที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาเย็นย่ำ ผู้ปริทัศน์ได้มีส่วนร่วมจัดการสัมมนาโต๊ะกลม “สังคม-วิทย์คิดสะท้อน: ย้อนความรู้หวนดูองค์ชีวิต” ขึ้น ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานสัมมนาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้ที่ข้องเกี่ยว ทั้งด้านสายสังคมและสายวิทยาศาสตร์ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ด้วยความหวังลึกๆว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ที่สำคัญคือ แปรความแตกต่างทั้งภูมิหลัง และความคิดที่แตกต่างกัน ให้มาเสริมซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ผลเช่นนี้กระบวนการสนทนาอย่างเปิดใจเป็นกุญแจสำคัญ และการสนทนานี้ต้องประกอบจากการลดอัตตา น้อมตัวรับฟังความเห็นของผู้อื่น อย่างไม่ด่วนตัดสินด้วย

เป็นโชคดีอย่างยิ่งที่วิทยากรคนหนึ่งในงานสัมมนาวันนั้นคือ ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ นักวิทยาศาสตร์หนุ่มไฟแรง ผู้สนใจทั้งในระดับรากหญ้า คือ วิทยาศาสตร์ชุมชน ไปจนกระทั่งระดับภาพกว้าง คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ก่อนการสัมมนา ดร. สรยุทธ ได้รับทราบผลที่ต้องการจากการสัมมนาครั้งนี้ และเขาได้เสนอว่าน่าจะทดลองใช้กระบวนการ “สุนทรียสนทนา” เพื่อให้ได้ผลดังต้องการ ผู้ปริทัศน์เห็นด้วย และผลที่ได้รับปรากฏว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์

อะไรคือสุนทรียสนทนา? สรุปคร่าวได้ความว่า คำนี้มาจากคำว่า dialogue ซึ่งมีรากมาจาก dia + logos ตัวคำว่า logos นั้นมาจากคำภาษากรีกที่แปลว่า “ถ้อยคำ” หรือ “ความหมายของคำ” ส่วนคำว่า dia นั้นแปลว่า “สอง” ดังนั้นในความหมายปกติของ dialogue แล้วคือ “การสนทนาของคนสองคน” นั่นเอง ฟังดูไม่น่าจะสุนทรียะเท่าไร ทว่าหากลองคิดใหม่แบบเดวิด โบห์มว่า dia แทนที่จะแปลว่า “สอง” ก็เปลี่ยนเป็นแปลว่า “ทะลุ” ดังนี้แล้วความหมายอันสุนทรียะของวงสนทนาก็จะปรากฏขึ้น ความหมายใหม่คือ การสนทนาเพื่อทะลุความหมายของคำอันจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ ในประเด็นนี้ เดวิด โบห์มได้กล่าวอย่างละเอียดไว้ในหนังสือเล่มนี้

แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ให้คำอธิบาย ทั้งในเชิงทฤษฎ ีและเชิงปฏิบัต ิของสุนทรียสนทนา โบห์มเห็นว่า การใช้ภาษา ซึ่งหมายถึงการสื่อสาร มิใช่การถ่ายทอดเพียงความรู้ความคิดเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของความสร้างภาพลวงและสร้างความเข้าใจใหม่

เขาเห็นว่าการสื่อสารคือการสร้างโลกแห่งความหมายร่วมกัน นั่นคือผู้สื่อสารมีความเข้าใจร่วมกัน แต่นั่นคือสภาวะทางอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว มนุษย์แต่ละคน ต่างก็สร้างเกราะปราการขึ้นปกป้องความคิดความเห็นของตนเอง และบอกปัดปฏิเสธความคิดความเห็นของผู้อื่น แทนที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน

โบห์มเห็นว่า สุนทรียสนทนาสามารถสลายปัญหานี้ได้ ด้วยกระบวนการกลุ่มร่วมกัน โดยให้แต่ละคนส่องสะท้อนความคิด และความรู้สึกของตนเอง ผ่านคนอื่นในกลุ่ม ให้การสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล โดยไร้การตั้งญัตติล่วงหน้าไว้แล้ว เน้นให้ผู้เข้าร่วมสุนทรียสนทนาทุกท่านได้พูด โดยพยายามไม่ให้ใครนำวงสนทนา และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านทิ้งสมมติฐานใดๆที่อยู่ในใจ ไปเสียก่อน คือ อย่าเพิ่งรีบตัดสินผู้เข้าร่วมคนอื่น หรือความเห็นของผู้เข้าร่วมคนอื่น โดยฉับพลัน แต่ให้ละเลียดรับฟัง ละเอียดพิเคราะห์ จนทั้งวงสุนทรียสนทนาเกิดความหมายใหม่ร่วมกันที่ไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้

ความคิดของโบห์มนับว่าเป็นความพยายามฝ่าข้ามขั้วตรงข้ามทางปรัชญาสังคม นั่นคือ ขั้วตรงข้ามระหว่างปัจเจกภาพและสมุหภาพ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน (หรือไม่ก็ปัญหานี้เป็นปัญหาลวงที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรเอาเสียเลย)

พวกปัจเจกนิยมนั้นเน้นว่าหน่วยย่อยในระดับปัจเจกนั้นเป็นผู้สร้างส่วนรวมอย่างอิสระ ตัวอย่างที่สำคัญคือ แนวความคิดเสรีนิมที่เน้นคุณค่าของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก และเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ของปัจเจกอย่างอิสระจะสร้างส่วนรวมที่ดีเอง

ในทางตรงกันข้าม สมุหภาพนิยมกลับเน้นความเป็นส่วนรวมอย่างชัดเจน และมองว่าปัญหาสังคมในปัจจุบันนั้นเกิดจากการให้เสรีกับปัจเจกมากเกินไป นักคิดสายสมุหภาพมักจะพูดถึงการจัดระเบียบสังคมว่าเป็นการทำให้ปัจเจกรู้ที่ทางของตนเอง เป็นการสร้างสังคมอันสงบสุข

เนื่องจากโบห์มเป็นนักฟิสิกส์ควอนตัม การเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาปรัชญาสังคมของเขาจึงต่างออกไป เขามองสังคมผ่านความคิดทางฟิสิกส์ที่เขาเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาคือ การเชื่อมโยงระหว่างกันของอนุภาค

กล่าวคือ ในขณะที่การตีความโคเปนฮาเกนของควอนตัมฟิสิกส์จาก นีลส์ บอห์ร และ แวร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์กกล่าวว่า อนุภาคขนาดเล็กนั้นประพฤติตัวแบบไม่สามารถคาดเดาได้เพราะความน่าจะเป็น แต่โบห์มเห็นต่างออกไปโดยมองว่า เบื้องหลังการประพฤติเช่นนั้นของอนุภาคมีระเบียบในระดับลึกลงไปจากควอนตัวฟิสิกส์อีกเป็นรากฐานอยู่ ระเบียบนั้นเป็นตัวเชื่อมโยงอนุภาคทั้งหมดเข้าระหว่างกัน กล่าวได้ว่าอนุภาคทั้งหมดกลายเป็นทะเลขององค์รวม อนุภาคทั้งหมดส่งผลต่ออนุภาคหนึ่ง และอนุภาคหนึ่งส่งผลกระทบต่อองค์รวม

ความคิดทางฟิสิกส์ถูกนำมาประยุกต์ใช้ทางสังคมด้วย เขาเสนอว่าการพิจารณาว่าความคิดเป็นของ/เกิดจากกระบวนการของปัจเจกบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ผิด หน่วยปัจเจกบุคคลนั้นไม่เคยแยกส่วน แต่อยู่อย่างเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านทางวัฒนธรรม ผ่านทางอารยธรรม ผ่านทางความรู้ในคน ผ่านทางภาพแสดงแทน ที่ไหลเวียนในสังคม ความคิดจึงเป็นเรื่องที่ผ่านสิ่งที่อยู่ภายนอกตลอดเวลา และกล่าวในภาษาทางปรัชญาคือ โลกภายนอกไหลเข้ามาเป็นส่วนภายในตลอดเวลา นอกจากนี้ความคิดก็ไม่ใช่แค่ความคิด แต่เป็นภาพตัวแทนของประสบการณ์ด้วย การใช้คำว่า ภาพตัวแทน นับว่าเป็นคำที่เหมาะสมเพราะในรากของศัพท์มันคือ การแสดงซ้ำของความคิดที่ถูกแปรให้เป็นนามธรรม

ภาพตัวแทนนี้เองที่ทำให้ความคิดของเรา ความหมายของคำพูดของเรา เป็นสิ่งที่มีอันตรายในตัวมันเอง และนี่ไปสร้างอคติที่ทำให้เราตัดสินคนอื่นหรือความคิดคนอื่นอย่างไขว้เขว อย่างรุนแรงก็หลอกลวงตัวเองด้วยซ้ำไป ภาพตัวแทนได้ไปสร้างชาตินิยม การแบ่งเขาแบ่งเรา อคติทางชาติพันธุ์ โบห์มเห็นว่าภาพตัวแทนนี้เป็นต้นเหตุจำนวนมากของปัญหามากมาย ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งลวงที่ทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหา คำถามตัวอย่างในเมืองไทยคือ คำว่า “วัยรุ่น” เป็นภาพตัวแทนของอะไร? ที่หลายคนมองว่า “วัยรุ่น” เป็นปัญหาสังคมนั้นจริงหรือเป็นแค่ภาพลวง? หรือว่า “การมองวัยรุ่นเป็นปัญหาสังคม” คือปัญหาสังคม?

เขาเสนอว่าการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นทางคือต้องแก้ภาพตัวแทนที่สังคมมีร่วมกัน ประเด็นนี้เป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ เขาเสนอความคิดโดยเน้นไปที่เรื่องการสื่อสาร แต่ก็ละเลยเหตุการณ์ทางสังคมจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการทางการเมืองและอำนาจของเงินตราในการบิดเบือนการสื่อสาร กระนั้นการสำรวจต้นทางของปัญหาว่าเป็นภาพตัวแทนก็นับว่าเป็นความท้าทายยิ่ง

โบห์มตั้งคำถามว่าด้วยการแยกขาดจากกันของผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งคือประเด็นสืบเนื่องจากควอนตัมฟิสิกส์ที่ผู้วัดไม่สามารถแยกขาดจากสิ่งที่ถูกวัดได้ เขาพิจารณาปัญหาทางจิตใจเป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะที่ต่างจากปัญหาทางเทคนิค ในขณะที่ปัญหาทางเทคนิคมุ่งพิจารณาสิ่งนอกตัว ปัญหาทางจิตใจมุ่งพิจารณาสิ่งในตัว นั่นคือ ให้ความคิดส่องสะท้อนตัวความคิดเอง นี่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างประธานของการกระทำ กับการกระทำ ซึ่งการแบ่งแยกนี้เขามองว่า เป็นปฏิทัศน์มากกว่าเป็นปัญหา เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ลักษณะของการคิดและภาษาทำให้เราเห็นว่ามันจริง

ในช่วงกลางของหนังสือ โบห์มสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนกับอคติ ได้แก่ ภาพตัวแทนที่ผิดๆ และภาพลวงตาของการแยกออกจากกันของผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งก็มีปัญหาสืบเนื่องต่อไปอีกว่าขอบเขตของตัวตนคืออะไร? โดยเฉพาะขอบเขตของความคิดว่าเป็นเช่นไร?

เขาเสนอว่า แทนที่เราจะปล่อยตัวไปตามความคิดหรืออารมณ์ที่เกิดจากอคติ และแทนที่จะเก็บกดอารมณ์เอาไว้ แต่ให้เราห้อยแขวนสมมติฐานต่างๆ ที่เรามีเอาไว้ก่อน และให้พิจารณาอารมณ์อันแสดงออกทางกายภาพด้วย เช่นจังหวะการหายใจ ความแรงของการสูบฉีดโลหิต เป็นต้น หากย้อนความไปยังตอนต้นของหนังสือ เขาได้ให้ความสำคัญของการแขวนนี้ไว้แล้วว่า ทำให้การสร้างความหมายใหม่ในสุนทรียสนทนาเป็นจริงได้

ในช่วงท้าย เขาได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดอย่างเสรีกับความคิดอย่างมีส่วนร่วม สิ่งแรกนั้นเกิดจากอารายธรรมที่ทำให้เกิดการแยกผู้รู้ออกจากสิ่งที่ถูกรู้ และคิดว่าสิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกรู้อย่างที่มันเป็นอยู่จริงๆ ซึ่งนี่คือความคิดที่เรียกว่าเป็นกลาง หรือเป็นวิทยาศาสตร์

แต่อีกด้านหนึ่ง ความคิดอย่างมีส่วนร่วมนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล มีลักษณะเป็นความคิดแบบสมุหภาพ นี่มีทั้งผลร้ายและผลดี ในด้านผลร้าย คือ ความคิดร่วมกันอย่างชาตินิยมของคนทั้งชาติ ที่จะนับว่าชาติอื่นต่างจากตนมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า ในด้านผลดีเขามองว่า นี่คือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และไม่พึงจะหยุดแค่มีส่วนร่วมกับมนุษย์ทั้งมวลเท่านั้น แต่ความท้าทายคือ เราจะมีส่วนร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร? เราจะมีส่วนร่วมกับเอกภพได้อย่างไร?


โดยรวมของหนังสือเล่มนี้ ประการแรก คงทำให้ยากที่จะจัดประเภทว่า หนังสือเล่มนี้ควรไปอยู่ในประเภทใดระหว่าง สังคมศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา อย่างไรก็ดี การไม่สามารถระบุประเภทได้ แทนที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ด้อยค่า กลับทำให้หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนในวงกว้างมากกว่า กระนั้นพื้นฐานเดิมของโบห์ม ที่เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีก็สร้างความยุ่งยากลำบากแก่ผู้อ่านไม่น้อย เนื่องจากการบรรยายในเล่มโดยมากเป็นการบรรยายเชิงนามธรรม และมีการอ้างอิงกับหนังสือเล่มหลักในสาขาวิชาอื่นๆน้อยมาก

ประการถัดมา แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถดึงดูดผู้อ่านได้ข้ามสาขาวิชา แต่การที่เขามุ่งประเด็นการสื่อสารโดยละเลยการเมือง และเศรษฐกิจไป ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ลดความดึงดูดใจต่อนักปฏิบัติลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในภาพกว้าง

กระนั้น คงไม่ยากเกินไปนักหรอก ที่ผู้ปฏิบัติงานสานความเข้าใจในสังคมในระดับย่อย จะมีใจให้กับหนังสือเล่มนี้ และหากว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ยากเกินไปสำหรับบางท่าน วิธีที่ดีที่สุดเพื่อทำความเข้าใจหนังสือเล่มนี้คือ หาการสัมมนาที่ดำเนินโดยวิธีสุนทรียสนทนา ทำใจให้สงบปลอดโปร่ง แล้วโดดเข้าไปร่วมวงในทันที




เดวิด โจเซฟ โบห์ม (ค.ศ. ๑๙๑๗ – ๑๙๙๒) นักฟิสิกส์สายควอนตัมผู้มีชื่อเสียงจากฝั่งอเมริกา ผลงานอันโดดเด่นของเขาอยู่ในพื้นที่ของฟิสิกส์ทฤษฎี ปรัชญา จิตวิทยาสมอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยว่าด้วยการผลิตระเบิดปรมาณู โดยการคัดสรรรับรองจากโรเบิร์ต อ็อปเพนไฮม์เมอร์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ หากแต่เจ้าหน้าที่ซีไอเอไม่ยอมรับเพราะไม่ไว้วางใจเขา และแม้จะนำผลงานของเขาไปใช้ก็กีดกันเขาทุกวิถีทาง ซึ่งรวมถึงการห้ามตีพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ของตัวเขาเองด้วยซ้ำ

และเมื่อยุคใส่ร้ายป้ายสีคอมมิวนิสต์ระบาดในอเมริกา ตัวเขาก็จำต้องระเห็จออกจากประเทศ ไปเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างแดนอยู่หลายนาน

ทัศนะทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาของโบห์มออกจะแนบแน่นพอควร เมื่อภรรยาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งของเจ กฤษณมูรติในห้องสมุด โบห์มก็บังเกิดความประทับใจยิ่ง ในความบรรสานสอดคล้อง ระหว่างกลไกควอนตัม กับความคิดเชิงปรัชญาของกฤษณมูรติ และแสดงออกมาอย่างชัดเจนในเล่ม Wholness and the Implicate Order ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. ๑๙๘๐ และในเล่ม Science, Order and Creativity

ในช่วงหลังเกษียณโบห์มยังทำงานต่อเนื่องทางด้านควอนตัมฟิสิกส์ งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาคือเล่ม The Undivided Universe: An ontological interpretation of quantum theory เป็นผลงานที่ทำร่วมกับบาซิล ไฮเลย์ มานานปี ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เขาก็ร่วมสนทนากับกฤษณมูรติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือออกมา โดยเขาเชื่อว่า สุนทรียสนทนาเป็นรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาเชิงสังคม

ในปีค.ศ. ๑๙๙๐ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของเดอะรอยัลโซไซตี ถัดจากนั้นสองปีก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่ลอนดอน